ไม่พบผลการค้นหา
วงเสวนา ‘ศาลและความยุติธรรม’ ชี้ ศาลถูกแทรกแซงโดยการเมือง ระบอบนิติรัฐถูกทำลาย การบังคับใช้ ‘ม.112’ เป็นปัญหาต่อเสรีภาพ เสื่อมสุขภาพ ‘ประชาธิปไตย’ แนะตุลาการ ต้องมีใจที่เป็นธรรม - ‘ใบปอ’ ฝากข้อความถึงวงเสวนา ห่วงนักโทษทางการเมืองคดีอื่นๆ

วันที่ 27 ก.ค. 2565 ที่ห้องประชุมโฉมฉาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวงเสวนาวิชาการ “ศาลและความยุติธรรม ?” โดยเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อความยุติธรรมและสันติภาพ นำโดย ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พัชร นิยมศิลป์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) และพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยมี กฤษณ์พชร โสมณวัตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินรายการ 


‘พูนสุข’ กางสถิติผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุม ชี้ ‘คสช.’ อยู่ในอำนาจ ‘ระบอบนิติรัฐ’ ถูกทำลาย จวก ศาล จากเป็นกลาง สู่คู่กรณีนักโทษทางการเมือง 

พูนสุข พูนสุขเจริญ ในฐานะทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ในระยะ 8 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามายึดอำนาจ ‘ระบอบนิติรัฐ’ ถูกทำลายลงมากที่สุด โดยจากการเก็บสถิติหลังวันที่ 18 ก.ค. 2563 จนถึงปัจจุบัน พบว่า หลังจากการเลือกตั้ง 2562 มีการยุบพรรคอนาคตใหม่ และรัฐบาลประกาศ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พบว่ามีการใช้มาตรา 116 มากที่สุด เนื่องจากมีลักษณะการยกเว้นบังคับใช้มาตรา 112 กลายๆ 

พูนสุข เสวนาศาล ยุติธรรม C2A2799AF7B.jpeg

หากแต่หลังจากน้นมีการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีประกาศของสำนักนายกฯ ในวันที่ 19 พ.ค. 2563 ที่จะดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมทุกมาตรา ทำให้มีประชาชนถูกดำเนินคดี 1,080 คนในข้อหาฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉินฯ และสถิติต่อมาคือคดีมาตรา 112 ที่มีราวๆ 200 คดีนับตั้งแต่ คสช. เข้ามามีบทบาทในทางการเมือง ต่อมาคือพ.ร.บ.คอมพ์ และพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ซึ่งบัญญัติไว้ว่าไม่สามารถใช้ได้หากมีการใช้พรก.ฉุกเฉินฯ แต่ทำไมถึงมีการใช้พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะในการดำเนิคดี นั่นเป็นเพราะเกิดจากการลักลั่นที่ต้องการควบคุมการชุมนุม 

พูนสุด แจงอีกว่า ในจำนวนคดีที่ถูกใช้ควบคุมการชุมนุมนั้น คดีม.112 ถูกดำเนินคดีไปแล้ว 206 คนในจำนวน 221 คดี โดยเป็นประชาชนไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 104 คดี ส่วนที่เหลือเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้กล่าวหา ซึ่งแบ่งเป็นการปราศรัยในการชุมนุม 44 คดี การแสดงออกอื่นๆ 57 คดี แสดงความคิดเห็นบนออนไลน์ 113 คดี และไม่ทราบสาเหตุอีก 7 คดี นอกจากนี้ยังมีคดีฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉินฯ อีก 642 คดี จากจำนวน 1,464 คน 

พูนสุข กล่าวถึงคดีการละเมิดอำนาจศาลว่า ณ ปัจจุบันมีอย่างน้อย 35 คน จาก 19 คดี และคดีดูหมิ่นศาล 25 คนในจำนวน 6 คดี ซึ่งคดีต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นในห้องพิจารณา และบางส่วนเกิดนอกห้องศาล ข้อน่าสังเกตคือ คดีการละเมิดอำนาจศาลถูกใช้เป็นเครื่องมือทำให้จำเลย หรือนักกิจกรรมทางการเมืองไม่สามารถเคลื่อนไหว หรือแสดงออกอย่างอื่นที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ศาลได้ 

พูนสุข ยกตัวอย่าง คดีของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘ทะลุฟ้า’ ที่จำเลยทั้ง 6 คน ไปขีดเขียนเพื่อแสดงออกในห้องพิจารณคดี ทำให้ถัดมาศาลได้กดดันทนายของทั้ง 6 คน เพื่อให้นำตัวมาศาล และทำการเพิกถอนสิทธิประกันตัว และมองว่าเป็นการละเมิดศาล ก่อนที่จะจับทั้งหมดเข้าเรือนจำโดยไม่มีการไต่สวน ทั้งที่ในห้องพิจารณาคดีก็มีกล้องวงจรปิด แต่ผู้พิพากษาไม่แน่ใจว่าดูหรือไม่ แต่เลือกใช้วิธีการเหมารวม สุดท้ายมีการพิจารณาพบว่า จำเลยรับสารภาพ 3 คน และที่เหลือไม่เกี่ยว จึงตั้งข้อสังเกตว่า ศาลจะเป็นกลางได้หรือไม่ หรือเป็นคู่กรณีเสียเอง 

พูนสุข ยกตัวอย่างของการปล่อยตัว ‘ตะวัน’ ที่มีกำไล EM ว่า กำไลดังกล่าวไม่เคยถูกนำมาใช้ในคดีทางการเมือง ซึ่งก่อนหน้านั้นจะใช้ในคดียาเสพติด ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมาก็เริ่มมีการนำกำไล EM มาใช้กันอย่างแพร่หลายราวๆ 70 กว่าคนเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง และมีมาตรการการกำหนดระยะเวลาห้ามออกนอกเคหะสถาน ซึ่งเป็นปัญหาว่า หากตะวันไม่มีพ่อแม่เลี้ยงดู ไม่สามารถออกไปทำงานได้ แล้วเขาจะยังชีพแบบไหน

อีกทั้งข้องสังเกตในการประกันตัวที่ คำสั่งในการอนุญาตหรือไม่นั้น ศาลระบุชัดเจนในคำสั่งว่า ‘เป็นมติของที่ประชุมผู้บริหารศาล’ คำถามคือ ผู้พิพากษามีอำนาจในการปล่อยตัว แต่ทำไมต้องเป็นผู้บริหารศาล และทำไมผู้บริหารศาลเหล่านั้นถึงไม่กล้าลงชื่อในคำสั่ง 

“ถ้าสังเกตในระยะ 2 ปีที่่ผ่านมา การให้ประกันหรือไม่เป็นปัจจัยสัมพันธ์ในเรื่องของความกล้าใช้เสรีภาพในการแสดงออก การคุมขังระยะเวลานาน มีการบีบคลายของการใช้กฎหมาย จนนักกิจกรรมทางการเมืองแทยไม่ออกมาเคลื่อนไหวแล้ว การกักขังยาวนานทำให้ไม่เกิดกลุ่มใหม่ๆ ที่ออกมาทำกิจกรรมอีก” พูนสุข กล่าว 


‘ยิ่งชีพ’ เผย การใช้ ม.112 เป็น ‘ระลอกคลื่น’ ทางการเมือง ชี้ การเลือกตั้ง มีผลต่อนิติบัญญัติในการต่อรองอำนาจของประชาชน

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ในฐานะสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (ไอลอว์) กล่าวว่า การใช้คดี ม.112 นั้นมีความสัมพันธ์กับการเมือง และเป็นระลอกคลื่นที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ช่วงปี 2553 ที่มีการชุมนุมของคนเสื้อแดง และพุ่งสูงสุดในปี 2557 ช่วงที่ คสช. เข้ามายึดอำนาจรัฐประหาร ต่อเนื่องมาจนถึง คลื่นลูกที่ 3 คือในช่วงปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ที่มีถึง 206 คดี โดย อย่างในกรณีของ อัญชัน ที่ถูกฟ้องทั้งสิ้น 29 กรรม และตัดสินจำคุก 87 ปี ถือว่าขัดต่อโทษขั้นต่ำของคดี ม.112 ที่กำหนดโทษจำคุกไว้ 3-15 ปี เท่านั้น 

ยิ่งชีพ กล่าวอีกว่า คดี ม.112 เกิดขึ้นจากโพสต์ข้อความในออนไลน์กว่า 111 คดี ที่ดำเนินคดีกับประชาชนธรรมดา ไม่ใช่คดีดัง หรือเป็นแกนนำ และคดีเหล่านี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาคดี และตนเชื่อว่า หากไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ปลายปีนี้จะมีประชาชนต้องเดินเข้าเรือนจำจากคดี ม.112 อีกไม่น้อย แต่เหล่าผู้พิพากษาเอง ก็พยายามพิจารณาอย่างเป็นประโยชน์ที่สุด อย่างน้อยก่อนหน้านี้ศาลตัดสินให้ กรณีพูดถึงรัชกาลที่ 9 นั้น ให้ไม่เข้าข่าย ม.112 ซึ่งนี่ถือเป็นการพยายามในการผดุงสิทธิมนุษยชน 

ยิ่งชีพ เสวนาศาล ยุติธรรม E-A8E3-0D7B86B9B999.jpeg

นอกจากนี้ ยิ่งชีพ ยังพูดถึงหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ว่า หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะสามารถช่วยกำกับการทำหน้าที่ของศาลได้ อย่างน้อยที่สุดคือ การแก้ไขให้ไม่ต้องมีขั้นต่ำในการกำหนดโทษ หรือศาลอาจจะมีคำพิพากษาให้เหลือเพียง 15 วันก็เป็นได้ หรือยิ่งไปกว่านั้นคือการแก้ไขหรือยกเลิก ม.112 

ซึ่งถือเป็นอำนาจที่ประชาชนสามารถกำกับได้โดยตรง ผ่านการเลือกตั้งครั้งถัดไป หากมีพรรคการเมืองที่มีนโยบายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 112 อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะแก้ให้โทษสูงขึ้น ลดลง หรือยกเลิก ประชาชนจะมีสิทธิเลือกได้ด้วยตัวเอง เป็นอีกทางหนึ่งที่ประชาชนจะสามารถกำกับสามารถได้ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ โดยการใช้สิทธิเลือกตั้งว่าเราอยากจะเห็นกฎหมายมาตรา 112 เป็นอย่างไร


'พัชร' ชี้ ม.112 ถูกใช้จำกัดด้านเนื้อหาในการชุมนุม ทำระบอบประชาธิปไตย ‘เสื่อมสุขภาพ’ 

ด้าน พัชร นิยมศิลป์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความน่ากลัวของการใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะคือ รัฐมีเครื่องมือทางกฎหมายเพื่อใช้จำกัดเสรีภาพในการชุมนุม โดยกำกับผ่านเนื้อหาในการชุมนุม ซึ่งไปบอกว่า ประชาชนไม่สามารถชุมนุมเรื่องนี้ได้ เรื่องแบบนี้ไม่ควรทำ และที่สำคัญที่สุดเนื้อหารในการชุมนุมต้องเป็นหลักสำคัญในการรักษาสังคมประชาธิปไตย 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในการใช้ ม.112 เข้าควบคุมการจำกัดเนื้อหาในการชุมนุม เป็นปัญหากับการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า เนื้อหามันถูกใจผู้มีอำนาจหรือไม่ มันอยู่ที่อัตวิสัย หากมันกระทบต่อผู้มีอำนาจ เสรีภาพในการชุมนุมจะไม่เป็นเสรีภาพ กลายเป็นอภิสิทธิ์สำหรับคนบางกลุ่มเท่านั้น

เสวนา ศาล ยุติธรรม  ยิ่งชีพ สมชาย F-4E74-8511-E992B0077285.jpeg

พัชร กล่าวว่า ในสมัยสมบูรณายาสิทธิราชย์ การวิพากษ์วิจารณ์บ้านเมืองในหนังสือพิมพ์นั้น มีการโต้ตอบระหว่างพระมหากษัตริย์ และนักข่าว แต่เมื่อในยุคปัจจุบัน พระมหากษัตริย์ไม่สามารถใช้อำนาจได้ หากไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ทำให้ต้องมีผู้รับผิด เช่น การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเงินการคลัง คนที่ต้องออกมารับผิดคงไม่พ้นนายกฯ และเมื่อนายกฯ ไม่อยากรับฟัง ก็จะไปหยิบ ม.112 มาใช้ เพื่อไม่ให้มีการชุมนุม 

พัชร เสริมว่า รายงานพิเศษของสหประชาชาติ ที่ระบุว่า กระบวนการประท้วง และการชุมนุม ทำให้ระบอบประชาธิปไตยมีสุขภาพที่ดี ทำให้คนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมือง หรืออย่างน้อยแสดงว่า ประชาชนต้องการอะไร ทำให้เหมือนในหม้อน้ำ หากน้ำเดือดต้องมีการปล่อยไอน้ำออกมา มิเช่นนั้นจะเกิดการระเบิด การชุมนุมก็เช่นกันต้องมาดูว่า ประชาชนไม่พอใจอะไร หากรัฐบาลมองการชุมนุมในแง่ที่ประชาชนอยากได้อะไร ก็สามารถทำนโยบายให้สังคมเราพัฒนาไปได้ไกลได้ 

หากแต่ถ้าเป็นรัฐของอำนาจนิยม ฉันอยากฟังคนที่อยากฟังเท่านั้น ฟังแต่คนที่มีผลประโยชน์ร่วม ถ้าเป็นลักษณะนี้ จะทำให้เกิดการจำกัดด้านเนื้อหาในการชุมนุม การประท้วงไม่ได้น่ากลัว หากใช้ให้มันถูก แต่ถ้าเกิดการประท้วงแล้วไม่มีการแก้ไขปัญหา มันก็เรื้อรัง และอาจพัฒนาไปสู่ความรุนแรง 

เสวนาศาล ยุติธรรม ยิ่งชีพ สมชาย 92EA-CBF4C738FF70.jpeg

พัชร กล่าวอีกว่า ผู้พิพากษา เป็นปราการด่านสุดท้าย หรือนายทวาร สำหรับสิทธิมนุษยชน ปากกาอยู่กับท่าน อำนาจในการตัดสินใจอยู่กับท่าน อำนาจตัดสินไม่ได้อยู่ที่นักวิชาการ หากแต่เป็นผู้ตั้งคำถามต่อความยุติธรรม และสิ่งที่ต้องคิดคือ เราสอนนิติศาสตร์ไปเพื่อรักษาผลประโยชน์สาธารณะหรือเปล่า ฉันใดฉันนั้น การตีความของผู้พิพากษาต้องมีผลประโยชน์ของประชาชนตั้งอยู่เช่นกัน 

นอกจากนี้ ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ยังระบุถึงแนวทางการตีความ และข้อวินิจฉัยโดยที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม และเราจะทำอย่างไรให้กฎหมายไทยพัฒนาทันโลก ในวันที่โลกเรียกสีฟ้า แต่ทำไมเรายังเรียกสีเขียว การทำให้สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศมีหลักในไทยได้ เป็นเรื่องสำคัญมาก


‘สมชาย’ มองบทบาทตุลาการ ชี้ ใช้อำนาจไม่ตรงกับบทบัญญัติ บ่มเพาะ ‘ความกลัว’ ให้ความสำคัญ ‘อำนาจนำ’ 

สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พูดถึงประเด็นการมองบทบาทของตุลาการ ผ่านแง่มุมการมอง 2 แบบใหญ่ด้วยกันคือ ในหนังสือของ ‘มอง เตสกีเออร์’ ที่บอกว่า ศาลควรเป็นเพียงปากที่เปล่งเสียงได้ของกฎหมาย คือตีความตามกฎหมายเท่านั้น การตีความเป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยง ตามยุคสมัยของ มอง เตสกีเออร์ ในหนังสือของ ‘โรเนิร์ล ดอกิ้น’ นักปรัชญานิติศาสตร์ ชาวอเมริกัน ที่กล่าวว่าผู้พิพากษาควรอาศัยการพิจารณาหลักการกฎหมายควบคู่ไปด้วย โดยการมองแบบสังคมสหรัฐอเมริกา ทำให้เห็นว่าการตีความบทบาทของศาลขึ้นกับมุมมองว่าเรามองศาลอย่างไร

