สำนักข่าวไทยรายงาน นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติรายงานผลชันสูตรม้าที่ป่วยตายเฉียบพลันถึง 42 ตัวในจังหวัดนครราชสีมาว่า เป็นโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness) สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส RNA ชนิดไม่มีเปลือกหุ้มชื่อ Reoviridae genus Orbivirus โดยก่อให้เกิดในม้า ลา ล่อ ม้าลาย อูฐ และสุนัข โดยมักทำให้ม้าและล่อแสดงอาการป่วยรุนแรงและตาย ส่วนในลาและม้าลายจะแสดงอาการแบบไม่รุนแรง โรคนี้ไม่ใช่ติดต่อจากสัตว์สู่คน ทางระบาดวิทยาพบรายงานการเกิดโรคในทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง ประเทศอียิปต์ สเปน โปรตุเกส โมร็อกโค ปากีสถาน และอินเดียตั้งแต่พ.ศ. 2548 -พ.ศ.2554
การที่มีม้าป่วยตายด้วยโรคนี้จึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในไทยซึ่งกรมปศุสัตว์จะเร่งสอบสวนหาสาเหตุโดยเร็วที่สุด พาหะของโรค คือ แมลงดูดเลือดได้แก่ ริ้น เหลือบ เห็บ ยุง และแมลงวันดูดเลือด ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 2-21 วัน อาการ สัตว์ที่ติดเชื้อโรคกาฬโรคแอฟริกาจะแสดงอาการได้ 2 รูปแบบคือ 1. แบบเฉียบพลันรุนแรง สัตว์จะมีไข้สูง หายใจลำบาก ไอ มีน้ำมูกเป็นฟองสีเหลืองขุ่น สัตว์จะตายภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังจากแสดงอาการ 2.แบบกึ่งเฉียบพลัน สัตว์จะมีไข้สูงประมาณ 3-6 วัน หลังจากนั้นไข้จะลดลง มีอาการบวมน้ำบริเวณขมับ เปลือก ตา แก้ม ริมฝีปาก ลิ้น บริเวณขากรรไกร คอ ไหล่ และหน้าอก มีจุดเลือดออกบริเวณลิ้นและเยื่อบุตา สัตว์จะตายจากภาวะหัวใจล้มเหลว หากสัตว์ที่ป่วยไม่รุนแรงมักหาย เป็นโรคที่มีวัคซีนป้องกัน
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวต่อว่า ได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคในจังหวัดนครราชสีมา โดยการบันทึกสั่งกักสัตว์ป่วยทุกคอกพร้อมทั้งแยกม้าที่ป่วยจากม้าร่วมฝูง และสั่งตั้งด่านควบคุมการเคลื่อนย้าย โดยระงับการเคลื่อนย้ายม้าเข้าและออกพื้นที่โดยเด็ดขาดในรัศมี 150 กิโลเมตร รวมทั้งให้คำแนะนำการป้องกันโรคได้แก่ ป้องกันแมลงพาหะดูดเลือดโดยติดตั้งมุ้ง และทำลายมูลม้า แหล่งเพาะพันธุ์แมลง กำจัดแมลงดูดเลือด ทำลายเชื้อโรคยานพาหนะที่เข้าและออกฟาร์ม หลีกเลี่ยงการนำม้าไปอาบน้ำในแหล่งน้ำสาธารณะ หรือนำน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะมาเลี้ยงม้า ไม่นำม้าจากที่อื่นเข้ามาเลี้ยงใหม่ในฟาร์ม แยกคนเลี้ยงและอุปกรณ์ต่างๆ ระหว่างม้าป่วยและม้าร่วมฝูง และทำลายเชื้อโรค นอกจากนี้ ได้มีการประสานสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย สมาคมขี่ม้าโปโลแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาม้าแข่ง และเครือข่ายผู้เลี้ยงม้าทั่วประเทศ ช่วยประชาสัมพันธ์เตือนภัย รับแจ้งโรค รวมทั้งมาตรการป้องกันโรคในฟาร์ม เน้นย้ำให้เจ้าของหมั่นสังเกตอาการม้าที่เลี้ยงอย่างใกล้ชิด หากพบม้าแสดงอาการผิดปกติให้รีบแจ้งสัตวแพทย์ที่ปรึกษาฟาร์มและแจ้งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด/อำเภอ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-2256888 และแอปพลิเคชัน DLD4.0 เพื่อดำเนินการตรวจสอบและควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้ ยืนยันว่า การระบาดของโรคในม้าที่เกิดขึ้น ไม่ใช่โรคโควิด-19 อย่างแน่นอนและไม่ใช่โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ขอให้ประชาชนไม่ต้องกังวล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง