หน่วยงานด้านสุขภาพจิตในฮ่องกงระบุว่า สถานการณ์การเมืองที่ตึงเครียดของฮ่องกง ทำให้ชาวฮ่องกงโทรหาฮอตไลน์ปรึกษาด้านสุขภาพจิตกันมากขึ้นจนน่าตกใจ โดยผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ปัจจุบันมีชาวฮ่องกงที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น และรัฐบาลจำเป็นต้องหาทางแก้ไขวิกฤตด้านสุขภาพอย่างเร่งด่วน
สะมาริตัน บีเฟรนเดอร์ กลุ่มป้องกันการฆ่าตัวตายในฮ่องกงเปิดเผยว่า พวกเขาได้รับสายคนที่มาปรึกษา 42 สายนับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. ที่มีการประท้วงต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้จีนแผ่นดินใหญ่เป็นครั้งแรก และทุกสายล้วนระบายความรู้สึกคับข้องใจเกี่ยวข้องกฎหมายฉบับนี้ สะมาริตันระบุว่า จำนวนคนที่โทรเข้าไปปรึกษาหลังมีประเด็นเรื่องกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนมากกว่าจำนวนคนที่โทรเข้าไปในช่วงเดือน มี.ค. - พ.ค. ถึง 5 เท่า
สะมาริตันได้ส่งคนไปลงพื้นที่บริเวณที่มีการประท้วงต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนและการแทรกแซงจากจีนแผ่นดินใหญ่ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา มี 24 กรณีที่ประสบความผิดปกติทางอารมณ์ โดยส่วนใหญ่เป็นชาวฮ่องกงที่อายุต่ำกว่า 20 ปี บางคนบอกว่า พวกเขารู้สึกสิ้นหวังและอยากฆ่าตัวตาย บางคนกล่าวว่า พวกเขาไม่กลัวอะไรอีกแล้วในการประท้วงครั้งนี้ อย่างมากก็คือได้รับกระสุนจริง แต่การต่อสู้ก็ไม่สำเร็จลุล่วงอยู่ดี
ส่วนสภากาชาดฮ่องกงระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 12 มิ.ย.ที่ตำรวจฮ่องกงสลายการชุมนุมหน้าที่ทำการรัฐบาลฮ่องกงด้วยแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง สภากาชาดได้รับสายผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตทั้งสิ้น 99 สาย
ด้านพอล ยิบ ผู้อำนวยการศูนย์สำหรับการป้องกันการฆ่าตัวตายของมหาวิทยาลัยฮ่องกงกล่าวว่า สังคมฮ่องกงตกอยู่ในสภาวะฮิสทีเรีย เพราะกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้กระตุ้นให้เกิดวิกฤตด้านอัตลักษณ์ของฮ่องกงที่แอบซ่อนอยู่ปะทุขึ้นมา ประชาชนรู้สึกไม่พอใจและกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้อื่น อีกทั้งยังรู้สึกไม่มั่นใจเกี่ยวกับชีวิตตัวเองด้วย
“ผมไม่เคยเห็นชาวฮ่องกงรู้สึกไม่มั่นคงและหนักใจว่าไม่สามารถควบคุมอะไรได้เท่านี้มาก่อน” ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้ชาวฮ่องกงหลายคนมีอาการซึมเศร้าและการกระทำแบบสุดโต่ง
การเสียชีวิตของชาวฮ่องกง 3 รายที่มีการทิ้งข้อความลาตาย หรือกล่าวถึงวิกฤตการเมืองฮ่องกงมีขึ้นมาตั้งแต่เดือน มิ.ย. มีคนโพสต์ข้อความพยายามจะฆ่าตัวตายอย่างน้อย 2 คนที่กลายเป็นไวรัลเมื่อวันที่ (3 ก.ค.) ที่ผ่านมา อาสาสมัครและตำรวจจึงต้องช่วยกันเดินหาเพื่อป้องกันไม่ให้มีการฆ่าตัวตายอีก ขณะที่คนอื่นก็เริ่มกังวลว่าจะมีการฆ่าตัวตายเลียนแบบกัน
เฟอร์ดินาน เจิง ส.ส.จากพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยของฮ่องกงกล่าวว่า ผู้ชุมนุมหลายคนไม่กลัวตาย และหลายคนรู้สึกติดหนี้ชีวิตแก่ผู้เสียชีวิตจากการประท้วงครั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา เขาได้พยายามห้ามปรามไม่ให้ผู้นุมบุกเข้าไปทำลายทรัพย์สินในอาคารรัฐสภา แต่ผู้ชุมนุมคนหนึ่งก็ตะโกนว่า “อย่ามาขวางทาง เพื่อนที่โรงเรียนผมตายไปแล้ว คุณไม่สามารถหยุดผมได้”
เหลิ่งไคจี อาจารย์ของมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (CUHK) ซึ่งศึกษาเรื่องอัตลักษณ์และพลวัตรของสังคมกล่าวว่า การบุกอาคารรัฐสภาเป็นผลจากความรู้สึกสิ้นหวัง ผู้ชุมนุมไม่รู้ว่าพวกเขาจะทำอย่างไรต่อไป พวกเขาไม่สามารถจัดการอารมณ์ของตัวเอง และไม่อยากกลับบ้าน เพราะพวกเขาจะกลับไปเจอกับพ่อแม่ที่ไม่เข้าใจพวกเขา
สะมาริตันเรียกร้องให้สมาชิกในครอบครัวที่มีความคิดเห็นทางการเมืองต่างกัน พยายามรับฟังให้มากขึ้น แต่ตัดสินให้น้อยลง เพราะไม่ว่าจะถกเถียงกันมากขนาดไหน ก็อย่าลืมบอกกันว่า ความรักที่มีต่อกันจะยังไม่เปลี่ยนแปลงไป
ประท้วงแล้วต้องหาทางจัดการอารมณ์ตัวเอง
สะมาริตันแนะนำผู้ชุมนุมชาวฮ่องกงให้พักจากการประท้วงบ้าง หากรู้สึกว่าหนักเกินไป เพราะการต่อสู้ที่ยาวนานต้องการการพักบ้าง เมื่อเริ่มรู้สึกไม่มีทางออก ให้พูดคุยกับคนที่มองโลกในแง่ดี เพื่อหลีกเลี่ยงการทับถมความรู้สึกลบ สะมาริตันยังกล่าวว่า ปฏิกิริยาของรัฐบาลมีผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกของประชาชน และรัฐบาลยังไม่สามารถรับมือสถานการณ์ได้
พอล ยิบกล่าวว่า รัฐบาลควรเข้าไปพูดคุยกับผู้ชุมนุมมากกว่านี้ นอกเหนือจากการเจรจาทางการเมืองแล้ว ยังควรต้องหาทางแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น ควรมีการตั้งทีมสอบสวนอิสระ เพื่อหาสาเหตุและผลกระทบของความวุ่นวายที่เกิดขึ้นจากความพยายามในการเสนอร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้จีนแผ่นดินใหญ่ เพราะจะไม่เป็นเพียงการบันทึกข้อมูลที่เที่ยงตรงสำหรับตำรวจ แต่ยังเป็นประโยชน์กับรัฐบาลไม่ให้ทำผิดพลาดเช่นนี้อีกในอนาคต
พอล ยิบกล่าวว่า การจัดเสวนาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่จะเปิดให้รัฐบาลได้สื่อสารกับคนรุ่นใหม่ของฮ่องกงโดยตรงมากขึ้น รัฐบาลจะมีโอกาสในการรับฟังความคิดเห็นของนักศึกษา และหามาตรการตอบสนองที่มีประสิทธิภาพได้
สะมาริตันยังเสริมว่า การใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางส่งข้อความแบบเรียลไทม์ไปยังคนที่กำลังคิดจะฆ่าตัวตายใช้ไม่ได้ผล และไม่ควรส่งข้อความประเภท “ปัญหาต่างๆ จะหมดไปในวันพรุ่งนี้” เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่เข้าใจคนที่คิดจะฆ่าตัวตาย แต่สิ่งที่ควรทำเมื่อพบเห็นคนที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตายก็คือ การให้คำแนะนำว่าจะไปขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตอย่างไรบ้าง หรือชักชวนให้พวกเขาแบ่งปันความคิดหรือระบายความในใจออกมา
ที่มา : South China Morning Post, Los Angeles Times
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: