ไม่พบผลการค้นหา
มหาวิทยาหอการค้าไทยเผย ส่งออกไทยปี 2562 อาจโตเพียงร้อยละ 0.5 - 1 หากสงครามการค้าจีน-สหรัฐยืดเยื้อ ขณะที่เอฟทีเอเวียดนาม-อียูเดินเครื่องเต็มสูบ

ภาวะเศรษฐกิจโลกกำลังส่งผลกดดันภาวะเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะมิติด้านการส่งออกอย่างหนัก ปัจจัยสำคัญในการบั่นทอนการเติบโตครั้งนี้มาจากการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและเวียดนาม รวมทั้งความขัดแย้งที่เพิ่มสูงขึ้นบนข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน


อัทธ์ พิศาลวานิช-หอการค้าไทย
  • รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช

รศ.ดร. อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าว 2 ปัจจัยนี้ จะส่งผลกระทบกับอัตราการขยายตัวของการส่งออกของไทยทั้งปี ซึ่งอาจโตเพียงร้อยละ 0.5 หรือ คิดเป็นมูลค่า 256,110 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 8.3 ล้านล้านบาทเท่านั้น ซึ่งจะเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบ 4 ปี 

ยิ่งปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนทวีความรุนแรงขึ้น โดยทรัมป์ตัดสินใจขึ้นภาษีกับสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มอีก 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 9.4 ล้านล้านบาท อาจส่งผลให้ส่งออกไทยมีโอกาสเป็นศูนย์ 


"สถานการณ์ของสหรัฐฯ และจีนตอนนี้คือ เจ็บทั้งคู่และทุกคนเจ็บหมด" รศ.ดร. อัทธ์ กล่าว

ผลกระทบที่ไทยจะต้องเผชิญมีทั้งในมิติการส่งออกที่จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และภาระของผู้ประกอบการและแรงงานไทยที่ต้องแบกรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคการเกษตร

รศ.ดร. อัทธ์ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงที่สินค้าเกษตร เช่น ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน และยางของไทยและอาเซียนจะเผชิญความยากลำบากในการส่งออก ส่งผลให้ราคาต่ำลงอีก นอกจากนี้ จะมีการท่วมทะลักของสินค้าจีนเข้ามายังไทยและอาเซียน สร้างแรงกดดันทางการค้าให้ผู้ประกอบการไทย

เวียดนามไปไกล ส่วนไทยตกอันดับ

อีกปัจจัยกดดันส่งออกไทยคือ การบรรลุข้อตกลงผลการเจรจาเขตการค้าเสรีสหภาพยุโรปและเวียดนาม หรือ FTA อียู-เวียดนาม ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ภายในไตรมาส 3 ปีนี้

เมื่อย้อนกลับไปในปี 2552 ประเทศไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 35 ของยุโรป ด้วยสัดส่วนตลาดราวร้อยละ 0.5 ขณะที่เวียดนามอยู่ในอันดับที่ 47 ในสัดส่วนร้อยละ 0.3 อย่างไรก็ตามตัวเลขในปี 2561 สะท้อนข้อได้เปรียบจากความตกลงเขตเสรีการค้าของสหภาพยุโรปและเวียดนามได้อย่างชัดเจน เมื่อเวียดนามขยับขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันดับที่ 27 ของยุโรป ด้วยสัดส่วนตลาดที่เพิ่มขึ้นเป็น 0.8 ขณะที่ไทยตกลงไปอยู่อันดับที่ 38 ด้วยสัดส่วนตลาดเท่าเดิม

ความประทับใจจาก 'โฮจิมินห์' ประเทศเวียดนาม : FULL EP

นอกจากจะได้ส่วนแบ่งตลาดที่มากขึ้นแล้ว เวียดนามยังเกินดุลการค้ากับยุโรปเพิ่มขึ้นถึง 4.5 เท่า ภายในระยะเวลา 10 ปี จากปี 2552 เวียดนามส่งออกไปยุโรปมูลค่า 13,319 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 4.2 แสนล้านบาท และนำเข้าสินค้าจากยุโรปประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ส่งผลให้เวียดนามเกินดุลการค้าประมาณ 8,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2.5 แสนล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการส่งออกในปี 2561 ของเวียดนาม อยู่ที่ 49,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท และนำเข้า 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 4 แสนล้านบาท ส่งผลให้ยอดเกิดดุลการค้าในปีที่ผ่านมาของเวียดนามสูงถึง 36,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท 

เมื่อเทียบกับประเทศไทย มูลค่าการเกินดุลการค้าในรอบ 10 ปี ของไทยต่อสหภาพยุโรปทรงตัวอยู่ที่ราว 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.1 แสนล้านบาท มาตลอด โดยคิดเป็นการลดลงราวร้อยละ 0.8 

ดังนั้น รศ.ดร. อัทธ์ จึงชี้ว่า การรีบจัดตั้งรัฐบาลให้เร็วเพื่อเริ่มการเจรจาการค้าฉบับเดิมและฉบับใหม่กับสหภาพยุโรป รวมทั้งเพิ่มการกระจายสินค้าไปยังตลาดใหม่ๆ เช่น บราซิล รัสเซีย อินเดีย และแอฟริกาใต้ พร้อมใช้กลยุทธ์สินค้าดีราคาถูก เพื่อเพิ่มอัตราการแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง จะเป็นทางออกและช่วยพยุงส่งออกไทยให้ไม่ถอยหลังได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :