ไม่พบผลการค้นหา
ศาลตัดสินจำคุกผู้บริหารบริษัท เอวิเอ แซทคอม ตัวแทนจำหน่ายเครื่องตรวจจับอาวุธระเบิด GT200 เป็นเวลา 9 ปี พร้อมปรับเป็นเงิน 18,000 บาท ด้านทนายจำเลยเตรียมยื่นอุทธรณ์

ศาลแขวงดอนเมือง อ่านคำพากษา คดีที่ อ.328/61 ซื่ง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทย์ยื่นฟ้อง บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด (จำเลยที่ 1), นายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ (จำเลยที่ 2), นายเดชพิภัทร์ วัฒนกิจ (จำเลยที่ 3) และนางศศกร ปลื้มใจ (จำเลยที่ 4) ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกง จากกรณีขายเครื่องตรวจจับอาวุธวัตถุระเบิดและยาเสพติด รุ่น GT200 จำนวน 8 เครื่อง เครื่องละ 9 เเสน - 1.2 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 9 ล้านบาท ระหว่างปี 2550-2552 ให้แก่กรมราชองครักษ์ (สังกัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีฐานะเป็นกรมมีหน้าที่รักษาความปลอดภัย องค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการเเทนพระองค์ พระบรมศานุวงศ์ ผู้เเทนพระองค์ เเละพระราชอาคันตุกะ ตามกฎหมายว่าด้วยราชองค์รักษ์เเละกฎหมายอื่นๆว่าด้วยการถวายความปลอดภัย)

โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด (จำเลยที่ 1) และนายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ (จำเลยที่ 2) กรรมการ บริษัท เอวิเอฯ มีความผิดตามฟ้องจริง จึงสั่งลงโทษทั้ง 3 กระทง ( 3 สัญญา) แบ่งเป็นโทษปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 6,000 บาท รวม 18,000 บาท และโทษจำคุก จำเลยที่ 2 กระทงละ 3 ปี รวม 9 ปี แต่จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธขอสู้คดีในขั้นอุทธรณ์ จึงยื่นประกันตัวด้วยเงินสด 900,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ในคำพิพากษาของศาล ได้อ้างอิงผลการทดสอบจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งสรุปว่า เครื่อง GT 200 ไม่สามารถใช้งานได้จริงตามคู่มือและคำโฆษณา ประกอบกับผลการทดสอบของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อปี 2553 ที่พบว่า ผลการทดสอบหาสารตัวอย่าง 20 ครั้ง แต่เครื่อง GT 200 สามารถหาตำแหน่งสารตัวอย่างได้ถูกต้องเพียง 4 ครั้ง (ไม่เข้าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ว่าต้องหาให้เจออย่างน้อย 13 ครั้ง) จึงสรุปว่า 4 ครั้งที่พบสารตัวอย่างเป็นการเดาสุ่ม ไม่สามารถใช้งานได้จริง อีกทั้ง เมื่อถอดเครื่องออก พบเพียงพลาสติก 2 แผ่นประกบกันและมีเสายื่นออกมา ไม่ได้มีแผงวงจรไฟฟ้าใดๆ 

นอกจากนี้ ศาลยังเชื่อถือคำให้การของตำรวจ จ.ปัตตานี ที่ระบุว่า ทหารเคยใช้เครื่อง GT 200 ตรวจรถต้องสงสัย และแจ้งว่า 'ไม่พบระเบิด' แต่เมื่อตำรวจเข้าไปตรวจสอบ กลับพบว่า มีระเบิดทำงานอยู่ และเกิดระเบิดขึ้น ส่วนคำให้การของพยานฝั่งจำเลย 3 ปาก ที่ยืนยันกับศาลว่า เครื่องใช้งานได้จริงนั้น เป็นเพียงคำกล่างอ้างไร้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ จึงถือว่า 'ฟังไม่ขึ้น' 

ส่วนกรณีจำเลยที่ 2 อ้างไม่ทราบคุณสมบัติและประสิทธิภาพของเครื่อง GT 200 ว่าใช้การได้จริงหรือไม่ เพราะเป็นเพียงตัวแทนจำหน่ายของ บริษัท โกลบอล เทคนิคอล จำกัด สหราชอาณาจักร นั้น ศาลเห็นว่า จำเลยไม่ใส่ใจในการซื้อขายสินค้า เพราะเครื่อง GT 200 มีราคาสูงมาก ในฐานะผู้ขายจำเป็นต้องศึกษาคุณสมบัติและประสิทธิภาพของสินค้าก่อนส่งมอบเสมอ หรืออาจรู้ก่อนแล้วว่า เครื่อง GT 200 ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ก็ยังขายให้หน่วยงานของรัฐ ศาลจึงเชื่อว่า จำเลยที่ 2 มีเป้าหมายแสวงหาผลประโยชน์ มีความผิดฐานฉ้อโกง ส่วนจำเลยที่ 3 และ 4 เป็นพนักงานบริษัท ดำเนินการตามหน้าที่ ศาลเห็นว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอ ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับความผิดนี้ จึงพิพากษายกฟ้อง

ด้าน นายวรอรรถ สุนทรอภิชาติ ทนายความจำเลย กล่าวว่า จะยื่นอุทธรณ์คดีต่อ เนื่องจากที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก เนื่องจากศาลเห็นว่า บริษัทเป็นผู้ขายเมื่อเครื่องใช้งานไม่ได้บริษัทต้องรู้ ซึ่งความจริงเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดเป็นยุทธภัณฑ์ เอกชนไม่สามารถครอบครองได้ บริษัทสั่งซื้อตามสเปกที่หน่วยงานรัฐกำหนดมาแล้ว เมื่อเครื่องลงจากเครื่องบิน ก็มีรถทหารมารอรับทันที ทั้งนี้ การทดสอบเครื่องต้องทำในห้องปฏิบัติการที่มีศักยภาพ จึงเห็นว่า บริษัทไม่รู้เห็นว่า 'เครื่องชำรุด'

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่เเล้ว ศาลเเขวงดอนเมือง ได้อ่านคำพิพากษา คดีที่อัยการคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้อง กลุ่มจำเลย บริษัท เอวีเอฯ ซึ่งศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุก 10 ปี นายสุทธิวัฒน์ จากการขายเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด GT 200 จากการซื้อขาย 12 สัญญา รวมมูลค่า 600 ล้านบาท ซึ่งสำนวนนั้น กองทัพบก เป็นผู้เสียหาย และในวันที่ 4 ต.ค. 2561 ศาลแขวงดอนเมือง นัดฟังคำพิพากษาคดีความผิดเดียวกัน ซึ่งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นผู้เสียหาย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :