พล.อ.อ.ปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ สทป. กล่าวถึงกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์ว่า สทป. ผลักดันการจัดซื้อจัดหาดาวเทียมไธอา (THEIA) จำนวน 112 ดวง มูลค่า 2,850 ล้านดอลลาห์สหรัฐ หรือราว 91,200 ล้านบาท จากบริษัท THEIA Group ประเทศสหรัฐฯ
ผอ.สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงแล้วบริษัทเอกชนของสหรัฐฯ ยังไม่ได้ขายดาวเทียมให้กับไทย แต่ สทป. มีการลงนามใน LOA (Letter of Acknoeledge) เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2560 เพื่อรับทราบว่าบริษัทดำเนินโครงการอย่างไร รวมถึงประโยชน์ที่จะได้รับ เพื่อแจ้งให้คณะกรรมการ สทป. ทราบ จากนั้นได้มีการลงนามในหนังสือแสดงความจำนง หรือ LOI (Letter of Intent) เมื่อ 15 ม.ค. 2561 ในด้านการวิจัย และพัฒนาร่วม การศึกษาร่วมกันในการมีดาวเทียม รวมทั้งผลกระทบความมั่งคงทางเศรษฐกิจ เช่น ค้นหาแหล่งน้ำใต้ดิน บนดิน แหล่งพลังงานธรรมชาติเพื่อใช้ในการลงทุน งานด้านขนส่ง งานประมงผิดกฎหมาย พร้อมดูความเป็นไปได้ในการทำแผนแม่บทร่วมกัน
ซึ่งเท่าที่ศึกษาและรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับดาวเทียม พบว่า เทเออร์ ถือว่ามีประสิทธิภาพสูง ส่งสัญญาณได้แบบเรียลไทม์ หากเราเข้าเป็นประเทศภาคีพันธมิตร จะมีส่วนได้รับข้อมูลโดยไม่ต้องมีการซื้อ ประเทศที่ไม่ได้เป็นภาคีแต่อยากใช้ข้อมูลจากดาวเทียมต้องเสียเงินซื้อ อีกทั้งงบประมาณนี้ไม่แพง ถูกกว่าเรือดำน้ำอีก
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ไม่เกี่ยวกับดาวเทียม ธีออส 2 ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไปเมื่อปี 2558 เท่าที่ทราบมีเอกชนยื่นความสนใจเข้ามาแต่ยังไม่ได้มีการเดินหน้าโครงการ ซึ่ง พล.อ.อ.ปรีชา ยังไม่ทราบว่าราบละเอียดเป็นอย่างไร และไม่ขอออกความเห็นหรือเปรียบเทียบระหว่างดาวเทียมทั้งสองตัวนี้
นอกจากนี้ ทางสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศยังไม่เลือกบริษัทใด หลังมีข้อมูลโจมตีว่ามีการแข่งขันของเอกชนที่จะเข้ามาร่วมลงทุนกันหลายบริษัท ต้องหาข้อมูลเปรียบเทียบเพื่อหาความคุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งทางสถาบันฯ ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องเรื่องการตัดสินใจ
ด้านเว็บไซต์ Spaceth.co ให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทเทเออร์ที่ได้จาก cbinsight ว่า บริษัทไธอา ไม่มีข้อมูลด้านการนักลงทุน ไม่มีข้อมูลผู้ถือหุ้น รู้แค่ชื่อที่อยู่และก่อตั้งในปี 2015 เท่านั้น อีกทั้งยังเป็นบริษัททำดาวเทียมที่มีรายชื่ออยู่ร่วมกันบริษัทอื่นๆ รวมถึง SpaceX ในการยื่นจดทะเบียนเพื่อส่งดาวเทียมแบบ Low Earth Constellation หรือโครงข่ายสื่อสารบนวงโคจรต่ำของโลก แสดงให้เห็นว่าบริษัทนี้ในปัจจุบันไม่มีประสบการณ์ที่เห็นได้ชัด และยังไม่ได้รับการอนุมัติจาก FAA ให้ส่งอะไรขึ้นไปบนอวกาศได้
ทั้งยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ที่บอกว่าเรือดำน้ำแพงกว่าก็ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เนื่องจาก เรือดำน้ำ 3 ลำ มีราคา 36 พันล้านบาท ดังนั้นดาวเทียมมีราคาแพงกว่าแน่นอน และดาวเทียมพวกนี้จะมีความสามารถเพียงแค่การถ่ายภาพบนโลกเท่านั้น ที่สำคัญคือการทำ Constellation จำนวน 112 ดวงนั้นเป็นการลงทุนที่เหมือนขนเงินสดไปเผาทิ้งในอวกาศ แบบไม่ต้องคาดหวังอะไรมาก และบริษัทที่ทำเรื่องนี้อยู่แล้ว
แล้วเงิน 91,200 ล้านบาท (2.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) สามารถทำอะไรเกี่ยวกับโครงการสำรวจอวกาศได้บ้างนั้น ทาง Spaceth.co อธิบายไว้ว่า สามารถใช้จ่ายยาน New Horizons ที่ไปสำรวจดาวพลูโต และวัตถุ 2014 MU69 ตลอดทั้งภารกิจ (700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ), ค่าใช้จ่ายยาน Juno ที่สำรวจดาวพฤหัสบดีตลอดทั้งภารกิจ (1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และค่าใช้จ่ายโครงการมารีเนอร์ทั้ง 10 ลำตลอดภารกิจ (554 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ซึ่งทางผู้เขียนข้อมูลดังกล่าว แนะนำรัฐบาลว่า ได้ศึกษาโครงการนี้ดีหรือยัง และได้ศึกษาแนวโน้มพัฒนาการด้านอวกาศในโลกปัจจุบันหรือไม่, ทำไมเลือกบริษัทไม่มีชื่อเสียง ที่ไม่มีแม้กระทั่งใบอนุญาต และไม่มีประสบการณ์กับดาวเทียมสักดวง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง