เวทีมองไปข้างหน้า “พรรคการเมืองกับการสร้างหลักประกันสุขภาพเพื่อคนไทยทุกคน" ในงานรำลึก 11 ปีการจากไปของ นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ โดยมีตัวแทนจาก 6 พรรคการเมือง ประกอบไปด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ทพ.ศุภผล เอี่ยมเมธาวี ตัวแทนพรรครวมพลังประชาชาติไทย และ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เข้าร่วมเวทีเสวนาในครั้งนี้ด้วย
คุณหญิงสุดารัตน์ ชูโมเดล 30 บาทยุคใหม่ รองรับยุคศตวรรษที่ 21
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ กล่าวว่าได้มีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการยอมรับจากสากล ว่าเป็นโมเดลในการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความทัดเทียมกันในการเข้าถึงด้านสุขภาพ ด้วยสโลแกน Health For All สะท้อนจาก 17 ปีที่ผ่านมาที่ได้ริเริ่มมา อย่างไรก็ตาม ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีปรับปรุงให้ก้าวทันในศตวรรษที่ 21 เพราะที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงให้หลักการที่สร้างขึ้นไอเดียในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยต่างจากเดิม อีกทั้งการดำเนินก็ไม่มีความต่อเนื่องเนื่องด้วยเหตุผลทางการเมือง
"ดังนั้นวันนี้ที่จริงมีความจำเป็นต้องเสริมสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพด้านสุขภาพของคนไทย ให้มีความมั่นคงและทัดเทียมกัน" คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว
สำหรับนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของพรรคเพื่อไทยนั้น จะริเริ่มโครงการ 30 บาทยุคใหม่ ด้วยการสร้างหลักประกันให้ถ้วนหน้า ผ่านการปรับระบบศูนย์กลางอำนาจ กระจายอำนาจให้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ปรับปรุงระบบการจัดการงบประมาณ รวมถึงบุคลากรด้านสาธารณสุขต้องได้รับการคุ้มครอง โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเชื่อมโยงในการจัดสรรข้อมูลของทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ
'อภิสิทธิ์' ชูโมเดล 'เทคโนโลยี' พัฒนาหลักประกันสุขภาพ
อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นเรื่องสวัสดิการและเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงได้รับ ไม่อยากให้มองว่าเป็นเรื่องของนโยบายประชานิยม ขณะที่คำว่าถ้วนหน้า ควรให้สิทธิสำหรับคนชายขอบเช่นเดียวกัน สำหรับในอนาคตทุกวันนี้เรามีปัญหาระหว่าง สปสช.กับรัฐบาล เนื่องจากการจัดสรรที่มองว่าเป็นเรื่องที่ยังไม่เป็นไปตามแนวทาง ขณะที่คนระบบประกันสังคน ถือเป็นคนที่เสียสองต่อที่เสียภาษีและเสียเงินสมทบเข้าไป เราควรเปิดโอกาสให้คนในระบบประกันสังคมสามารถตัดสินเลือกได้จะอยู่กับระบบต่อไปหรือไม่
ส่วนข้าราชการ มองว่าคนข้าราชการยอมที่จะได้เงินเดือนต่ำ เพื่อแลกกับสวัสดิการที่จะได้รับ ซึ่งการรวมกองทุนหลักประกันสุขภาพ กองทุนประกันสังคม กองทุนข้าราชการ เข้าด้วยกันอาจไม่ใช่ทางออกในการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการบริการ และไม่แน่ใจว่าระบบมันจะดีขึ้นหรืออาจจะเสื่อมถอย ต้องกลับมาตั้งคำถามว่าระบบภาษีมันเป็นธรรมหรือไม่ ที่ยังมีช่องโหว่ระหว่างชนชั้น
"ความเป็นอยู่ของประชาชนจะผูกติดกับจีดีพีไม่ได้ นโยบายสาธารณะต้องคำนึงทุกมิติ ซึ่งจะทำให้ระบบเหล่านี้เดินหน้าไปได้" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
สำหรับการแก้ปัญหานั้น อภิสิทธิ์ เสนอว่าต้องปรับปรุงการบริการโดยใช้เทคโนโลยีในการเข้าถึงและเปิดข้อมูล และเพิ่มเติมหลักประกันรวมถึงสิทธิของกลุ่มต่างๆต้องได้รับการบริการอย่างครอบคลุม โดยการยริหารของหน่วยงานต้องเป็นอิสระปราศจากการแทรกแซง
'จาตุรนต์' เน้นการพัฒนา 'โรงพยาบาลชุมชน' ผนวกเทคโนโลยี
เช่นเดียวกับ จาตุรนต์ ฉายแสง ได้เห็นร่วมว่า ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แม้ว่าในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา จะมีความพยายามในการล้มนโยบายดังกล่าว รวมถึงถูกมองว่าเป็นนโยบายประชานิยม ซึ่งโดยหลักการของนโยบายนี้ คือต้องการให้ประชาชนเข้าถึงการบริการอย่างถ้วนหน้าเท่าเทียม
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงและเสริมสร้างให้มั่นคง นอกจากนี้ยังต้องมีการปรับปรุงให้การใช้บริการที่รวดเร็ว ไม่ใช้การอต่อคิวหรือรอเวลานัดหมาย ซึ่งในบางกรณีถึงขั้นเสียชีวิต เพราะการเข้าถึงการบริการล่าช้า
"สิ่งสำคัญของการแก้ปัญหานี้คือ การพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนให้มีความพร้อม รวมถึงบุคลากรที่ให้บริการมีความรู้สามารถรักษาผู้รับบริการ ถ้าปัญหานี้ได้รับการแก้ไข จะทำให้หลักประกันสุขภาพเดินหน้าต่อไปได้" จาตุรนต์ กล่าว
'ธนาธร' ยกย่อง 'น.พ.สงวน' ถึงเวลา 'AI' เข้าระบบบริการสาธารณสุข
ด้านธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้กล่าวยกย่อง น.พ.สงวน เพราะว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทยไม่เคยเกิดขึ้นมา เป็นการเปิดมิติทางการเมือง ด้วยนโยบายที่ 'กินได้' ถือเป็นอิฐก้อนแรกในการสร้างรัฐสวัสดิการ เปิดทางให้คนรุ่นใหม่ได้คิดต่อยอดในการพัฒนาด้านสุขภาพของคนไทย โดยพรรคอนาคตใหม่ได้ประกาศจุดยืนแล้วว่าอยากเห็นความเท่าเทียมอย่างถ้วนหน้า จึงเสนอให้สิทธิของข้าราชการโตน้อยลง ขณะที่สิทธิของบัตรทองโตเพิ่มขึ้น เพื่อให้ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำและเกิดความสมดุลต่อสิทธิอย่างเท่าเทียม
สำหรับการยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ธนาธร เสนอให้มีการพัฒนาความรู้ของอาสาสมัครสาธารณสุข โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาสื่อสาร เพื่อการเข้าถึงข้อมูล และการปรับโครงสร้างอำนาจเพื่อกระจายอำนาจให้โรงพยาบาลสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ในการบริหารทรัพยากร ผลิตยาที่มีคุณภาพ และถึงเวลาแล้วที่ต้องนำ Artificial Intelligence (AI) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาจัดการระบบบริการ เพราะในต่างประเทศ AI เริ่มเข้ามามีบทบาทและผลงานให้เห็นแล้ว
สุวิทย์ ยก 4 ประเด็นท้าทาย อนาคตบัตรทอง
ส่วน สุวิทย์ เมษิณทรีย์ กล่าวว่าพรรคพลังประชารัฐ เชื่อว่าการลงทุนกับสุขภาพจะมีผลตอบแทน และไม่อยากให้มองว่าบัตรทองเป็นการเมือง และต้องมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต้องตั้งคำถามว่าประชาชนทุกคนได้รับสิทธิถ้วนหน้าหรือไม่ เพราะมีการระบุผูกขาดไว้กับบัตรประชาชน สำหรับ 4 ประเด็นที่ท้าทายของอนาคตบัตรทองคือ 1.ประชาชนได้รับอย่างถ้วนหน้าหรือยัง 2.เข้าถึงสิทธิจริงหรือไม่ 3.ได้รับบริการดีหรือไม่ 4.มีประสิทธิภาพหรือไม่
ดังนั้นพรรคพลังประชารัฐ ได้มีแนวคิดในการพัฒนาผ่านโมเดล ' ปรับเปลี่ยน เชื่อมโยง ยกระดับ ขับเคลื่อน' เพื่อสร้างความสิทธิประโยชน์เท่าให้ทัดเทียมกัน
'รปช.' แนะยกระดับ 'โรงพยาบาลชุมชน' ลดปัญหาการเข้าถึงบริการ
ขณะที่ ทพ.ศุภผล เอี่ยมเมธาวี กล่าวว่าหลังจากพรรครวมพลังประชาชาติไทย ได้เดินคารวะแผ่นดิน พบว่าหนึ่งในปัญหาที่ประชาชนได้สะท้อนคือด้านสุขภาพ ซึ่งโจทย์หลักสำคัญต้องแก้เริ่มจากจุดเริ่มต้องของปัญหา คือ ความปลอดภัยทางอาหาร โดยยึดหลักการในการใช้บัตรทองถือเป็นเรื่องที่ถือเป็นเรื่องที่ดี ไม่ควรเป็นเรื่องการเมือง เพื่อเป็นเรื่องสำคัญของประชาชนในประเทศ และต้องยกระดับหน่วยงานของสาธารณสุข เพื่อการลดปัญหาการเข้าถึงการให้บริการ ที่ต้องเดินทางเข้าไปรักษา จึงจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพให้สูงขึ้น
ความกังวลและข้อเสนอของภาคประชาชน
นางสาวบุญยืน ศิริธรรม องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่าทุกคนในประเทศนี้มีศักดิ์ศรีเท่ากัน ไม่ควรแบ่งชนชั้นว่าใครเป็นประชาชนหรือข้าราชการ ขณะที่กฎหมายหลักประกันสุขภาพ มีการเขียนผูกไว้กับบัตรประชาชน จึงเสนอให้คนที่อยู่อาศัยในประเทศไทยทุกคนต้องได้รับการรักษาเช่นเดียวกับคนที่ถือบัตรประชาชน
ประเด็นสำคัญคือการพัฒนาของภาครัฐควรคำนึงถึงสุขภาพของประชาชน อาทิ ควรทบทวนการสร้างเหมืองแร่ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน ขณะเดียวกันนี้ ไม่อยากให้นักการเมืองจับประชาชนเป็นตัวประกัน ควรแก้ปัญหาตามที่หาเสียงไว้และควรผลักดันใหเป็นนโยบายพรรคเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมและให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องหลักประกันสุขภาพ
นายธนพล ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่าปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพมีความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน อาทิ สิทธิของข้าราชการที่ใช้ระบบเหมาจ่าย ยกตัวอย่างกรณีผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย ค่าใช้จ่าย 1,500 บาท ขณะที่ข้าราชการเสีย 2,000 บาท สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน เสนอให้รวมกองทุนเป็นกองทุนเดียว รวมถึงกำหนดกฎเกณฑ์ค่ารักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมกัน
สำหรับประวัตินายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญที่เป็นหัวขบวนในการขับเคลื่อนผลิตนโยบายหลักประกันสุขภาพ หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค สมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย เพื่อสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพของคนไทย นอกจากนี้ยังมีผลงานด้านวิชาการ รวมถึงได้รับคัดเลือกเป็นแพทย์ดีเด่นประจำปี 2528 โดยนายแพทย์สงวน ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งปอด เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2551