ไม่พบผลการค้นหา
บอร์ดใหม่ รฟท. ฟิต ลงพื้นที่สำรวจความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ชุมทางบางซื่อ-รังสิต พบสัญญาที่ 1 การก่อสร้างสถานีกลางและศูนย์ซ่อมบำรุงคืบหน้าร้อยละ 69 สัญญาที่ 2 งานก่อสร้างทางรถไฟ คืบหน้าร้อยละ 98 สัญญาที่ 3 การติดตั้งระบบไฟฟ้าเครื่องกลคืบหน้าร้อยละ 28 คาดเปิดให้บริการประชาชนกลางปี 2563

นายกุลิศ สมบัติศิริ ประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ บอร์ด รฟท. เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงชุมทางบางซื่อ – รังสิต ณ สำนักงานสนามโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ถนนกำแพงเพชร 2 (ด้านข้างสถานีขนส่งหมอชิต 2) กรุงเทพฯ โดยมีนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟฯ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารการรถไฟฯ ทีมงานที่ปรึกษาควบคุมงาน และผู้รับจ้าง เข้าร่วมประชุม 

มีรายงานความคืบหน้าโครงการ พบว่า ในกรณีสัญญาที่ 1 งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง มีความคืบหน้าร้อยละ 69.18 สัญญาที่ 2 งานก่อสร้างทางรถไฟช่วงบางซื่อ-รังสิต มีความคืบหน้าร้อยละ 97.94 และสัญญาที่ 3 งานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้าช่วงบางซื่อ-รังสิต มีความคืบหน้าร้อยละ 27.60 ซึ่งคณะกรรมการรถไฟ ได้กำชับและเร่งรัดให้งานก่อสร้างทั้ง 3 สัญญา เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการกับประชาชนได้ภายในกลางปี 2563


รถไฟชานเมือง สายสีแดงรถไฟชานเมือง สายสีแดง

ทั้งนี้ โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) มีด้วยกัน 3 สัญญา ได้แก่ 

สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง ประกอบด้วย 1) งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร สถานีกลางบางซื่อ, ที่จอดรถชั้นใต้ดิน สามารถรองรับผู้ใช้บริการได้ 1,700 คัน ชั้น 1 พื้นที่จำหน่ายตั๋ว สามารถเชื่อมต่อกับ MRT ชั้น 2 มี 4 ชานชาลาสำหรับรถไฟชานเมือง และ 8 ชานชาลา สำหรับรถไฟทางไกล ชั้น 3 พื้นที่รองรับรถไฟความเร็วสูง 10 ชานชาลา และ Airport Link 2 ชานชาลา 2) งานก่อสร้างสถานียกระดับจำนวน 1 สถานี ได้แก่ สถานีจตุจักร 3) งานก่อสร้างทางวิ่งยกระดับ และทางวิ่งระดับดิน ความยาวตามแนวก่อสร้าง ประมาณ 6.20 กิโลเมตร 4) งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟทางไกล และรถไฟชานเมือง 5) งานก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟ และสะพานรถยนต์ รวมถึงระบบระบายน้ำ และ 6) งานรื้อถอนโครงสร้างโฮปเวลล์เดิมที่อยู่ในพื้นที่ก่อสร้าง  

สัญญาที่ 2 งานก่อสร้างทางรถไฟช่วงบางซื่อ-รังสิต ประกอบด้วย 1) งานก่อสร้างสถานียกระดับจำนวน 8 สถานี ตามแนวเส้นทางรถไฟ 2) งานก่อสร้างทางวิ่งยกระดับ และทางวิ่งระดับดิน ความยาวตามแนวก่อสร้าง ประมาณ 20.15 กิโลเมตร 3) งานก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟ และสะพานรถยนต์ รวมถึงระบบระบายน้ำ และ 4) งานรื้อถอนโครงสร้างโฮปเวลล์เดิมที่อยู่ในพื้นที่ก่อสร้าง  

สัญญาที่ 3 งานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้าช่วงบางซื่อ-รังสิต ประกอบด้วย 1) งานก่อสร้างทางรถไฟ (Track works in meter gauge) 2) งานระบบไฟฟ้า (Electrification system) 3) งานระบบอาณัติสัญญาณ (Train Control and Signaling system) 4) งานระบบสื่อสาร 5) งานระบบการออกตั๋ว (Ticketing system) 6) งานเครื่องจักรเครื่องมือสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟ (Depot facilities and Equipment) 7) งานระบบควบคุมความปลอดภัยด้านการเดินรถ (Control access security system (CASS) 8) งานระบบประกาศและประชาสัมพันธ์ (Operation automation and information technology (OA&IT) system) 9) งานสถานีไฟฟ้าย่อย (Bulk substation and Auto-transformer) 10) งานรื้อย้ายทางรถไฟและระบบอาณัติสัญญาณเดิม (Removal, immunization, modification and/or relocation of existing track, level crossing and Signaling/communications) 11) งานจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า (Procurement of Rolling Stock and fitting of ATP to the Employer’s existing Rolling stock) และ 12) การให้คำปรึกษาและการให้ความช่วยเหลือด้านการเดินรถให้แก่การรถไฟ (Provision of Mass Transit Rail Authority Advice and Assistance Group)

ทั้งนี้ การก่อสร้างระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงชุมทางบางซื่อ-รังสิต มีเป้าหมายเป็นเส้นทางเดินทางระหว่างย่านใจกลางเมืองและย่านชานเมืองทั้ง 4 ทิศ เป็นโครงการตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (M-MAP) ระยะเร่งด่วน ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อ วันที่ 22 พ.ค. 2550 กรอบวงเงิน 59,888 ล้านบาท โดยได้รับความช่วยเหลือด้านเงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) จากนั้นได้ดำเนินการประกวดราคาจนได้ผู้รับจ้างในสัญญาที่ 1 และ 2 รวมทั้งที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง และที่ปรึกษาบริหารโครงการ โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2556 และปัจจุบันมีความคืบหน้าของโครงการในทั้ง 3 สัญญาไปในระดับหนึ่ง 


บอร์ด รฟท..jpg

สบน. เผยเดือน มี.ค. รถไฟชานเมืองสายสีแดงกู้ 98 ล้านบาท

ด้านนายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เผยว่า ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มี.ค. 2561 มีจำนวน 6,454,168.89 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.04 ของจีดีพี แบ่งเป็นหนี้รัฐบาล 5,145,028.98 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 918,898.16 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 381,046.94 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 9,194.81 ล้านบาท โดยเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหนี้สาธารณะคงค้างลดลงสุทธิ 9,522.95 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม ในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เงินกู้เพื่อการลงทุนจากแหล่งเงินกู้ในประเทศเพิ่มขึ้นสุทธิ 4,291.61 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการกู้ให้กู้ต่อแก่ (1) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 920.19 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจำนวน 304.81 ล้านบาท สายสีน้ำเงินจำนวน 382.59 ล้านบาท และ สายสีเขียวจำนวน 232.79 ล้านบาท (2) การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. เบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 3,371.42 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ จำนวน 1,600 ล้านบาท โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม – ชุมพร จำนวน 646.50 ล้านบาท โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น จำนวน 573.79 ล้านบาท โครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา – คลองสิบเก้า - แก่งคอย จำนวน 452.67 ล้านบาท และโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต จำนวน 98.46 ล้านบาท

ข่าวเกี่ยวข้อง :