ไม่พบผลการค้นหา
'กรุงเทพธนาคม' ให้ข้อมูล ป.ป.ช.กรณีโครงการก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน หลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมาย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เดินหน้าดำเนินคดีแพ่งผู้เกี่ยวข้อง เรียกค่าเสียหายกว่า 200 ล้านบาท

วันที่ 20 มี.ค. 2566 บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด แจ้งว่า กรณีโครงการท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินของกรุงเทพมหานคร ซึ่ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผลักดันนโยบายนี้ด้วยการไม่ใช้งบประมาณของกทม. มาตั้งแต่ปี 2561 โดยมอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ไปดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน ความยาว 2,400 กิโลเมตร มูลค่าราว 20,000 ล้านบาท ผู้บริหารบริษัทขณะนั้นจึงรับนโยบายมาดำเนินการ โดยประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างโครงการ โดยอนุญาตให้เอกชนหารายได้จากการให้เช่าท่อร้อยสายใต้ดินนี้ได้ ตามนโยบายของอดีตผู้ว่าฯ กทม.

ต่อมา ผู้บริหารบริษัทในอดีตได้ดำเนินการคัดเลือกและเจรจากับเอกชนผู้ประกอบการสื่อสารรายใหญ่ บริษัท ทรู อินเตอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด เพื่อทำสัญญาเป็นผู้เช่าหลัก ให้ความจุท่อร้อยสายส่วนใหญ่ 80% โดยมีเงื่อนไขขอเก็บเงินค่าเช่าล่วงหน้า 50 % (จำนวน 13,500 ล้านบาท) เพื่อจะนำมาใช้ร่วมลงทุนสำหรับงานก่อสร้าง แต่การเจรจาไม่บรรลุผล บริษัทจึงยังไม่มีเงินค่าเช่าล่วงหน้าตามแนวคิดนโยบายข้างต้น

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นอดีตผู้บริหารบริษัทก็ดำเนินการคัดเลือกกลุ่มบริษัทรับเหมาก่อสร้าง 4 ราย สำหรับ 4 พื้นที่ได้ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินทั้ง 4 สัญญา รวมความยาวท่อ 2,450 กิโลเมตร วงเงิน 21,723 ล้านบาท ลงนามสัญญากันในวันที่ 14 พ.ค.2562 แม้จะยังไม่มีเอกชนรายใดมาเป็นผู้ร่วมลงทุน 50% ก็ตาม

โครงการนี้เป็นอีก 1 กรณีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวนในประเด็น โครงการของรัฐเข้าข่ายหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) ตลอดจนการใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างโดยอ้างระเบียบภายในของบริษัท ทั้งนี้ ป.ป.ช.ได้เรียก ผศ.ประแสง มงคลศิริ ในฐานะกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เพื่อไปให้ปากคำและแสดงเอกสารหลักฐานชี้แจงต่อคณะกรรมการไต่สวนของป.ป.ช. ไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ 

4 พื้นที่สายสื่อสาร.jpg

ประแสง กล่าวว่า “ข้อเท็จจริงที่ให้การต่อป.ป.ช.นั้น เป็นการยืนยันว่า ผู้บริหารบริษัทชุดปัจจุบันได้สั่งระงับโครงการนี้ไปแล้ว และได้ชี้แจงถึงความคืบหน้างานก่อสร้างที่ผ่านมา 3 ปี ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเพียง 9.9 กิโลเมตร โดยใช้เงินลงทุนของบริษัทไปแล้วราว 200 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) ค่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา 5 สัญญา รวม 81 ล้านบาท และ (2) ค่าก่อสร้างท่อร้อยสาย 4 สัญญาหลักและอีก 1 สัญญาย่อย รวมเป็นค่าก่อสร้าง 118 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาค่าก่อสร้างตามสัญญากับผู้รับเหมาที่ค้างอยู่อีกราว 100 ล้านบาท” 

สำหรับโครงการก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาทที่เป็นปมปัญหานี้ อดีตผู้บริหารบริษัทได้อ้างระเบียบภายในบริษัท ในการทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง 4 สัญญาหลัก ในขณะที่ยังไม่มีเอกชนรายใดจ่ายค่าเช่าล่วงหน้า 50 % มาร่วมลงทุน จึงเป็นการสร้างภาระค่าใช้จ่ายผูกพันตามสัญญาให้เกิดขึ้นในทันที และได้ซ้ำเติมความเสียหายมากขึ้น จากการทำสัญญาจ้างเพิ่มอีก 1 โครงการย่อย ในช่วงต้นปี 2565 ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเริ่มมีผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท อีกทั้งการกระทำดังกล่าวเป็นการขัดต่อระเบียบและกฎหมายอย่างชัดแจ้ง บริษัทจึงต้องสั่งระงับโครงการนี้และดำเนินการเอาผิดทางวินัยกับพนักงานที่เกี่ยวข้อง โดยคณะกรรมการป.ป.ช.ก็กำลังดำเนินการทางอาญาไปตามขั้นตอนของกฎหมาย

 ปัจจุบันบริษัทได้เริ่มดำเนินการในส่วนคดีแพ่งแล้ว เพื่อเรียกค่าเสียหายกว่า 200 ล้านบาทจากผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดให้ร่วมชดใช้แก่บริษัท ประกอบด้วยอดีตกรรมการบริษัทหลายคนและอดีตพนักงานบางคนที่ถูกคำสั่งไล่ออกตามโทษทางวินัยไปก่อนหน้านี้แล้ว