ลีกาชิง มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดของฮ่องกง ลงโฆษณาในสื่อกระแสหลักหลายฉบับของฮ่องกง เมื่อ 16 ส.ค.2562 เรียกร้องให้ทุกฝ่าย 'รักจีน รักฮ่องกง และรักตัวเอง' โดยพาดพิงสถานการณ์ทางการเมืองในฮ่องกงตลอดช่วง 11 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งยังเป็นการแสดงความเห็นต่อสาธารณะครั้งแรกของลีกาชิง หลังจากที่เขาประกาศวางมือจากวงการธุรกิจไปเมื่อปีที่แล้ว
ข้อความอื่นๆ ของลีกาชิงที่ปรากฏในหน้าโฆษณา รวมถึงการเรียกร้องให้ "ดับความโกรธแค้นด้วยความรัก" "หยุดใช้ความรุนแรง" และ "สนับสนุนเสรีภาพ ความอดทนอดกลั้น และหลักนิติรัฐ" พร้อมลงชื่อว่า 'ลีกาชิง พลเมืองฮ่องกง' ซึ่งไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเขายืนอยู่ข้างผู้ประท้วงหรือว่ารัฐบาลฮ่องกง แต่รอยเตอร์รายงานอ้างอิงแถลงการณ์ของลีกาชิง ซึ่งโฆษกส่วนตัวเขาเป็นผู้เผยแพร่ในเวลาต่อมา เตือนว่า "ถนนมุ่งสู่นรกมักจะเริ่มต้นจากความตั้งใจที่ดี เราจึงต้องระมัดระวังสิ่งที่จะเกิดตามมาอย่างไม่ได้ตั้งใจด้วย"
แถลงการณ์ของลีกาชิงยังระบุด้วยว่า การลงทุนเพื่อกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นเรื่องสำคัญ และผลสำเร็จที่เกิดขึ้นในอนาคตก็มีเป้าหมายเพื่อฮ่องกงเอง พร้อมย้ำว่า คนหนุ่มสาวมักจะหวาดกลัวอนาคตที่พวกเขาไม่มีส่วนร่วม แต่ตอนนี้รัฐบาลน่าจะได้ยินเสียงของผู้ประท้วงอย่างชัดเจนแล้ว เชื่อว่าจะนำไปสู่การระดมสมองเพื่อหาทางแก้ไข
สิ่งที่ลีกาชิงกล่าว ถูกมองว่าเป็น 'สาร' ที่ส่งถึงรัฐบาลฮ่องกง เพราะก่อนหน้านี้ 'แคร์รี หล่ำ' ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลังพูดถึงกลุ่มผู้ประท้วงว่าเป็นเพียงคนรุ่นเยาว์ซึ่งไม่มีส่วนร่วมในอนาคตของฮ่องกง ทำให้หล่ำต้องแถลงชี้แจง โดยย้ำว่า ทุกคนมีส่วนร่วมในอนาคตของฮ่องกง
ส่วนลีกาชิง วัย 90 ปี เป็นมหาเศรษฐีฮ่องกงที่ได้รับฉายาว่า 'วอร์เรน บัฟเฟตแห่งเอเชีย' เคยได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารฟอร์บสว่าเป็นบุคคลร่ำรวยอันดับ 23 ของโลก และร่ำรวยที่สุดในฮ่องกง เพิ่งจะยุติบทบาทในฐานะประธานบริหารบริษัทซีเค ฮัตชิสัน โฮลดิ้งส์ ไปเมื่อเดือน พ.ค.ปีที่แล้ว โดยบริษัทของเขามีกิจการอยู่หลายประเภท กระจายตัวอยู่ใน 52 ประเทศและเขตปกครองทั่วโลก
นอกเหนือจากความเคลื่อนไหวของลีกาชิง ยังมีนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงอีกหลายคนที่ออกมาแสดงความเห็นต่อต้านการประท้วง เช่น ปีเตอร์ อู่ ประธานบริหารเครือธุรกิจ Wheelock และ Wharf Holdings หนึ่งในคณะที่ปรึกษารัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ในประเด็นที่เกี่ยวกับฮ่องกง
ปีเตอร์ อู่ ยกย่อง 'แคร์รี หล่ำ' ว่าเป็น 'ธิดาแห่งฮ่องกง' ซึ่งมีความตั้งใจดีในการผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว แต่เขาไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงในการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ประท้วง โดยระบุว่า นี่เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง และดูเหมือนจะยิ่งน่ากลัวขึ้นทุกวัน
เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ (SMCP) สื่อฮ่องกง รายงานว่าปีเตอร์ อู่ เป็นหนึ่งในกลุ่มนักธุรกิจอสังหาฯ ที่ออกมาต่อต้านการประท้วง โดยระบุว่า เป็นการชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย บ่อนทำลายเสถียรภาพฮ่องกง ทั้งยังสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจฮ่องกงในการปราบปรามการชุมนุมอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ประท้วงฮ่องกงยืนยันว่าจะรวมตัวกดดันรัฐบาลฮ่องกงต่อไป โดยจะนัดเคลื่อนไหวอีกครั้งในช่วงสุดสัปดาห์ 17-18 ส.ค. 2562 และมีแนวโน้มสูงมากว่าการประท้วงจะดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่ง
แม้การประท้วงจะเริ่มจากการต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากฮ่องกงไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ภายหลังได้มีการขยายประเด็นไปสู่ข้อเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปประชาธิปไตยในฮ่องกง ต่อต้านการแทรกแซงของจีนแผ่นดินใหญ่ในฮ่องกง และกดดันให้รัฐบาลฮ่องกงทำตามเงื่อนไข 4 ใน 5 ข้อที่กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงเรียกร้องมาตลอด นับตั้งแต่ตำรวจฮ่องกงใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมครั้งแรกในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา
สถานการณ์ประท้วงในฮ่องกงถูกจับตามองจากทั่วโลก เพราะฮ่องกงเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญในเอเชีย และเมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้ร่วมกันจัดงานเสวนาวิชาการเรื่อง "ฮ่องกงทำไมต้องประท้วง?" เพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยต่อประเด็นดังกล่าว
ผศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเสวนา กล่าวถึงปูมหลังของฮ่องกงยุคหลังปี 1997 ซึ่งเปลี่ยนจากที่เคยอยู่ในอาณัติของอังกฤษ กลับเข้ามาอยู่ภายใต้จีนอีกครั้ง แต่เป็นยุคที่ 'สาธารณรัฐประชาชนจีน' ได้ปฏิรูปและเปิดประเทศแล้ว แม้จะยังปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ แต่แนวทางการปกครองของพรรครัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนในยุคนี้ก็ไม่ใช่แนวทางเดียวกับสมัยเหมาเจ๋อตง แต่เป็น 'จีนที่ปฏิรูปไปแล้ว' และเข้าสู่ระบบตลาด
ส่วนฮ่องกงเป็นศูนย์กลางทางการเงินการธนาคารและเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก ดูเป็นเมืองที่สุดจะ 'ทุนนิยม' เมื่ออยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐบาลที่เรียกตัวเองว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แต่เป็นคอมมิวนิสต์ที่เข้าสู่ระบบตลาดแล้ว จึงมีสถานการณ์ย้อนแย้งหลายอย่างเกิดขึ้น เพราะรัฐชาติไม่ได้เป็นรัฐชาติแบบที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ แม้แต่'สังคมนิยม' และ 'พรรคคอมมิวนิสต์' ก็ไม่ใช่สังคมนิยมพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วๆ ไป เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างฮ่องกงกับระบบอาณานิคมอังกฤษ ก็ไม่ใช่อย่างที่คนทั่วไปเข้าใจหรือคาดหวัง
ยกตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านของไทยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะมีวันประกาศอิสรภาพหรือวันชาติ เพราะได้ต่อสู้เรียกร้องเอกราชมา และเคยมีประวัติศาสตร์อันขมขื่นกับเจ้าอาณานิคมเก่า เช่น ดัตช์ในอินโดนีเซีย ฝรั่งเศสในเวียดนาม แต่เรากลับได้เห็นภาพของผู้ชุมนุมประท้วงในฮ่องกงบางส่วนที่มีความโหยหายุคแห่งการเป็นอาณานิคม (อังกฤษ) เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้นักประวัติศาสตร์ที่สนใจศึกษาเรื่องการเกิดขึ้นของรัฐชาติสมัยใหม่ สงครามเย็น การปะทะสังสรรค์กันระหว่างแนวคิดสังคมนิยม และการปฏิรูปของจีน ให้ความสนใจในเรื่องนี้อย่างมาก
จุดเริ่มต้นของการประท้วงครั้งนี้ เริ่มจากการต่อต้านร่างกฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดนของฮ่องกง ซึ่ง ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจีน และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เข้าร่วมการเสวนา อธิบายว่า ก่อนปี 1997 ฮ่องกงเป็นอาณานิคมของอังกฤษ จึงใช้กฎหมายภายในของอังกฤษ แต่พอฮ่องกงกลับคืนสู่จีนแผ่นดินใหญ่ก็ต้องพยายามปรับตัวให้เป็นกฎหมายภายในของฮ่องกงเอง และมีการออกกฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดนฮ่องกงเช่นกัน
หลังปี 1997 มีการระบุว่าฮ่องกงจะส่งผู้ร้ายข้ามแดนในกรณีที่มีการตกลงในสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนร่วมกัน และฮ่องกงตกลงเซ็นสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับ 20 ประเทศ มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนประมาณร้อยคน โดยที่ส่งกลับไปเยอะที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา
ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้จึงอยู่ที่ 'ฮ่องกง' เป็นการปกครองแบบ 1 ประเทศ 2 ระบบ คือ อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของจีน ขณะเดียวกันฮ่องกงมีระบบกฎหมายที่เป็นอิสระของตัวเอง ภายใต้กรอบ basic law หรือ 'ธรรมนูญการปกครองฮ่องกง' เพราะฉะนั้น จีนไม่สามารถที่จะขอให้ฮ่องกงส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้ได้ จนกว่าจะมีสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายระหว่างฮ่องกงและจีนขึ้นมา ซึ่งก็มีความพยายามเจรจาทำสนธิสัญญากันมาตลอดตั้งแต่ปี 1997 แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ เนื่องจากฮ่องกงไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของจีนแผ่นดินใหญ่ ขณะเดียวกัน จีนแผ่นดินใหญ่ในตอนแรกก็ไม่ได้เห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ไม่คิดว่าจะมีปัญหา
"จนกระทั่งเกิดกรณีวัยรุ่นฮ่องกงไปเที่ยวไต้หวันกับแฟน แล้วถูกกล่าวหาว่าฆ่าแฟนที่ไต้หวัน เสร็จแล้วหนีกลับมาที่ฮ่องกง ประเด็นของเรื่องก็คือการกระทำความผิดมันเกิดขึ้นที่ไต้หวัน เพราะฉะนั้น ศาลฮ่องกงไม่มีเขตอำนาจในการพิจารณา ฮ่องกงไม่ได้มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับไต้หวันหรือจีน ทีนี้มันก็จะมีคำถามว่าแล้วจะทำยังไงที่จะส่งคนนี้กลับไปดำเนินคดีที่ไต้หวัน อันดับแรกบอกว่าจะให้ฮ่องกงไปทำสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับไต้หวัน ก็ไม่ได้ เพราะว่าฮ่องกงอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของจีน และโดยระบบแล้วก็มีการระบุว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน จีนแผ่นดินใหญ่ไม่ยอมแน่นอนที่จะให้ไปทำสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกัน ... "
"นักกฎหมายก็เลยบอกว่าถ้าอย่างนั้นก็แก้กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนของฮ่องกงก็แล้วกัน โดยที่เราจะใส่เข้าไปว่าให้สามารถส่งผู้ร้ายข้ามแเดนเป็น case by case ได้"
อย่างไรก็ตาม คนฮ่องกงจำนวนมากขาดความเชื่อมั่นกับกระบวนการยุติธรรมของจีน แม้ว่ากระบวนการยุติธรรมของจีนในรอบ 40 ปีที่ผ่านมาจะมีการพัฒนามาโดยตลอด และมีนักวิชาการต่างชาติเคยประเมินว่า กระบวนการยุติธรรมจีนมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ไม่มีปัญหาอะไร แต่จะมีปัญหาทันทีถ้าหากเป็นคดีการเมือง ซึ่งหมายถึงคดีที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีธงชัดเจนว่าต้องการจะจัดการกับเรื่องนี้
ขณะเดียวกัน ในระบบศาลของประเทศจีนนั้น ศาลจีน 'ไม่ได้เป็นอิสระ' แต่อยู่ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และในระบบศาลจะมีคณะกรรมการพรรคอยู่ด้วย จึงเกิดความกังวลขึ้นในสังคมฮ่องกงว่า ถ้าหากใครที่เป็นศัตรูกับรัฐบาลจีนก็อาจจะถูกใช้กลไกนี้ และรัฐบาลจีนอาจจะขอให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกลับไป และฮ่องกงก็จำเป็นที่จะต้องส่ง ไม่อาจขัดจีนได้
'ประภาภูมิ เอี่ยมสม' ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ 'วอยซ์ออนไลน์' ซึ่งติดตามรายงานการประท้วงฮ่องกงจากสถานที่จริง นับตั้งแต่การประท้วงร่มเมื่อปี 2014 ซึ่งเป็นการประท้วงใหญ่ในฮ่องกงครั้งแรก รวมถึงการประท้วงครั้งใหม่นี้ มองว่า สิ่งที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดคือการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุม
"เมื่อปี 2014 เป็นการประท้วงต่อเนื่อง อยู่ยาวกันทั้งวันทั้งคืน ใครที่อยู่ยาวตรงนั้นได้ ก็อยู่ไปเรื่อยๆ ซึ่งมันกินเวลายาวนานหลายเดือน ... ทำให้สุดท้ายแล้ว คนน้อยลงเรื่อยๆ ทำให้คนรู้สึกว่า สุดท้ายแล้วมันก็ฝ่อ และแม้ว่าตอนนั้นเราจะได้รับข้อมูลจากสื่อหรืออะไรต่างๆ ว่าการประท้วงเมื่อปี 2014 ไม่มีแกนนำที่ชัดเจน แต่เราก็จะเห็นอยู่ว่าในช่วงแรกๆ จะมีอาจารย์มหาวิทยาลัย แล้วหลังๆ ก็เป็นโจชัว หว่อง กับนาธาน เหลา เป็นหลัก จะเห็นว่าคนเหล่านี้แหละที่พยายามจะเป็นคนควบคุมว่าทิศทางในการประท้วงจะไปทางไหน เพราะฉะนั้น การประท้วงมันจึงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำด้วยกัน อยู่ตรงนี้ด้วยกันไปเรื่อยๆ"
"ปีนี้เขาก็เรียนรู้จากการประท้วงเมื่อปี 2014 ว่าเขาไม่สามารถจะชุมนุมประท้วงยืดยาวกันขนาดนั้นได้ เพราะฉะนั้นเขาก็จะใช้แท็กติกแบบทุกวันนี้ ก็คือเราจะประท้วงกันวันเสาร์อาทิตย์ เสร็จแล้ววันจันทร์ถึงศุกร์ เราก็ไปใช้ชีวิตอะไรของเราไป เสร็จแล้วเสาร์อาทิตย์เราก็มาใหม่ มันก็ทำให้ผู้ชุมนุมไม่ได้เหนื่อยติดต่อกันนานมาก"