สมชาย ปรีชาศิลปกุล 82-767750924825.jpeg

สมชาย กล่าวอีกว่า เรากำลังเผชิญอยู่ในสถานการ์ที่ตุลาการใช้กฎหมายไม่ตรงกับบทบัญญัติ ศาลใช้อำนาจที่มีปัญหาจริงๆ โดยสามารถเกิดได้จากเหตุผลได้ 3 ทาง คือ 1.ความไม่รู้ ที่เกิดจากความไม่รู้เจตนารมณ์ของกฎหมาย แต่ก็จะเป็นการดูหมิ่นความสามารถของผู้พิพากษาเกินไป ทำให้อาจจะต้องพิจารณาจากสาเหตุที่ 2 คือ ความกลัว ไม่กล้าตัดสินเพราะกลัวจะหลุดจากบรรทัดฐาน แล้วจะได้รับผลกระทบหน้าที่การงาน เกิดจากความอิสระของอำนาจตุลาการไทย แต่ไม่เป็นอิสระทางปัจเจก ที่ยึดโยงความเป็นอิสระกับระบบอำนาจนิยม 3. อุดมการณ์ของสถาบันตุลาการที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสิน ที่เมื่อเป็นคดีทะเลาะวิวาท หรือคดีชาวบ้านทั่วไป ศาลก็ใช้หลักวิชาปกติได้ แต่พอเป็นคดีทางการเมือง ศาลกลับตัดสินผ่านอุดมการณ์ที่เป็นอำนาจนำภายใต้พระปรมาภิไธย ที่เกิดขึ้นหลัง 2490 เป็นตัวการสำคัญที่สะท้อนคำนิยามของศาลและกระทบกับคำตันสิน

นอกจากนี้ สมชาย พูดสรุปว่าที่การใช้กฎหมายไม่ตรงกับบทบัญญัติหรือเป็นตามรัฐธรรมนูญนั้น อาจเกิดจากความกลัว และในอีกแง่ก็ควรให้ความสำคัญกับอุดมการณ์และอำนาจนำในฝ่ายตุลาการ


‘เข็มทอง’ เผย ‘ระบบการเมือง’ ในศาล ยิ่งอยู่ใกล้ศูนย์กลาง ยิ่งเอื้อผู้มีอำนาจ ข่มเหงผู้บริสุทธิ์ 

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดถึงการเมืองของศาล ที่ทำให้ผู้ต้องขังหลายคนต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำอย่างไม่จำเป็น ซึ่งแต่ละศาลมีการตีความ ม.112 ต่างกันไป ทั้งการพยายามตีความให้ตรงกับกฎหมาย และขยายความตัวกฎหมาย โดย เข็มทอง เชื่อว่า ศาลที่อยู่ไกลจากศูนย์กลางอำนาจมีแนวโน้มจะตีความให้ตรงตัวมากกว่า ศาลที่อยู่ใกล้ศูนย์กลางอำนาจ อย่าง ศาลฎีการัชดา ซึ่งจริงๆ แล้วศาลควรจะมีมาตราไม่ว่าจะพิจารณาปีไหน ที่ไหน ก็ควรจะเหมือนกัน แต่ความเป็นจริงไม่ใช่

เข็มทอง กล่าวว่า ยิ่งศาลพยายามปฏิเสธความเป็นการเมือง เท่ากับศาลกำลังเล่นการเมืองให้มีประโยชน์ต่อฝ่ายผู้มีอำนาจ โดยการเข้าข้างผู้มีอำนาจข่มเหงผู้บริสุทธิ์ อย่างในกรณี ‘บุ้ง-ใบปอ’ ที่ไม่จำเป็นต้องพิจารณาอะไรมากเรื่องสุขภาพที่เข้าขั้นวิกฤต ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่มีศักยภาพดูแล แต่ศาลก็ยังพิจารณาให้เข้ารักษาในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ทำให้ เข็มทอง นึกย้อนไปถึงกรณีคดี อากง ที่เคยมีผู้พิพากษาพูดถึงการวางแผนหลังพิจารณาคดี ให้มีการปล่อยตัวภายหลัง แต่อากง ป่วยและเสียชีวิตก่อน

เข็มทอง จุฬา  เสวนาศาล ยุติธรรม F-65DBA9FD0E14.jpeg

เข็มทอง พูดถึงความน่ารำคาญ และหยุมหยิมของคนที่เข้าไปเป็นผู้พิพากษา ว่ามีกฎและข้อห้ามมากมายทางจริยธรรม ที่เมื่อเข้าไปอยู่ในฐานะผู้พิพากษาที่ต้องวางตัวให้ศักดิ์สิทธิ์ ศาลต้องทำตัวเป็นอิสระ ที่แปลว่าสันโดษ ทำให้บางครั้งศาลไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับความทุกข์ยากของประชาชน ที่เมื่อจำเลยขอเรียกร้องสิทธิ์ประกันตัว กลายเป็นการแหกลำดับชั้นอำนาจที่ศาลพยายามรักษาไว้ 

เข็มทอง เพิ่มเติมว่า ความอิสระของศาลเป็นกับดักให้กับผู้พิพากษาเอง เพราะความอิสระเชิงสถาบันที่คนอื่นตรวจสอบไม่ได้ แต่ในทางปัจเจกไม่ใช่ เพราะหากผู้พิพากษาต้องพิจารณาตัดสินตามผู้บริหารศาล ที่ไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากข้างนอกไม่ได้ อย่างกรณีผู้พิพากษา คณากร เพียรชนะ ที่ถ้าคุณไม่เห็นด้วยกับศาล หรือยิงตัวเองกลางบัลลังค์ก็ไม่มีใครกล้ายุ่ง ทำให้ผู้พิพากษารุ่นใหม่ไม่กล้าหืออือกับระบบ โดยในรัฐธรรมนูญ 2540 ระบุชัดเจนว่า ผู้พิพากษาเป็นอิสระจากศาล แต่ถูกนำออกไปจากรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 เมื่อความอิสระของศาลตัดขาดตัวเองจากโลกภายนอก ทำให้เกิดระบบภายในที่เราไม่สามารถรับรู้ได้ และไม่ใช่ระบบที่ทำผู้พิพากษาเกิดอิสระ

เข็มทอง กล่าวต่อว่า เมื่อศาลพยายามวางตัวเป็นกลาง รักษาความศักดิ์สิทธิ์จนกลายเป็นว่าศาลทำงานเข้าทางฝ่ายอำนาจ อย่างการที่ศาลออกหมายให้ตำรวจในคดีทางการเมืองหรือความความมั่นคงที่ตำรวจเองเป็นคู่ขัดแย้ง ไม่ใช่คนกลาง ซึ่งเป็นปัญหาของขบวนการยุติธรรม กลายเป็นปัญหาปัจจุบัน ซึ่ง เข็มทอง กล่าวว่า หากศาลยังไม่เลิกทำอย่างนี้ จะกลายเป็นการให้ท้ายมวลชนขวาจัด จากการที่ยังปล่อยให้เกิดการกลั่นแกล้ง เป็นล่องโหว่ให้กลุ่มคนที่รัฐสนับสนุนสามารถไปคุกคามข่มขู่คนที่เห็นต่างได้

เข็มทอง ทิ้งท้ายว่า เขาต้องการเห็นการใช้กฎหมายปัจจุบันให้เป็นกฎหมาย โดยไม่โอนอ่อนไปตามผู้บริหารศาล พิจารณาสิทธิประตัวไปตามกฎหมาย หรือตัดสิน ม.112 ตามตัวบท ปล่อยความเป็นการเมืองของคดีเหล่านี้ให้ตำรวจ เพื่อเป็นการแสดงออกว่าศาลจะไม่เป็นเครื่องมือทางการเมือง และปฏิเสธการแทรกแซง ซึ่งเมื่อกฎหมายก็ไม่ดี การใช้กฎหมายก็มีปัญหาจึงทำให้ปัญหาที่ทับซ้อนกันอยู่ในปัจจุบัน


‘ปริญญา’ มอง ตุลาการต้องมีใจที่เป็นธรรม ชี้โทษของ 112 สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง สูงสุด 7 ปี ไม่มีขั้นต่ำ แนะศาล การบังคับใช้ 112 หวั่นกระทบสถาบันฯ 

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า ความเห็นต่างเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งมีแต่ศาลเท่านั้นที่เป็นฝ่ายอิสระ ที่จะคุมฝ่ายบริหารได้ ในประเทศเมียนมา เมื่อมีการประหารชีวิตนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยไป 4 คน แม้ว่าจะเป็นกระบวนการในศาล แต่สังคมโลกไม่เชื่อว่าเป็นอิสระ

ปริญญา ธรรมศาสตร์ นิติศาสตร์ เสวนาศาล ยุติธรรม B6-4F521A7D5F43.jpeg

ปริญญา กล่าวว่า ตนเคยสงสัยว่าทำไมในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาถึงเรียกการประกันตัวว่า ปล่อยตัวชั่วคราว และพบว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประกาศใช้ปี 2477 แต่หลักที่ว่าด้วยการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ ประกาศใช้เมื่อปี 2492 แต่ในช่วงแรกนั้นมีการระบุให้ ผู้ที่กระทำความผิด สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด แต่ท้ายที่สุดในปี 2511 ได้มีการแก้ใหม่ แต่สิ่งที่ขัดแย้งอยู่คือ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ มาตรา 4 ที่ระบุชัดเจนว่า คนเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ไม่ได้รับการประกันตัว หรือวงเงินประกันสูงจนประกันไม่ได้ จะนำไปฝากขังไว้รวมกับนักโทษในเรือนจำ นั้นแสดงว่า ขัดกับหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่ผิด 

ปริญญา กล่าวอีกว่า การไม่บังคับใช้ ม.112 โดยอ้างว่า พระมหากษัตริย์ทรงเมตตานั้น พูดไม่ได้ เพราะนายกรัฐมนตรี เป็นผู้บังคับบัญชาตำรวจ การอ้างพระมหากษัตริย์ ถือเป็นการก้าวก่ายกิจการของสถาบันฯ และเมื่อต่อมีการบอกว่า ให้ใช้ทุกมาตรากับผู้ชุมนุม จึงทำให้สังคมมองว่า สถาบันฯ ทรงไม่เมตตาแล้วหรือ นั่นคือการทำให้เกิดผลกระทบต่อสถาบันฯ 

ปริญญา ธรรมศาสตร์  เสวนาศาล ยุติธรรม 16A929A679.jpeg

ปริญญา กล่าวว่า ความเห็นต่างในทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ หน้าที่ของศาล คือการทำให้คนขัดแย้งกันภายใต้กติกา และศาลต้องให้ความเห็นชอบกับทุกฝ่าย ความยุติธรรมไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นมา แต่ต้องทำให้คนเขาเห็นว่า ที่ทำไปคือความยุติธรรม อย่างน้อยข้อแรกที่สุดคือ การให้สิทธินักโทษในการสู้คดีนอกคุก และเรื่อง ม.112 ต้องมองด้วยใจที่เป็นกลาง ในมุมของฝ่ายความมั่นคงอาจจะมองว่า โทษแรงขนาดนี้ หากไม่มีจะก้าวล่วงขนาดไหน แต่จึงต้องเรียนว่า สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง ความผิดของ ม.112 โทษสูงสุดคือ 7 ปี ขั้นต่ำไม่มี แต่เมื่อคณะปฏิวัติ 6 ต.ค. 2519 เข้ามา ได้มีการเพิ่มโทษเป็น 3-15 ปี 

ปริญญา กล่าวอีกว่า วิธีการปกป้องสถาบันฯ นั้น คือ ทำตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย การบังคับใช้ ม.112 ต้องคำนึงว่า ถ้าใช้ให้ดีหรือไม่ดี มันจะกระทบถึงสถาบันฯ และตระหนักไว้เสมอว่า ของเดิมตั้งแต่สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองมันเป็นแบบไหน แต่เมื่อถูกเพิ่มโทษ และมีเกณฑ์ขั้นต่ำ มันมาเพราะคณะปฏิวัติ ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

“สันติภาพมีแต่ต้องใช้ความเป็นธรรม เมื่อคนรู้สึกว่าเรื่องใดเป็นปัญหาระดับโครงสร้างจึงเรียกร้องให้ปฏิรูป ที่คนเขาเรียร้องแก้ ม.112 เพราะมีการใช้ 112 อย่างไม่เป็นธรรม ดังนั้นต้องมีใจที่เป็นธรรม หากมีใจที่เป็นธรรม เสียงเรียกร้องแก้ไขก็จะไม่มี หากประชาชนไม่สามารถมองเห็นความเป็นธรรมจากศาล การเรียกร้องให้ปฏิรูปศาลจะตามมาแน่” ปริญญา กล่าว 

ทั้งนี้ พูนสุข พูนสุขเจริญ ได้กล่าวว่า เมื่อสักครู่ได้มีการเยี่ยม ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือใบปอ ผ่านระบบการเยี่ยมทางออนไลน์ โดย ณัฐนิช ฝากมาถึงงานเสวนาในครั้งนี้ว่า อยากให้พูดถึงนักโทษทางการเมืองทุกคน และทุกคดี ไม่ใช่แค่ นักโทษคดี ม.112 เราทุกคนควรได้ออกไปต่อสู้คดี คนที่เป็นนักศึกษา หรือคนที่ทำงานอย่าง เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง ที่เป็นคนทำงาน ล้วนมีภาระที่ต้องเลี้ยงดูทางบ้าน ไม่สมควรมีใครติดอยู่ในเรือนจำ ไม่ใช่แค่นักศึกษาเท่านั้น