ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ว่าฯราชบุรี คาดเก็บกู้ระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ใต้แม่น้ำแม่กลอง กลางปี 2563 รอจัดซื้อเครื่องเก็บกู้จากเยอรมนี ด้านรฟท.ปรับแผนก่อสร้างรางรถไฟทางคู่ ออกแบบเป็นสะพานแขวนแทน

ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าของการหาแนวทางการเก็บกู้วัตถุระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จมอยู่ใต้น้ำในแม่น้ำแม่กลอง บริเวณสะพานจุฬาลงกรณ์ และสะพานธนะรัชต์ อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี จากข้อมูลก่อนหน้าที่มีการออกมานำเสนอระบุว่าวัตถุระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จำนวน 7 ลูก ขนาดประมาณลูกละ 1000 ปอนด์ และยังคงมีสภาพพร้อมระเบิด ซึ่งเป็นจุดบริเวณที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะดำเนินการโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วง นครปฐม – หัวหิน ซึ่งเป็นที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและประชาชนต่างให้ความสนใจถึงบทสรุปว่าจะมีการกู้หรือไม่อย่างไร โดยเฉพาะชาวบ้านที่อยู่บริเวณรัศมี 1 กม.ของจุดพบระเบิดที่ยังวิตกกังวลจากข่าวที่มีการปล่อยออกมาว่าจะมีการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ดังกล่าว 

55547_12.jpg

ล่าสุดเมื่อวานนี้ (12มิ.ย.62) นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์การเก็บกู้เคลื่อนย้ายและทำลายวัตถุระเบิดในแม่น้ำแม่กลอง นำทีมผู้เกี่ยวข้องกับการเก็บกู้ระเบิดสงครามโลก ใต้สะพานจุฬาลงกรณ์ และใต้สะพานธนะรัชต์ ในแม่น้ำแม่กลอง ประชุมหารือ โดยครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของการนั่งหัวโต๊ะของนายชยาวุธ ผู้บัญชาการฯ ซึ่งเปิดให้ตัวแทนจากฝ่ายทหารทั้ง 3 เหล่าทัพและผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เสนอแนวทางเก็บกู้ระเบิดเพิ่มเติม ซึ่งแนวทางการเก็บกู้วัตถุระเบิดนั้น จากผู้เชี่ยวชาญได้กำหนดแนวทางไว้ทั้งหมด 5 แนวทางด้วยกัน ประกอบด้วย

วิธีที่ 1 การทำ High order Detonation ณ ที่พบ ผลวิเคราะห์พบว่า เสี่ยงสูง มีโอกาสระเบิดต่อเนื่องสูง

วิธีที่ 2 การทำ Low onder Detonation ณ ที่พบ โดยใช้วัตถุระเบิดตัดสำตัวลูกระเปิดส่วนท้ายผลวิเคราะห์พบว่า หากใช้วัตถุระเบิดโนการตัด หรือเจาะ มีความเสี่ยง 30% (มีโอกาสสำเร็จ 70 ผิดพลาด 30)

วิธีที่ 3 เคลื่อนย้ายออกทะเลแล้วทำ High Order Detonation ผลวิเคราะห์พบว่า เสี่ยงสูง การเคลื่อนย้ายมีโอกาสระเบิด 80%

วิธีที่ 4 เคลื่อนย้ายทีละลูกห่างออกมา 940 เมตรแล้วทำ Low Order Detonation ผลวิเคราะห์พบว่า เสี่ยงสูง การเคลื่อนย้ายมีโอกาสระเบิด 80%

ส่วนวิธีที่ 5 เป็นแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติม คือการทำให้ปลอดภัย (Render safe procedure) โดยการตัดที่แผ่นปิดท้ายหรือส่วนท้ายของลำตัวลูกระเบิดอากาศด้วยเครื่องมือตัดด้วยน้ำแรงดันสูง (water cutting Machine) เพื่อแยกชนวนลูกระเปิดอากาศ ก่อนทำการเคลื่อนย้ายไปทำลาย ณ สนามทำสายวัตถุระเบิด แผนก 6 กองหลังเสง สพ.ทบ. โดยคำว่า "Pender safe procedure" คือ การทำให้ปลอดภัยซึ่งรวมถึงวิธีการหรือเครื่องมือ การทำให้ขบวนการทำงานของระเบิดหยุดทำงานหรือแยกชิ้นส่วนที่อันตราย ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้ปลอดภัย หรือ เรียกว่า RSP เป็นวิธีการที่ไม่ต้องใช้ระเบิดเป็นการใช้น้ำแรงดันสูงตัดแทน

หลังการประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมง จึงได้ข้อสรุปว่า การเก็บกู้ระเบิดทั้ง 7 ลูก จะใช้วิธีที่ 5 Render safe procedure ใช้เครื่องตัดน้ำแรงดันสูง ดำลงไปในน้ำด้วยระบบไฮโดรลิก วอเตอร์ คัดชิ่ง แมทชีน (water cutting Machine) แล้วฉีดน้ำด้วยแรงดันสูงตัดวงจรชนวนที่อยู่ที่ท้ายระเบิด เพื่อแยกส่วนระเบิดที่อันตรายออกจากกัน แล้วนำทั้งสองส่วนขึ้นมาทำลายบนบก แต่ประเทศไทยไม่มีเครื่องมือดังกล่าว หลังจากนี้จะเสนอเรื่องเข้ากระทรวงมหาดไทย เพื่อขอซื้ออุปกรณ์ชิ้นนี้ โดยให้ทางกองทัพเรือเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งจะใช้เวลานานพอสมควร คาดว่าอย่างเร็วที่สุดน่าจะดำเนินการในปี 2563 แต่ระหว่าง 2 เดือนนี้คณะทำงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการสรุปประเมินงบประมาณ เครื่องมือดังกล่าวไม่มีจำหน่ายทั่วไปต้องสั่งประกอบจากประเทศผู้ผลิตคือเยอรมนี เมื่อได้เครื่องต้องมาทำการฝึกเจ้าหน้าที่ในการใช้งาน ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร

55547_6.jpg
  • นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี

นายชยาวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางตัวแทนของการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เสนอในที่ประชุมว่าทาง รฟท.จะไม่รอให้การกู้ระเบิดเสร็จสิ้น เพราะจะส่งผลกระทบต่อโครงการก่อสร้างรางรถไฟทางคู่ เส้นทางนครปฐม-หัวหิน-ชุมพร ซึ่งจะล่าช้ามากขึ้นไปอีกเกือบ 1 ปี โดยขณะนี้ได้มีการเตรียมความพร้อมและให้ทีมผู้ดำเนินงานออกแบบให้เป็นสะพานแขวนแทน ซึ่งจะไม่ใช้ตอม่อในแม่น้ำ ซึ่งการออกแบบของสะพานแขวนจะไม่กระทบกับข้อกำหนดของเมืองเก่า และสภาพภูมิศาสตร์ เพราะฝั่งหนึ่งเป็นพื้นที่ทหาร และ เป็นพื้นที่ตั้งศาลเจ้าพ่อหลักเมือง รวมไปถึงรูปแบบต้องสอดคล้องกับทางสะพานจุฬาลงกรณ์ที่มีอายุเกือบ 100 ปี แต่เชื่อว่าทาง รฟท.จะออกแบบสะพานแขวนได้อย่างสวยงามซึ่งจะเป็นแลนด์มาร์คการท่องเที่ยวใหม่ของประเทศ และภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของจังหวัดราชบุรี

55547_14.jpg

อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่ได้ฝากย้ำไปยังชาวบ้านทั้งในและนอกพื้นที่ว่า การเก็บกู้จะเริ่มได้อย่างเร็วที่สุดในปี 2563 หากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ จะมีการประชาสัมพันธ์บอก โดยไม่อยากให้หลงเชื่อข่าวลือต่างๆ ที่เกิดขึ้น และยืนยันว่าเราจะทำทุกอย่างด้วยความปลอดภัย และจะแจ้งให้ประชาชนทราบตลอดเพื่อไม่ให้เกิดข่าวลือ ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางราชการ หรือจากผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์