ประภาภูมิมองว่า การประท้วงฮ่องกงในครั้งนี้มีการจัดการที่ดีกว่าปี 2014 และมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆ ในระหว่างการชุมนุมประท้วง ไม่ว่าจะเป็นคู่มือการรับมือว่า ถ้าเจอแก๊สน้ำตาหรือโดนจับกุมควรทำอย่างไร แม้ว่าการประท้วงในครั้งนี้จะไม่มีแกนนำหลักเหมือนอย่างปี 2014
ชาวฮ่องกงที่เข้าร่วมการประท้วงในปี 2019 ใช้วิธีการที่ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ชูมอตโตที่ได้แรงบันดาลใจจากบรูซ ลี ซึ่งเคยกล่าวไว้ว่า 'จงพลิ้วไหวดุจสายน้ำ' ด้วยเหตุนี้ ถ้าใครถนัดอะไร ก็สู้ไปแบบนั้น คนที่มีความรู้เรื่องกฎหมายก็ไปแจกใบปลิวบอกวิธีการว่าถ้าผู้ร่วมการประท้วงโดนจับต้องทำอย่างไรบ้าง หรือถ้าใครมีทุนทรัพย์ ก็จะไปซื้ออุปกรณ์ป้องกันแก๊สน้ำตาและสเปรย์พริกไทยต่างๆ ไปให้กับผู้ชุมนุม ด้วยความรู้สึกว่า สิ่งเหล่านี้เป็นการทำ 'เพื่อฮ่องกง'
การประท้วงฮ่องกงกำลังย่างเข้าสู่สัปดาห์ที่ 12 และบรรยากาศการชุมนุมเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงแรกอย่างมาก โดย 'ประภาภูมิ' มองว่า หลังจากที่ตำรวจฮ่องกงยิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมลูกแรกเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.จึงเป็นชนวนให้ชาวฮ่องกงนับล้านคนออกมาประท้วงในวันที่ 12 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันที่สภานิติบัญญัติฮ่องกงมีกำหนดจะพิจารณาปรับแก้ร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนฯ
ผู้ชุมนุมหลายรายบอกเล่าว่า จำเป็นจะต้องออกมารวมตัวกัน เพื่อแสดงให้รัฐบาลฮ่องกงเห็นว่า ผู้ประท้วงไม่กลัวว่าจะถูกรัฐบาลปราบ หรือเจอแก๊สน้ำตาแล้วจะฝ่อ แม้ 'แคร์รี หล่ำ' จะออกมาประกาศว่ารัฐบาลจะระงับพิจารณาร่าง ก.ม. ก็ไม่ทำให้ผู้ชุมนุมประท้วงยอมถอยแต่อย่างใด เพราะมองว่าเป็นเพียงการระงับร่างกฎหมาย แต่ยังไม่ใช่การถอดถอนอย่างถาวร ทำให้ชาวฮ่องกงออกมาชุมนุมมากกว่าเดิม และสื่อรายงานว่าน่าจะสูงกว่า 2 ล้านคน
บรรยากาศการชุมนุมหลังจากรัฐบาลฮ่องกงมีท่าทียอมถอย ทำให้ผู้ชุมนุมค่อนข้างคึกคักมากๆ มีความหวัง และยังมองโลกในแง่ดี แต่ความหวังเหล่านั้นกลายเป็นความสิ้นหวังในช่วงวันที่ 1 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันครบรอบ 22 ปี การส่งมอบฮ่องกงคืนจีน และรัฐบาลฮ่องกงไม่มีการตอบสนองอะไรมากกว่านั้นอีก ทำให้ผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งบุกรัฐสภา และเป็นเหมือนจุดเปลี่ยนที่หลายคนมองว่าความหวังช่วงกลางเดือนมิถุนายน "มันหมดแล้ว" กลายเป็น "ม็อบนี้ขับเคลื่อนด้วยความสิ้นหวัง"
เมื่อการประท้วงดำเนินต่อมาเรื่อยๆ และการชุมนุมไม่มีแกนนำที่ชัดเจน ทั้งยังมีการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงกับตำรวจ รวมถึงกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลที่ไม่พอใจกลุ่มผู้ประท้วงออกมาส่งเสียงบ้าง ทำให้คนบางกลุ่มรู้สึกว่า จำเป็นจะต้องใช้ความรุนแรงในการประท้วง อาจต้องใช้อิฐ ใช้ระเบิดเพลิงโต้กลับตำรวจบ้าง เพื่อจะได้ไม่รู้สึกว่าถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียว
แม้ว่ากลุ่มเหล่านี้จะไม่ใช่คนกลุ่มใหญ่ แต่ผู้ชุมนุมทั้งหมดก็ไม่ได้พยายามจะตีตัวออกห่างจากคนที่ใช้ความรุนแรง ต่างกับการประท้วงที่เคยรู้จักในประเทศไทย ที่พอเกิดเรื่องอะไรแบบนี้ขึ้นมาจะมีการบอกว่า "คนนี้ไม่ใช่พวกเรา" แต่ผู้ประท้วงในฮ่องกงครั้งนี้จะมองว่า "โอเค นี่เป็นความรับผิดชอบของเราร่วมกัน"
ผศ.ดร.วาสนา กล่าวในฐานะนักประวัติศาสตร์ว่า การประท้วงที่ฮ่องกงเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นที่ไหนมาก่อนในโลก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเราเพิ่งเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ตบูมกันมาในยุคศตวรรษที่ 21 จึงมีโอกาสได้เห็นนวัตกรรมเกิดขึ้นในการประท้วง เช่น ประท้วงเฉพาะเสาร์อาทิตย์ มีการตั้งหน่วยสกัดที่จะเอาน้ำไปราดแก๊สน้ำตา และการไม่มีแกนนำชัดเจนก็ทำให้ถูกปราบปรามได้ยากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีนวัตกรรมเกิดขึ้นเยอะตามความสร้างสรรค์แต่ละคน แต่ท้ายที่สุดก็ทำให้ควบคุมไม่ได้ ไม่มีใครควบคุมกัน เมื่อผู้ชุมนุมประท้วงบุกเข้าไปในรัฐสภา ทำให้ชาวฮ่องกงอีกหลายคนรู้สึกว่า นี่อาจเป็นความชอบธรรมที่ฝ่ายรัฐจะเข้ามาปราบปราม เพราะว่ามีความรุนแรงและออกนอกกรอบไปแล้ว ซึ่งการปิดสนามบินก็เช่นเดียวกัน คนจำนวนมากทั้งที่อยู่ในฮ่องกงและข้างนอกก็จะมองว่า นี่เป็นการสร้างความเดือดร้อนแล้ว
ขณะที่ ดร.อาร์ม มองว่า เรื่องที่เป็นชนวนให้การประท้วงยืดเยื้อขนาดนี้เป็นเรื่องของความ 'ไม่เชื่อใจกัน' ระหว่างทั้งสองฝ่าย และข่าวสารข้อมูลที่ได้รับไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ แม้เรื่องจะเริ่มต้นที่กฎหมาย พอผ่านไปสองเดือน ฝ่ายรัฐบาลฮ่องกงประกาศว่า 'killed' หรือกำจัดกฎหมายไปแล้ว แต่ไม่ได้ใช้คำว่า 'ถอดถอน' อย่างเป็นทางการ ทำให้ผู้ประท้วงไม่หยุดคลื่อนไหว เพราะมองว่าเรื่องกฎหมายเป็นแค่ 1 ใน 5 เงื่อนไขที่ผู้ชุมนุมประท้วงเรียกร้องเท่านั้น
เงื่อนไขอื่นๆ ที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องกับทางการฮ่องกง ได้แก่ 2. ไม่ให้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม 3. เลิกเรียกการชุมนุมว่าเป็นการก่อจลาจล 4. ให้ตั้งกรรมการอิสระของกรมตำรวจมาตรวจสอบว่าตำรวจทำเกินสมควรหรือเปล่าในการจัดการผู้ชุมนุม และ 5. เรียกร้องให้เริ่มกระบวนการปฏิรูประบบเลือกตั้ง แต่ 'แคร์รี หล่ำ' ยืนยัน ไม่ทำตามข้อเรียกร้องอีก 4 ข้อที่เหลืออย่างแน่นอน โดยระบุว่า "จะต้องรักษากฎหมายของฮ่องกงเอาไว้"
ในฝั่งของผู้ชุมนุม ประภาภูมิสะท้อนว่า การประท้วงที่ไม่มีแกนนำจะทำให้หยุดยั้งได้ยาก แต่ผู้ประท้วงจำนวนมากชอบการเคลื่อนไหวแบบนี้ ชอบการที่ไม่มีแกนนำ ถ้าใครคิดว่าจะทำอะไรได้ ก็ทำไปเลย เน้นการดูหน้างาน เพราะปี 2014 ก็พิสูจน์มาแล้วว่า พอเชื่อแกนนำ สุดท้ายก็ไม่ได้อะไร และผลพิสูจน์ที่หนักมากๆ ก็คือตอนที่เลือกตั้งท้องถิ่นแล้ว 'พรรคเดโมซิสโต' ฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย ซึ่งก่อตั้งโดยแกนนำการประท้วงร่มเมื่อปี 2014 ไม่สามารถเอาชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายได้เหมือนอย่างที่คาดการณ์ไว้ในตอนแรก
'โจชัว หว่อง' แกนนำการประท้วงร่มปี 2014 ทวีตข้อความเมื่อผู้ประท้วงบุกรัฐสภา โดยระบุว่า แม้เขาจะไม่ได้อยู่ตรงนั้นด้วย แต่ก็นับถือผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ เพราะรู้ว่าเข้าไปแล้วจะต้องเจออะไรบ้าง ซึ่งหมายถึงผลที่จะตามมาในแง่ของกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม การตั้งข้อหาแกนนำการชุมนุมเมื่อปี 2014 ค่อนข้างเบากว่าครั้งนี้มาก เพราะการประท้วงครั้งนี้เริ่มขึ้นได้ไม่นาน 'แคร์รี หล่ำ' และรัฐบาลฮ่องกงก็ออกมาระบุชัดเจนว่า ผู้ชุมนุมเหล่านี้เป็นผู้ก่อการจลาจล และไม่ได้มองว่าเป็นการประท้วงทั่วๆ ไป แต่มองว่าเป็นการก่อความวุ่นวาย ซึ่งถ้าจะดำเนินคดีกันจริงๆ จะโดนโทษหนักมาก
คนที่เคยเคลื่อนไหวเป็นแกนนำในการประท้วงร่มก่อนหน้านี้ เช่น 'เอเวอรี่ อึง' ออกมาพูดตลอดว่าการชุมนุมไม่ควรจะใช้ความรุนแรงหรือทำลายทรัพย์สินของรัฐบาลไปมากกว่านี้ เนื่องจากสุดท้ายแล้ว คนที่จะเสียก็คือผู้ประท้วงเอง แต่ไม่เป็นผลมากนัก เพราะผู้ชุมนุมครั้งนี้ไม่ต้องการฟังใครในฐานะแกนนำ และพร้อมจะเคลื่อนไหวด้วยตัวเองต่อไป แม้จะยังมองไม่เห็นหนทางว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร
ผศ.ดร.วาสนา ระบุว่ารัฐบาลปักกิ่งเขียนอย่างชัดเจนในมาตรา 45 และ 68 ของธรรมนูญของฮ่องกง ซึ่งครอบคลุมการปกครองฮ่องกงในช่วง 50 ปีหลังกลับคืนสู่จีน โดยกำหนดว่า จุดหมายปลายทางการปกครองฮ่องกงต้องอยู่ที่ universal suffrage ซึ่งหมายถึงการผลักดันให้ชาวฮ่องกงมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง แต่กลับไม่ได้ระบุกรอบเวลาที่ชัดเจนว่าจะไปถึงจุดนั้นในปีไหน ด้วยเหตุนี้ 'หนึ่งประเทศ สองระบบ' จึงกลายเป็นความไม่ชัดเจน
ก่อนหน้านี้ในปี 2007 สภาประชาชนแห่งชาติจีนเคยบอกว่า การเลือกตั้งผู้บริหารฮ่องกงในปี 2017 อาจจะใช้ระบบ universal suffrage แต่ปี 2014 เกิดการประท้วงร่มในฮ่องกง เพราะไม่พอใจที่จีนกำหนดว่าจะให้ชาวฮ่องกงเลือกตั้งผู้บริหารได้ แต่กลับมีเงื่อนไขว่าแคนดิเดตต้องผ่านการคัดเลือกของจีนก่อน ทั้งยังมีเงื่อนไขว่าแคนดิเดตจะต้อง "รักทั้งจีนและฮ่องกง" จึงมองว่านี่ไม่ใช่การเลือกอย่างเสรี
ส่วนการเลือกตั้งฮ่องกงที่ผ่านมาเป็นการเลือกผ่านคณะกรรมการเลือกตั้ง 2,000 กว่าคน ซึ่งส่วนใหญ่รัฐบาลปักกิ่งเป็นผู้มีอิทธิพลที่เลือกแคนดิเดตเหล่านี้มา จึงมีประเด็นเรื่องแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง และเป็นสาเหตุที่คนฮ่องกงไม่เชื่อมั่นร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนครั้งนี้ เพราะมองว่า สุดท้ายแล้วผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงก็ต้องอยู่ใต้อำนาจของรัฐบาลปักกิ่งอยู่ดี
ข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง คือ สมัยของอดีตประธานาธิบดีหูจิ่นเทา ซึ่งเป็นผู้นำจีนช่วงปี 2003-2013 ฮ่องกงยังไม่เคยมีการเลือกตั้งก็จริง แต่ถือว่ามีเสรีภาพค่อนข้างมาก มีภาคประชาสังคมที่แอกทีฟ และกฎหมายฮ่องกงปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การรายงานข่าว และการประท้วงที่ดำเนินไปอย่างสงบ ซึ่งเป็นสิ่งที่จีนแผ่นดินใหญ่ไม่มี
อย่างไรก็ตาม หลังยุคหูจิ่นเทา บรรยากาศของจีนแผ่นดินใหญ่มีความชาตินิยมและอนุรักษนิยมกว่าเดิม และในฮ่องกงก็มีคนที่ถูกมองจากรัฐบาลจีนว่าเป็นพวก 'หัวรุนแรง' มากขึ้น เพราะมีความคิดจะแยกประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: