โดยเฉพาะกรณีออกมาแฉนาฬิกา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม รายวัน รวม 20 กว่าเรือน โดยมีทั้งภาพขณะสวม รุ่น ยี่ห้อ และที่มาของภาพ ครบถ้วน จนทำให้สำนักข่าวนำไปใช้เป็นเครดิตประกอบข่าว
พร้อมนำมาสู่กระแสกดดันไปยัง ‘บิ๊กป้อม’ และหน่วยงานที่ต้องตรวจสอบอย่างคณะกรรมการ ป.ป.ช. แม้ผลการตรวจสอบออกมา พล.อ.ประวิตร ไม่ได้กระทำผิด แต่ตำนาน ‘นาฬิกายืมเพื่อน-แหวนแม่’ ก็ยังคงติดตัว พล.อ.ประวิตร ไปตลอด และ ป.ป.ช. ก็ถูกวิจารณ์หนักเช่นกัน
ที่ผ่านมาเพจ CSI LA เป็นที่น่าเชื่อถือเพราะจับต้องประเด็นสาธารณะ และการเขียนต่างๆที่เป็นในเชิง ‘สืบสวนสอบสวน’ พอสมควร ทำให้ถูกใช้เป็นแหล่งอ้างอิงในเชิงข่าวได้ แต่ในระยะหลังมานี้เพจ CSI LA ก็แสดงจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งเป็นเพจที่ออกตัวตรวจสอบการทำงานของ กกต. ในการจัดการเลือกตั้ง รวมทั้งรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ
แต่ลักษณะการโพสต์และเรียบเรียง ไม่ได้ทำเหมือนกับการตรวจสอบนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร ที่มีการอ้างอิงอย่างน่าเชื่อถือ ในครั้งนี้จึงทำให้เพจถูกตั้งคำถามถึง ‘มาตรฐาน-ความน่าเชื่อถือ’ ตามมา ทำให้การจะนำมาใช้อ้างอิง ‘เชิงข่าว’ มีข้อจำกัดมากขึ้น
แน่นอนว่าเพจ CSI LA ก็ต้องการปกปิดแหล่งข่าวที่ส่งข้อมูลมาให้ แต่เพจ CSI LA ก็ยังคงสถานะตัวเองอยู่ได้ อย่างน้อยก็คือฐานมวลชนที่ไม่สนับสนุน คสช. เช่นกรณีล่าสุดเพจได้เผยแพร่ภาพที่ระบุว่าเป็นเอกสารราชการ ว่า กองทัพภาคที่ 1 สั่งหน่วยในกำกับทำไอโอสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า ‘เอกสารจริง’ หรือ ‘ปลอม’ ขึ้นมาทันที
แต่ในสภาวะเช่นนี้ก็มีคนที่เชื่อและไม่เชื่อไปแล้ว ดังนั้นการต่อสู้เพื่อยืนยันความถูกต้องของทั้ง ทบ. กับเพจจึงเกิดขึ้น โดยการ ‘งัดหลักฐาน’ มาสู้กัน
โดยฝ่ายความมั่นคง นำโดย พล.อ.ประวิตร ออกมาระบุว่าเป็น ‘เอกสารปลอม’ จากนั้นทาง ทบ. ได้ระบุถึง 5 จุดผิดแบบฟอร์มเอกสาราชการของ ทบ. ออกมา
รวมทั้ง ‘บิ๊กแดง’ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ และเลขาธิการ คสช. ได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมาย คสช. แจ้งความเพจกับทาง ปอท.
วันต่อมาทางเพจ CSI LA ก็ได้ตอบโต้กลับ 5 จุดที่ ทบ. ชี้แจงออกมา ยืนยันว่าเป็น ‘เอกสารจริง’
จึงเป็นการสู้ด้วย ‘หลักฐาน’ จึงอยู่ที่ผู้ติดตามจะเลือกเชื่อแบบใด
เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ คือ มีทั้งคนที่ไม่เชื่อทหารหรือไม่เชื่อเพจ CSI LA เกิดขึ้น แต่ละฝ่ายจึงต้องสร้าง ‘ความน่าเชื่อถือ’ ของตนเองออกมา เพื่อให้ ‘คนกลางๆ’ ในสังคมเลือกจะเห็นด้วยกับตน เพราะคนกลางๆถือเป็น ‘ปัจจัยสำคัญ’ ในการดำรงอยู่อย่างมี ‘มาตรฐาน’ ของฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ที่สำคัญเหตุการณ์นี้ มาพร้อมการจับตา ‘ทหารแตงโม’ ในกองทัพด้วย
ก่อนหน้านี้มีการเผยแพร่ราชกิจจานุเบกษาปลอม ปลด 3 ผบ.เหล่าทัพ โดยอาศัยอำนาจหัวหน้าคสช. แต่ไม่ได้มีต้นทางมาจากเพจ CSI LA โดยต้นทางมาจากทวิตเตอร์ ก่อนจะมีการส่งต่อๆกันมา และทางสำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกมาชี้แจงว่าเป็น ‘เอกสารปลอม’ ดังนั้นจึงเริ่มมีการลบโพสต์ เพราะต่างเกรงจะผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในการเผยแพร่ซ้ำ
ซึ่งเอกสารดังกล่าวมีรายงานเป็นการตัดต่อส่วนคำสั่งของข้าราชการพลเรือนในอดีตตามระเบียบ ก.พ. แล้วนำมาใช้อ้างเป็นคำสั่งปลดข้าราชการทหาร จึงทำให้ชี้ได้ว่าเป็น ‘เอกสารปลอม’ และเกิดขึ้นเพียงข้ามคืนหลังมีกระแสข่าว ‘ปฏิวัติซ้ำ-รัฐประหารซ้อน’ ออกมา แต่ก็ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
อีกทั้งในสัปดาห์นี้ก็มีการปล่อยข่าว’ปฏิวัติซ้ำ-รัฐประหารซ้อน’ ออกมา โดยระบุว่าจะเกิดขึ้น 20-21 มี.ค.นี้ ซึ่งก็ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
รวมทั้งสื่อต่างประเทศมีการประเมินว่าหากสุดท้ายแล้วพรรคพลังประชารัฐไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลหรือ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เป็น นายกฯ ต่อ อาจมีการทำ ‘รัฐประหาร’ ขึ้นมาอีก
แต่ว่ากันว่าในอนาคตหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้น การทำรัฐประหารจะไม่ใช่แบบที่ผ่านๆมา แต่จะมี ‘ความแยบยล’ มากขึ้น ผ่านการตั้ง ‘รัฐบาลเฉพาะกาล-รัฐบาลแห่งชาติ’ ขึ้นมาแทนในระยะเวลาหนึ่ง เพื่อมาวางระบบการเลือกตั้งขึ้นใหม่ให้เป็นที่ยอมรับของทุกพรรค จึงต้องรอดูผลการเลือกตั้งและการฟอร์มทีมรัฐบาลชุดใหม่ในอนาคต
ในเวลานี้ทุกอย่างจึงเป็นเพียง ‘แผนสำรอง-แผนเผชิญเหตุสุดท้าย’ เท่านั้น รวมทั้งกระแส ‘เลือกตั้งโมฆะ’ ด้วย เพราะที่ผ่านมามีการยื่นเรื่องตรวจสอบต่างๆกับทาง กกต. และการ ‘งัดข้อทางกฎหมาย’ ของแต่ละฝ่ายอย่างหนัก
มาพร้อมปรากฏการณ์ ‘สงครามไซเบอร์’ ที่หนักขึ้น โดยมีการตั้งเพจหรือเฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อหวังผลทางการเมืองขึ้นมา เช่น เพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ และดิสเครดิตฝ่ายการเมือง เป็นต้น
โดยกรณีล่าสุดคือ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา โดย โฆษก บก.กองทัพไทย ชี้แจงว่าเพจ ‘กองการสื่อสาร หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา’ ที่สนับสนุนให้เลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเพจปลอม โดยชี้ว่าชื่อเพจที่ ‘เว้นวรรค’ เป็นเพจปลอม ส่วนเพจที่อ้างว่าเป็นเพจทางการจะ ‘ไม่เว้นวรรค’
แต่เมื่อตรวจสอบย้อนกลับไป เพจที่ ‘เว้นวรรค’ ไม่สามารถเข้าชมได้แล้ว (21มี.ค.) ซึ่งภาพที่ขึ้นกราฟฟิกสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ถูกโพสต์ขึ้นเมื่อ 13มี.ค.ที่ผ่านมา และเมื่อเข้าไปยังเพจที่ ‘ไม่เว้นวรรค’ ที่อ้างว่าเป็นเพจทางการนั้น ยังคงเข้าได้ตามปกติ (21มี.ค.) แต่เมื่อตรวจสอบพบว่าเพจที่ ‘ไม่เว้นวรรค’ ถูกตั้งขึ้นมาเมื่อ 20มี.ค.ที่ผ่านมา จึงทำให้เรื่องนี้ยังไม่เคลียร์
รวมทั้งการตั้งเฟซบุ๊กแอบอ้างเป็น พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ขึ้นมาด้วย เพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ออกมาชี้แจงว่าเป็นเฟซบุ๊กปลอม ที่เปิดมาได้ไม่นาน กำลังตรวจสอบที่มาและดำเนินคดี
ให้ห้วงก่อนเลือกตั้งไม่กี่วัน ‘ปฏิบัติการข่าว’ หรือ ‘ไอโอ’ มีทั้ง 2 ฝ่าย ผ่านสื่อโซเชียลฯ อยู่ที่ประชาชนพิจารณาเองว่าจะ ‘เชื่อ’ หรือไม่ ?
ก่อนหน้านี้ ‘พรรคอนาคตใหม่’ ก็ถูกเพจสวมรอยว่าเป็นกลุ่มสนับสนุนพรรค ตั้งชื่อเพจว่า Save Thanathorn ออกมาโจมตีเช่นกัน ระยะเวลาก่อตั้งเพจไม่ได้ยาวนาน ก่อตั้งเมื่อ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา และมีผู้ติดตามไม่มากเพียงราว 1,520 แอคเค้าท์ (21มี.ค.) โดยออกมาระบุว่าไม่สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่อีก เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา จึงเป็น ‘พิรุธ’ ที่สังคมโซเชียลฯแกะรอยออกมา
แต่การสร้าง ‘ข่าวเท็จ’ ไม่ว่าจะฝั่งใดก็ตาม ก็เท่ากับทำลาย ‘ความน่าเชื่อถือ’ ของตัวเองลงไปด้วย การต่อสู้ทางการเมืองในระยะยาวๆ การสู้ด้วย ‘หลักการ-หลักฐาน-ความถูกต้อง’ ถือเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อย
อย่าดูถูกประชาชน !!