ไม่พบผลการค้นหา
'วิษณุ' ไม่รับร่วมคณะแก้รัฐธรรมนูญ แต่พร้อมให้คำปรึกษาเป็นกรณี เหตุวันนี้สบายใจ-พ้นออกมาแล้ว ไม่อยากกลับไปเป็นบุคคลสาธารณะ

วันที่ 24 ก.ย. วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกฯ ให้สัมภาษณ์กรณี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ อยากทาบทามมาร่วมคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ว่า ขอบพระคุณมากที่ยังนึกถึง ซึ่งถือเป็นงานใหญ่ใช้เวลาและยุ่งยาก ซึ่งข้อสำคัญคือความเห็นที่แตกต่าง ที่อาจจะเกิดความขัดแย้ง 

"ผมพ้นออกมาจากสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็ไม่ควรจะกลับไปเป็นบุุคคลสาธารณะอีก เพราะการไปทำงานนี้ คือเป็นไปบุคคลสาธารณะ ทุกวันนี้ก็สบายอกสบายใจอยู่แล้ว" 

เมื่อถามว่า หากมาขอคำแนะนำเป็นบางครั้งบางคราว วิษณุ บอกว่ายินดี ซึ่งที่ผ่านมาก็มีรัฐมนตรีที่เคยอยู่ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งคุ้นเคยกันอยู่ ท่านก็โทรมาถามแบบที่สื่อฯสอบถามว่าสมัยนั้นสมัยนี้เป็นอย่างไร แต่ไม่ถามว่าควรจะอย่างไรเพราะท่านตัดสินใจเองได้ และถามเรื่องในอดีต อาทิ มติ ครม.เก่าๆ ซึ่งก็มีคนโทรมาถามบ่อยๆทุกวัน

ในส่วนความเห็นแนวทางการแก้รัฐธรรมนูญ วิษณุเผยเรื่องนี้ตนตอบไม่ถูก แต่ให้เขาคิดกันเองเอง เพราะว่ามันยุ่งยากซับซ้อน แต่ข้อสำคัญหากจะใช้วิธีไหนก็ตามก็ควรจะหลบหลีกการทำประชามติหลายครั้งและตนเห็นด้วยกับแก้ไขเป็นรายมาตรา ทีละหลายๆมาตรา ก็ได้เพราะรัฐธรรมนูญห้ามไว้แต่เพียงว่า ในกรณีที่เป็นการแก้ไขหมวด 1 ทั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หมวด 15 เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  เรื่องการแก้ไขอำนาจและหน้าที่ขององค์กรอิสระ และการแก้ไขคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามขององค์กรอิสระ  โดยเรื่องเหล่านี้ เมื่อแก้เสร็จวาระ1 วาระ2 และ วาระ3 ก่อนที่จะนำขึ้นต้องทำประชามติ 

วิษณุ กล่าวว่า การแก้ไขที่ควรทำคือ ถ้าต้องการแก้เกี่ยวกับองค์กรอิสระ และไปกระทบกับเรื่องอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ ตรงนี้ต้องทำประชามติ เพราะฉะนั้นเก็บไว้ทำคราวหลังได้ไหม ตอนนี้ถ้าอยากแก้ไปก่อนคือหมวด 3 เรื่องสิทธิเสรีภาพ ซึ่งประชาชนต้องการ และหมวด 4 หน้าที่ของรัฐ หมวด 5 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ หมวด 7 รัฐสภา

ซึ่งแก้ได้ตามใจชอบไม่ต้องทำประชามติ หมวด 8 ครม. หมวด 9 ผลประโยชน์ขัดแย้งกัน หมวด10 เรื่องศาล หมวด 11 องค์กรอิสระ ซึ่งเรื่องเหล่านี้แก้ได้หมด แต่พอไปถึงองค์กรอิสระอำนาจหน้าที่ และคุณสมบัติต้องห้ามมันจะไปเจอเรื่องทำประชามติคืออย่าพึ่งไปทำ 

เมื่อถามว่า การทำประชามติควรทำครั้งเดียวตอนเสร็จแล้วใช่หรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า ที่ต้องทำประชามติเพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 256 กำหนดไว้ ถ้าคุณแก้มาตรา256 ว่าการแก้รัฐธรรมนูญไม่ต้องทำประชามติ มันก็ไม่ต้องทำประชามติ แต่การจะแก้หนแรกในเรื่องมาตรา 256 ต้องทำประชามติเสียทีหนึ่งก่อนและจะลบล้างเรื่องประชามติไปได้ 

เมื่อถามย้ำว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ต้องทำประชามติ 3-4 ครั้งใช่หรือไม่ วิษณุ กล่าวย้ำว่า ก็ต้องแก้ไขมาตรา 256 เสียก่อน พอเสร็จวาระ 1-3 ก็นำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไปจะไม่ได้เจอเรื่องทำประชามติ แต่ถ้าแก้ตามแนวทางของรัฐบาลก็ต้องทำประชามติ

1.คุณก็ต้องทำประชามติแก้ทั้งฉบับว่าเห็นด้วยหรือไม่

2.ต้องตั้งสสร.

3. ถ้า สสร. ต้องไปทำประชามติทั้งประเทศอีก 

ซึ่งการทำประชามติครั้งหนึ่งประมาณ 3 พันล้านบาท ฉะนั้นก็แก้ที่มาตรา256 แต่การแก้มาตรา256 หากพูดกันไม่ดีเพราะอาจไม่ผ่าน เพราะต้องผ่านความเห็นของส.ว.หรือไม่เขาก็กลัวว่าจะไปแก้อะไรต่อมิอะไรกัน อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยการทำประชามติควรทำ 2 ครั้งก็ยังดี คือต้องเริ่มแก้ไข และตอนจบที่จะไปประกาศใช้