หน่วยงานรัฐบาลอังกฤษเกาะติดสถานการณ์แพร่ระบาด 'กาฬโรคแอฟริกาในม้า' (African Horse Sickness หรือ AHS) ที่พบในประเทศไทย โดยรายงานความคืบหน้าผ่านเว็บไซต์ทางการเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่า ตั้งแต่กลางเดือน เม.ย. จนถึงวันที่ 7 พ.ค.2563 มีม้าไทยตายจากโรค AHS รวม 484 ตัว จากม้าที่ยืนยันการติดเชื้อทั้งหมด 508 ตัว
การแพร่ระบาดของโรค AHS ในไทย จะทำให้การซื้อขายหรือนำเข้าม้าจากประเทศไทยไปยังอังกฤษและกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (EU) รวมถึงประเทศอื่นๆ ได้รับผลกระทบ เพราะองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ OIE สั่งระงับ 'สถานะปลอดโรคระบาด' แก่ไทย ขณะที่การนำเข้าม้าจากไทยในอังกฤษครั้งสุดท้าย คือ เดือน ธ.ค.2562
ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีน มาเลเซีย และกัมพูชา สั่งให้เฝ้าระวังการนำเข้าม้าจากประเทศไทย ทั้งยังมีคำสั่งให้ตรวจสอบม้าในฟาร์มแถบชายแดนที่มีพรมแดนติดกับไทย เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้โรค AHS แพร่ระบาดไปยังม้าภายในประเทศดังกล่าว
ทั้งนี้ ไทยยืนยันการพบโรค AHS ในประเทศครั้งแรก เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา หลังพบม้าในฟาร์มแถบอำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา ป่วยและตายในเวลาอันรวดเร็ว โดยม้าที่ติดเชื้อมีทั้งหมด 62 ตัว และมีม้าตายถึง 42 ตัว
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมปศุสัตว์ ยังระบุไม่ได้ว่าต้นตอของโรคเกิดจากสัตว์ใด เพราะโรค AHS สามารถติดต่อได้ในกลุ่มม้า ม้าลาย ลา ล่อ และอูฐ ทั้งยังเป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ในสัตว์ของประเทศไทย เนื่องจากก่อนหน้านี้มักจะพบในแถบแอฟริกาเท่านั้น
ข้อมูลเกี่ยวกับโรค AHS ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในไทยครั้งแรก ต้นเดือน เม.ย. หลังจากเครือข่ายสัตวแพทย์บำบัดโรคม้าออกมาเตือนสาธารณชนให้ระวังโรค AHS แต่ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ได้เผยแพร่ประกาศในเฟซบุ๊กเพจเมื่อ 2 เม.ย. โดยระบุว่า ข่าว 'กาฬโรคม้า' ทำม้าตายเฉียบพลัน เป็น 'ข่าวปลอม'
การเผยแพร่ข้อมูลของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ซึ่งกำกับดูแลโดยกระทรวงดีอีเอสของไทย ทำให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับโรคนี้ แต่ก็มีผู้เข้าไปทักท้วงเป็นจำนวนมากว่าโรค AHS ถูกพบในประเทศไทยแล้วจริงๆ ศูนย์ฯ จึงออกประกาศชี้แจงข้อเท็จจริงในวันที่ 3 เม.ย.ว่า ได้รับข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ ระบุว่า 'กาฬโรคม้า' เป็นโรคอุบัติใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ศูนย์ฯ เข้าใจคลาดเคลือนว่าเป็นข่าวปลอม จึงระบุว่า "รู้สึกเสียใจกับข้อมูลที่ได้เผยแพร่ออกไป"
ส่วนรัฐบาลอังกฤษที่ติดตามสถานการณ์โรค AHS ในไทยตั้งแต่เดือน มี.ค.ถึงต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา รายงานสรุปว่า โรค AHS พบครั้งแรกที่ จ.นครราชสีมา และแพร่ระบาดไปยังฟาร์มม้าในจังหวัดอื่นๆ ของไทยเพิ่มเติม แต่หน่วยงานด้านปศุสัตว์และสัตวแพทย์ของไทยมีภาระหนักหลายด้าน เพราะต้องจัดการโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู (African Swine Fever) ที่พบในเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้งยังเป็นช่วงที่รัฐบาลไทยประกาศมาตรการล็อกดาวน์ ระงับการเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ขั้นตอนการดำเนินงานเกี่ยวกับโรค AHS จึงเป็นไปอย่างยากลำบาก
ด้านเว็บไซต์สมาคมสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านม้าของอังกฤษ (BEVA) รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ สพ.ญ.ดร.ศิรยา ชื่นกำไร ประธานมูลนิธิม้าลำปาง ระบุว่า การระบาดของโรค AHS ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อม้าหลายพันตัวในไทย ทั้งยังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเจ้าของม้าและผู้ที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับม้าด้วย
อย่างไรก็ตาม สพ.ญ.ดร.ศิรยา ระบุว่า แม้จะมีคำสั่งล็อกดาวน์เพราะโรคโควิด-19 แต่เครือข่ายสัตวแพทย์และหน่วยงานรัฐทั่วประเทศได้พยายามเต็มที่ เพื่อให้ความรู้แก่เจ้าของฟาร์มม้า และช่วยกันระดมทุนเพื่อจัดหามุ้งตาข่ายละเอียด พร้อมทั้งยาฆ่าแมลง เพื่อนำไปมอบให้แก่เกษตรกรเจ้าของฟาร์มม้าต่างๆ
ส่วนเว็บไซต์เทใจ (taejai.com) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเพื่อการระดมทุนออนไลน์ ได้เผยแพร่ข้อมูลโครงการ 'มุ้งเพื่อม้า ปลอดภัยจากกาฬโรคแอฟริกา' เพื่อนำเงินที่ได้ไปจัดหามุ้งให้ม้าของเกษตรกรและผู้เลี้ยงม้าที่ขาดแคลน รวม 400 ตัว ตั้งเป้า 'หยุดยั้งการแพร่ระบาดของ AHS ในไทย' โดยมุ้งหลังหนึ่งราคา 1,500 บาท สามารถต่อชีวิตให้ม้าได้ 1 ตัว ซึ่งเป้าหมายเดิมของการระดมทุนตั้งเป้าไว้ที่ 660,000 บาท
ข้อมูลของโครงการมุ้งเพื่อม้าฯ ระบุด้วยว่า โรค AHS แพร่ระบาดในหลายจังหวัดของไทย จึงดำเนินโครงการใน ราชบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, เพชรบุรี, นครราชสีมา, สระแก้ว, ชลบุรี เพราะโรคนี้ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่เลี้ยงม้าเพื่อใช้งานและดำรงชีพ เช่น ม้าชายหาด ม้าแห่นาค หากเกิดการระบาดในวงกว้าง จะส่งผลให้ม้าไทยที่เป็นทั้งมรดกไทยและมรดกโลก 'สูญพันธุ์' ได้ โดยระบุเพิ่มเติมว่า ม้าไทยที่เป็นสายพันธุ์โบราณ เป็นสายพันธุ์เดียวกับม้าป่ามองโกเลีย
แม้กรมปศุสัตว์และสัตวแพทย์เอกชน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเร่งให้มีการฉีดวัคซีนโรค AHS ให้ม้าทั่วไทย แต่จำนวนวัคซีน 4,000 โดส มีน้อยกว่าจำนวนม้าทั่วประเทศ และยังไม่อาจระบุได้ว่า สัตว์ที่เป็นต้นตอของโรค AHS ในไทยคือสัตว์ชนิดใด การป้องกันไม่ให้ม้าติดเชื้อจึงมุ่งเน้นที่การกางมุ้งละเอียดคลุมคอกม้า เพื่อป้องกันแมลงพาหะ
ข้อมูลของกรมปศุสัตว์ระบุว่า โรค AHS เกิดจากไวรัส RNA ชนิดไม่มีเปลือกหุ้ม และกลุ่มสัตว์ที่ไวต่อการเกิดโรค ได้แก่ ม้า ลา ล่อ ม้าลาย อูฐ และสุนัข แต่ในลาและม้าลายจะแสดงอาการแบบไม่รุนแรง ติดต่อได้จากการถูกแมลงกัด เช่น ตัวริ้น, ยุง และแมลงวันดูดเลือด ขณะที่สัตว์กินเนื้อ สามารถติดโรคจากการกินเนื้อสัตว์ที่ติดเชื้อได้เช่นกัน
ขณะที่ระยะฟักตัวของโรคอยู่ที่ประมาณ 2-21 วัน สัตว์ติดเชื้อแสดงอาการแบบเฉียบพลันรุนแรงจะมีไข้สูง รูจมูกขยาย หายใจลำบาก ไอ มีน้ำมูกเป็นฟองสีเหลืองขุ่น และจะตายภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังแสดงอาการ
กรณีที่สัตว์ติดเชื้อแสดงอาการแบบกึ่งเฉียบพลัน จะมีไข้สูงประมาณ 3-6 วัน จากนั้นไข้จะลดลง มีอาการบวมน้ำบริเวณขมับ เปลือกตา แก้ม ริมฝีปาก ลิ้น ขากรรไกร คอ ไหล่ หน้าอก มีอาการซึม เสียดท้อง มีจุดเลือดออกบริเวณลิ้นและเยื่อบุตา ส่วนใหญ่สัตว์ที่ติดเชื้อจะตายจากภาวะหัวใจล้มเหลว แต่ถ้าหายป่วย อาการบวมน้ำจะลดลงใน 3-8 วัน
ส่วนอัตราการตายของม้าที่ติดเชื้อ AHS ในไทยสูงถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การป้องกันโรค AHS แพร่ระบาดในฟาร์มม้าทั่วไทยเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะตัวริ้นหรือแมลงพาหะจะชุกชุมขึ้นในสภาพอากาศร้อนชื้นตามฤดูกาลของไทย
เว็บไซต์ Science Magazine รายงานข่าวเกี่ยวกับโรค AHS ในไทย อ้างอิงคำกล่าวของ 'ไซมอน คาร์เพนเทอร์' ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดสัตว์ในอังกฤษ ระบุว่า นี่เป็นการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ในรอบ 30 ปีของโรค AHS ที่พบนอกภูมิภาคแอฟริกา อาจนำไปสู่การแพร่ระบาดของโรคทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รายงานดังกล่าวเผยแพร่ตั้งแต่กลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่า 'ม้าลาย' อาจเป็นต้นตอที่ทำให้โรค AHS แพร่ระบาดในไทย อ้างอิงกรณีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยมีคำสั่งให้รวม 'ม้าลาย' ลงไปใน พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ (อ้างอิงจากประกาศที่เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 เม.ย.)
ขณะที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ออกคำสั่งห้ามนำเข้าและส่งออกม้าลายและยีราฟในพื้นที่ซึ่งถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นต้นตอแพร่เชื้อโรค ส่วนกระทรวงเกษตรฯ ก็มีคำสั่งเพิ่มเติม ห้ามเคลื่อนย้ายม้าออกนอกพื้นที่เดิมในเวลา 90 วันทั่วประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค AHS
อย่างไรก็ตาม ผู้เกี่ยวข้องที่ทำงานด้านปศุสัตว์ในพื้นที่แพร่ระบาด ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ ระบุว่า ม้าติดเชื้อบางส่วนถูกนำออกนอกพื้นที่ตั้งแต่ก่อนจะมีคำสั่งห้ามจากหน่วยงานรัฐ เพราะเจ้าของม้าในไทยพบม้าตายจากการติดเชื้อตั้งแต่เดือน ก.พ. แต่ช่วงแรกยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่าเกิดจากโรคอะไร
เจ้าของฟาร์มม้าบางรายสะท้อนความเห็นด้วยว่า ม้าลายเป็นสัตว์ที่ทนทานต่อโรค AHS ได้มากกว่าม้า เพราะแม้จะมีเชื้อไวรัสต้นตอโรค AHS อยู่ในร่างกาย ก็อาจไม่มีอาการป่วยให้เห็น และไม่เป็นอันตรายถึงขั้นตาย แต่สามารถเป็นพาหะของโรคได้ ถ้าตัวริ้นหรือยุงไปกินเลือดของสัตว์กลุ่มนี้ก็จะไปแพร่เชื้อต่อให้ม้าได้
อย่างไรก็ตาม การนำเข้าม้าลายกลับไม่เข้มงวดเท่าการนำเข้าม้า เจ้าของฟาร์มม้าบางส่วนจึงต้องการให้หน่วยงานรัฐเร่งตรวจคัดกรองเพื่อหาเชื้อในม้าลาย และชี้แจงข้อเท็จจริงแก่เจ้าของฟาร์มม้าที่ได้รับผลกระทบ
หากไม่มีการชี้แจงที่ชัดเจนเกี่ยวกับสัตว์ต้องสงสัยเป็นพาหะนำโรค อาจทำให้การป้องกันการแพร่ระบาดไม่ประสบผลสำเร็จ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: