ไม่พบผลการค้นหา
"ผู้ว่าฯ อัศวิน" เผยจัดเก็บกระทงทั่ว กทม.ปี 2563 ยอด 492,537 ใบ ทำจากวัสดุธรรมชาติ 96.4% ลดลงจากปีที่แล้ว 9,478 ใบ พื้นที่เขตที่มีปริมาณกระทงมากที่สุด คือ เขตลาดกระบัง 29,957 ใบ ส่วนเขตที่มีปริมาณกระทงน้อยที่สุด คือเขตราชเทวี 258 ใบ

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม.โดยสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขต ได้จัดเก็บกระทงที่ประชาชนนำมาลอยเนื่องในเทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2563 เมื่อคืนวันที่ 31 ต.ค. 63 ที่ผ่านมา ซึ่งได้จัดงานลอยกระทงที่บริเวณใต้สะพานพระราม 8 (ฝั่งธนบุรี) และคลองโอ่งอ่าง พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ให้ประชาชนลอยกระทงบริเวณริมแม่น้ำ คูคลอง บึงน้ำ สวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร และพื้นที่เอกชนอีกหลายแห่ง

ทั้งนี้กรุงเทพมหานครได้ระดมเจ้าหน้าที่เก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา ลำคลองต่าง ๆ และสวนสาธารณะทั้ง 30 แห่ง ที่เปิดให้ประชาชนลอยกระทงทั่วพื้นที่ กทม. ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นับและคัดแยกกระทงเสร็จสิ้นในเวลา 06.00 น. ของเช้าวันนี้ (1 พ.ย.63) รวมจัดเก็บกระทงได้จำนวนทั้งสิ้น 492,537 ใบ กระทงส่วนใหญ่ จำนวน 474,806 ใบ ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายง่าย คิดเป็นร้อยละ 96.4 และกระทงที่ทำจากโฟม จำนวน 17,731 ใบ คิดเป็นร้อยละ 3.6

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับปี 2563 จัดเก็บกระทงได้ลดลงกว่าปี 2562 จำนวน 9,487 ใบ (ปี 2562 จัดเก็บกระทงได้ จำนวน 502,024 ใบ) หรือคิดเป็นร้อยละ 1.89 โดยเป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายง่ายเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 62 จากร้อยละ 96.3 เมื่อปี 2562 เป็นร้อยละ 96.4 ในปี 2563 ส่วนกระโฟมลดลงจากร้อยละ 3.7 เมื่อปี 2562 เป็นร้อยละ 3.6 ในปี 2563 ทั้งนี้ พื้นที่เขตที่มีปริมาณกระทงมากที่สุด คือ เขตลาดกระบัง จำนวน 29,957 ใบ ส่วนเขตที่มีปริมาณกระทงน้อยที่สุด คือเขตราชเทวี จำนวน 258 ใบ เขตที่มีจำนวนกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติมากที่สุด คือ เขตลาดกระบัง จำนวน 29,032 ใบ และเขตที่จำนวนกระทงโฟมมากที่สุด คือ เขตลาดกระบัง จำนวน 925 ใบ

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า จากข้อมูลดังกล่าวแม้ว่าปีนี้จำนวนกระทงที่จัดเก็บได้ลดลงกว่าปีที่แล้ว แต่ร้อยละของกระทงที่ประดิษฐ์จากวัสดุธรรมชาติก็ไม่ได้ลดลง ซึ่งแสดงว่าประชาชนและผู้จำหน่ายกระทงมีความตระหนักและให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สำหรับกระทงที่จัดเก็บได้ กทม.ได้ดำเนินการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง และนับจำนวนเพื่อเก็บสถิติ จากนั้นจะนำกระทงจากวัสดุธรรมชาติและย่อยสลายง่าย ส่งไปยังโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ที่โรงงานขยะหนองแขม ส่วนกระทงโฟมและวัสดุที่ย่อยสลายยากจะถูกนำไปทำลายโดยการฝังกลบเพื่อรอการย่อยสลายต่อไป

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม จัดเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยได้จัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดคอยเก็บกระทงบนผิวน้ำตั้งแต่บริเวณใต้สะพานพระราม 7 ไปจนถึงบริเวณวัดโยธินประดิษฐ์ เขตบางนา ระยะทางประมาณ 34 กม. แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 โซน ได้แก่ 1.สะพานพระราม 7 ถึงสะพานพุทธ 2.สะพานพุทธ ถึงสะพานกรุงเทพ และ 3.สะพานกรุงเทพ ถึงสุดเขตบางนา โดยจัดเจ้าหน้าที่ในการจัดเก็บกระทง จำนวน 203 คน ใช้เรือเก็บขยะพร้อมติดตั้งไฟส่องสว่าง จำนวน 40 ลำ เรือกำจัดขยะและวัชพืชสำหรับบดอัดกระทงให้มีขนาดเล็กลง จำนวน 2 ลำ และรถบรรทุกเทท้าย จำนวน 14 คัน เพื่อลำเลียงกระทงที่จัดเก็บได้ขึ้นที่ปากคลองโอ่งอ่าง เขตพระนคร และท่าคลังสินค้ากระทรวงพาณิชย์ เขตราษฎร์บูรณะ เพื่อทำการคัดแยกกระทง

โดยจะนำกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและย่อยสลายง่าย ส่งไปยังโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยกรุงเทพมหานครทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ หนองแขม อ่อนนุช และสายไหม ส่วนกระทงโฟมและวัสดุที่ย่อยสลายยากจะถูกนำไปทำลายโดยการฝังกลบเพื่อรอการย่อยสลายต่อไป ด้านสำนักการระบายน้ำได้จัดเจ้าหน้าที่ พร้อมเรือเก็บขยะและรถบรรทุก ดำเนินการจัดเก็บกระทงในคูคลองและบึงรับน้ำ เพื่อคืนความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม และไม่ก่อให้เกิดน้ำเน่าเสียแก่แหล่งน้ำ คูคลอง ส่วนสำนักงานเขตจัดเก็บกระทงในสวนสาธารณะและพื้นที่จัดงานในพื้นที่เขต ทั้งนี้กรุงเทพมหานครเริ่มดำเนินการจัดเก็บกระทงตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของวันที่ 31 ต.ค. 63 และจัดเก็บแล้วเสร็จในทุกพื้นที่ภายในเวลา 06.00 น. ของวันที่ 1 พ.ย. 63