เศรษฐกิจไทยในระยะ 4 ปีภายใต้รัฐบาลที่นำโดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แม้จะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จากระดับการเติบโตร้อยละ 0.9 เมื่อปลายปี 2557 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 4 ในปีนี้ ตามการคาดการณ์ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แต่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้บ่งชี้ว่า ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศลดลง และยิ่งใกล้เลือกตั้ง การถามหาแนวทางปฏิรูปและนโยบายเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลเลือกตั้งของพรรคการเมืองต่างๆ เป็นหัวข้อที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต หยิบยกขึ้นมาเป็นหัวข้อเสวนา
โดยเริ่มต้นที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์ พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ในสถานการณ์ที่ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตยกลับทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศสูญเสียโอกาส ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องเร่งทำในระยะข้างหน้าคือ การฟื้นความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจทั้งจากนักลงทุนต่างชาติ และผู้บริโภคในประเทศ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีความเป็นประชาธิปไตย และประเทศมีเสถียรภาพ โดยพรรคการเมืองต่างๆ ต้องช่วยกัน รวมถึงต้องทำให้เห็นว่า เป็นประเทศที่มีนิติรัฐ รวมทั้งต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับสงครามการค้าระหว่างประเทศ
ยิ่งในโลกที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เป็นเศรษฐกิจสมัยใหม่ เศรษฐกิจดิจิทัล ในเวลาที่โครงสร้างแรงงานของประเทศกำลังเปลี่ยน โครงสร้างประชากรเปลี่ยน แล้วประเทศไทยพร้อมกับสิ่งเหล่านี้หรือยัง รัฐต้องพร้อมทั้งเรื่องกฎระเบียบ กฎหมาย บุคลากร
อีกทั้งยังต้องมีแนวทางลดความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง ต้องกระจายอำนาจ กระจายรายได้ ทำให้คนเข้าถึงทุน เข้าถึงความรู้ ให้มีความพร้อม มีความสะดวกในการทำธุรกิจหรือประกอบอาชีพ
ด้านสมพงษ์ สระกวี ที่ปรึกษา พรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า นโยบายเศรษฐกิจของพรรคอาจไม่ต่างจากพรรคการเมืองอื่นๆ แต่สิ่งที่แตกต่างคือความดุเดือดเข้มข้นจริงจัง และต้องเป็นนโยบายที่นำไปปฏิบัติได้ โดยเฉพาะเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร ซึ่งมีถึง 30 ล้านคนทั่วประเทศ
ดังนั้น พรรคจึงให้ความใส่ใจกับปัญหาราคาสินค้าเกษตร โดยมีแนวทางปฏิรูป คือ หนึ่ง ต้องทำให้ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างสมเหตุสมผล สอง ต้องเพิ่มกำลังการผลิตจากวัตถุดิบที่มีอยู่ และ สาม ต้องสนับสนุนส่งเสริมให้ทุนคนรุ่นใหม่ได้ศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อนำความรู้ไปพัฒนาสินค้าเกษตร
ขณะที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การบริหารนโยบายก็คล้ายการควบคุมวงออร์เคสตรา ที่ต้องอาศัยการบูรณาการระหว่างรัฐกับเอกชน ให้ทุกหมวดทุกหน่วยเศรษฐกิจทำงานสอดประสานกัน รัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสม ดูแลราคาสินค้าเกษตรให้ดีขึ้น ให้ถือเป็นหน้าที่
โดยฉายภาพเศรษฐกิจไทยว่า การบริหารเศรษฐกิจของประเทศต้องยกระดับขนาดเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ ถ้าทำได้ดี ก็จะลดปัญหารวยกระจุกจนกระจาย เรื่องต่อมาคือ เสถียรภาพ เช่น เสถียรภาพของราคามีความสม่ำเสมอ ไม่ใช่เดี๋ยวถูกเดี๋ยวแพง หรือดีกับบางคนเท่านั้น
ดังนั้น การจะเห็นเศรษฐกิจดีได้ การไหลเข้ามาของรายได้จากการส่งออกเป็นสิ่งสำคัญ การท่องเที่ยวสำคัญ การอุปโภคบริโภคภายในประเทศ การลงทุนภาคเอกชน ถ้ากำลังซื้อดี ตลาดเติบโต นักลงทุนก็อยากลงทุน ถ้าตลาดส่งออกต้องการสินค้าไทย นักลงทุนก็อยากลงทุน และการใช้จ่ายภาครัฐ ถ้าทั้ง 4-5 ตัวเติบโตได้ดี เศรษฐกิจก็เติบโตได้ดี
นายสิริพงษ์ อังคสกุลเกียรติ ตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า นโยบายเศรษฐกิจที่เป็นข้อเสนอของพรรค ประกอบด้วย profit sharing หรือการแบ่งสัดส่วนกำไรที่เหมาะสม โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาจับทุกกระบวนการแล้วคำนวณเป็นสัดส่วนรายได้ เช่น การขายข้าวต้องมีการแบ่งรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกร้อยละ 70 ให้โรงสีร้อยละ 15 และให้ผู้ส่งออกร้อยละ 15 เป็นต้น ซึ่งจากการลองทำโมเดลจำลองกับข้าวหอมมะลิ พบว่า วิธีนี้จะทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า โรงสีเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ส่วนผู้ส่งออกรายได้ลดลง
ต่อมาคือการเสนอแนวคิด Thailand Sharing University หรือ การแบ่งปันการใช้บริการสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยใช้เทคโนโลยีสมาร์ทโฟนเป็นตัวกลางให้ประชาชนที่ต้องการเรียนสิ่งใดก็สามารถจัดหาได้ผ่านระบบออนไลน์ ไม่ว่าจะสาขาวิชา มหาวิทยาลัย ติวเตอร์
สุดท้ายคือ Sharing Economy ซึ่งพรรคมีแนวทางชัดเจนคือ สนับสนุนให้ทุกคนมีโอกาสหารายได้ พรรคการเมืองมีหน้าที่หากำแพงที่เป็นอุปสรรคในการสร้างงาน สร้างอาชีพ และต้องทุบกำแพงนั้น ดังนั้น กฎหมายอะไรที่เป็นอุปสรรคการทำมาหากินของประชาชน พรรคจะแก้ไข และนี่คือการลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน
ส่วนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า พรรคมีแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า คือ หนึ่ง ปลดล็อกการผูกขาด ที่ปิดกั้นโอกาสของประชาชน และเป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตย เช่น ในธุรกิจธนาคาร อยากเห็นธนาคารที่มีสำนักงานใหญ่ในต่างจังหวัด หรือในภาคเกษตร ต้องเลิกเอาเงินของรัฐไปสนับสนุนปัจจัยการผลิตจากบริษัทขนาดใหญ่ หรือเรื่องเหล้าสุรา ต้องเลิกผูกขาด และต้องปลดปล่อยให้เกษตรกรมีช่องทางแปรรูปดึงซัพพลายออกจากระบบ แล้วกระจายรายได้
สอง ปลดล็อกการกระจุกตัวของรายได้ ประเทศไทยต้องสร้างอุตสาหกรรมภายในประเทศ ไม่ใช่ใช้กระบวนทัศน์เดิมในฐานะฐานการผลิต แต่ต้องมีอุตสาหกรรมภายใน ทำเพื่อคนไทย โดยคนไทย เป็นของคนไทย เพราะคนไทยเก่งๆ มีมากมาย
สาม ผลักดันให้ประชาชนในท้องถิ่นมีอำนาจจัดการปัญหาของตัวเองได้ ไม่ใช่ให้กรุงเทพฯ เป็นคอขวดของการพัฒนาอย่างที่ผ่านมา
ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ทุกพรรคการเมืองเริ่มต้นที่การวิพากษ์ระบบ 'ประชารัฐ' และคนสงสัยกันมากว่า คำว่า 'ประชา' ในประชารัฐ อยู่ตรงไหน และถ้าเราบอกว่า ประชารัฐไม่ใช่คำตอบ แต่เราก็ต้องยอมรับว่า 'ประชานิยม' ก็มีปัญหา ดังนั้นกระบวนทัศน์ใหม่ที่พรรคประชาธิปัตย์จะเสนอคือ ไม่ใช่ประชารัฐ ไม่ใช่ประชานิยม แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่า คือคำว่าอะไร แต่จากคำว่า 'ประชาธิปัตย์' ก็แปลได้ความแล้วว่า 'อำนาจอยู่ที่ประชาชน'
ขณะที่ จีดีพีที่โตทุกปี อาจไม่ใช่ตัวชี้วัดที่ดีนัก ดังนั้นพรรคจึงจะสร้างตัวชี้วัดใหม่ที่สะท้อนความเป็นอยู่ของคนทุกระดับ และจะไม่ได้วัดกันที่ผลตอบแทนทางการเงิน แต่จะต้องประเมินผลกระทบต่อการกระจายรายได้ ดังนั้น การปฏิรูปเศรษฐกิจที่พรรคประชาธิปัตย์นำเสนอคือ การกระจายอำนาจ การเติมกำลังหรือพลังแก่ประชาชน ให้ประชาชนมีอำนาจใช้ทรัพยากรของเขาให้เข้าถึงตลาดให้มากที่สุด กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต้องได้รับการปลดปล่อย โดยมีหลักการคือ สิ่งที่ใดกฎหมายไม่ได้เขียนห้ามไว้ ย่อมต้องทำได้
ส่วนเรื่องการประกันรายได้และสวัสดิการยังมีความจำเป็น และการประกันรายได้พืชผลเกษตรไม่ขัดกับกติกาองค์การการค้าระหว่างประเทศ หรือ WTO เพราะสิ่งที่พรรคทำคือการประกันรายได้ ไม่ใช่การประกันราคา
สำหรับการขจัดการผูกขาดต้องกำหนดกติกาให้ชัด ต้องบริหารทรัพยากรด้วยข้อมูล และประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงข้อมูลโดยไม่กระทบความเป็นส่วนตัวของข้อมูลเหล่านั้น พร้อมกับรับมือกับธุรกิจสมัยใหม่ การคำนึงถึงการเก็บภาษีค้าออนไลน์ที่สนับสนุนผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างรายได้ให้กับรัฐ
นอกจากนี้ ยังมีคำถามสำคัญกับพรรคการเมืองบนเวทีดังกล่าว ตั้งแต่แนวคิดต่อเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เรื่องพ.ร.บ.วินัยทางการเงินการคลัง และเรื่องการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจตะวันออก หรือ EEC
นายอภิสิทธิ์ ยืนยันชัดเจนว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะไม่ทันสมัย และหากในอนาคต ถ้าตรงจุดใดในยุทธศาสตร์ชาติติดขัดรัดตัว ก็จะแก้ไข ถ้าต้องแก้ก็จะแก้ ถ้าต้องรื้อก็จะรื้อ แต่จะไม่เสียเวลาไปทะเลาะเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในทันทีที่เข้าเป็นรัฐบาล ส่วนเรื่องอีอีซี พรรคไม่ขัดข้องเรื่องนี้ แต่สำหรับบางโครงการโครงสร้างพื้นฐานอาจต้องมาประเมินให้รอบอีกครั้งว่ามีผลทางเศรษฐกิจและสอดคล้องกับสิ่งที่รัฐบาลตัดสินใจหรือไม่ และหากทบทวนแล้วไม่กระทบกับความเชื่อมั่นของประเทศ ก็ต้องเดินหน้าต่อไป
ขณะที่ นายธนาธร ระบุว่า ทุกสิ่งที่ออกมากับรัฐธรรมนูญ 2560 รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นเครื่องมือทางการเมือง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อให้อภิสิทธิชนในประเทศครองอำนาจอยู่ได้ และมีเป้าหมายสกัดกั้นการมีอำนาจของประชาชน สกัดกั้นการเกิดประชาธิปไตย
ส่วนอีอีซี ยังติดกับกระบวนทัศน์เดิมที่ให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต โดยไร้เทคโนโลยี ทั้งที่บางอย่างผลิตในประเทศไทยได้แล้ว เช่น รถบัส ทำไมต้องใช้ของจากจีน ทั้งที่อุตสาหกรรมแบบนี้ประเทศไทยผลิตได้เอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: