วันที่ 19 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจวันที่สามในการลงพื้นที่อีสานเหนือของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางไปยังค่ายทหารประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี เพื่อติดตามตรวจเยี่ยมและดูความเป็นอยู่ของกำลังพล
โดยนายกรัฐมนตรี ได้สอบถามถึงอายุอาคารที่อยู่อาศัยของกำลังพลที่ส่วนใหญ่เป็นอาคารไม้ และเก่าทรุดโทรม ซึ่งอาจจะต้องมีการก่อสร้างอาคารใหม่เป็นที่พักสำหรับทหารชั้นประทวน ซึ่งนายกรัฐมนตรีแนะนำว่าหากกองทัพมีพื้นที่เพียงพอควรก่อสร้างเป็นลักษณะแฟลตชั้นเดียว หรือ สองชั้น มากกว่าอาคารตึกสูง เพราะค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างถูกกว่า
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มาเยี่ยมที่อยู่อาศัยในค่ายทหารประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี เพราะตั้งใจที่จะช่วยปรับปรุงสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของทหารโดยรวมให้ดีขึ้นเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ ทั้งนี้บ้านพักหลายจุดก่อสร้างตั้งแต่ปี 2495 สภาพเก่า ชำรุดทรุดโทรมมาก และจำนวนไม่เพียงพอ ซึ่งเราก็ควรจะดูแลชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นอย่างเท่าเทียม การมาดูครั้งนี้รัฐบาลตั้งใจจะทดลองปรับปรุงที่พักอาศัยใหม่ ให้สอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันมากขึ้น โดยจะทดลองปรับปรุงในพื้นที่ค่ายทหารต่างจังหวัดที่มีพื้นที่เยอะก่อนครับ
จากนั้นนายกรัฐมนตรี เดินทางต่อไปที่ โรงพยาบาลประจักษ์ศิลปาคม ติดตามการบริหารจัดการและการให้บริการรักษาทั้งกำลังพลและประชาชนทั่วไป ซึ่งกำลังพัฒนาโรงพยาบาลทหารให้สามารถรองรับผู้ป่วยและนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกทีได้ เพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้ป่วยในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข
โดยมีผู้ป่วยที่มารอรับบริการรวมถึงญาติผู้ป่วยเข้ามาขอถ่ายรูปกับนายกรัฐมนตรีเป็นที่ระลึกจำนวนมาก
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โรงพยาบาลทหารในค่ายประจักษ์ศิลปาคม และที่อื่นๆ สามารถพัฒนาให้รองรับกับนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ได้ ซึ่งโรงพยาบาลทหารที่นี่ ดูแลประชาชนที่เป็นผู้ป่วยนอก คิดเป็นสัดส่วน 77% ต่อปี อัตราการรักษา แพทย์ 1 คน ต่อคนไข้ 14,000 คนต่อปี และยังมีรถ mobile ออกพื้นที่ตรวจรักษาประชาชนในอุดรฯ จังหวัดใกล้เคียง และตามแนวชายแดนหนองคาย แต่ยังประสบปัญหาขาดบุคลากร ขาดอุปกรณ์ ขาดระบบไอที ขาดรถพยาบาลเคลื่อนที่ไม่พอ ขณะเดียวกันบุคลากรทางการแพทย์สังกัดกระทรวงกลาโหมก็ลาออกกันเยอะ เพราะไม่มีโอกาสเติบโต ไม่มีโอกาสบรรจุ อัตราเงินเดือนน้อยกว่าเงินสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทั้งหมดนี้ตนตั้งใจจะช่วยแก้ปัญหาให้โดยเร็วที่สุด และพัฒนาเป็นโมเดลโรงพยาบาลทหารนำร่องที่อุดรฯ และ rollout ไปในที่อื่นๆต่อไป
จากนั้นเวลา 10.20 น. ที่ว่าการอำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี เศรษฐา ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงการเดินทางไปเยี่ยมค่ายทหารประจักษ์ศิลปาคม และโรงพยาบาลประจักษ์ศิลปาคม ว่า ได้เดินทางไปร่วมกับพล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) เพื่อไปตรวจเยี่ยมค่าย และดูบ้านพักทหารที่สร้างมา 100 กว่าปี บางแห่งก็กว่า 80 ปี และได้เดินทางต่อไปดูที่โรงพยาบาลประจักษ์ศิลปาคมที่มี 200 เตียง ซึ่งมีประชาชนหนาแน่น การเดินทางไปตรวจเยี่ยมในครั้งนี้ ก็เป็นไปตามแผนทั้งหมดที่เราได้วางไว้ โดยได้มีการพูดคุยกับ ผบ.ทบ.ไปหลายเรื่อง ทั้งเรื่องบ้านพัก เรื่องของโรงพยาบาล เรื่องหนี้ของทหารรวมทั้งเรื่องกำลังพลที่มีการพูดกันว่าจะมีการลดจำนวนกำลังพล แต่อย่าไปพูดถึงการลดกำลังในส่วนของแพทย์และพยาบาล และเทคนิคการแพทย์
เพราะบางเรื่องที่เป็นเรื่องเฉพาะทางอย่างเช่นแพทย์พยาบาลหรือเทคนิคการแพทย์ ไม่ควรจะลดกำลังพล เพราะโรงพยาบาลทหารทั่วประเทศทุกโรงพยาบาลบริการประชาชนประมาณ 70 %ถึง 80% และแพทย์มีไม่เพียงพอ อย่างที่โรงพยาบาลประจักษ์ศิลปาคมมีหมอเพียง 19 คน มีจำนวนเตียงผู้ป่วย 200 เตียง ทำให้ไม่เพียงพอจะเห็นได้ว่ามีประชาชนจำนวนมากเข้าไปรับบริการ ทั้งนี้เมื่อได้ถามประชาชนที่เข้าไปรับการรักษาว่าพอใจหรือไม่ ซึ่งประชาชนทุกคนยืนยันว่า มีความสุขมาก และการไปครั้งนี้ตนไม่ได้กำหนดไว้ในแผน ทุกคนหน้าตา ยิ้มแย้มแจ่มใส
นายกฯ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ตนยังได้ไปดูในเรื่องของอุปกรณ์ว่าเพียงพอหรือไม่ รวมทั้งบุคลากรและรายได้ของเภสัชกรที่ยังขาดแคลนอยู่ โดยเฉพาะเภสัชกรที่ทำงานในโรงพยาบาลทหาร มีรายได้ที่น้อยกว่าเภสัชกรที่ทำงานของสาธารณสุข เป็นข้าราชการเหมือนกันแต่มีรายได้ที่แตกต่าง ซึ่งตนก็สงสัยว่าทำไมถึงต้องมีข้อแตกต่างแบบนี้ โดยผบ.ทบ.ได้นั่งรถมาด้วยกันได้มีการพูดคุยกันมีหลายเรื่องที่เราสามารถที่จะทำได้ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น
เมื่อถามถึงเรื่อง 30 บาทรักษาทุกที่จะสามารถเริ่มได้ด้วยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า มีส่วนและประชาชนก็ใช้อยู่แล้ว แต่ยังมีปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายเยอะแยะไปหมด ซึ่งเดี๋ยวจะมีการพูดคุยกับนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข
เมื่อถามย้ำว่า จะสามารถเข้าร่วมในโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ได้ด้วยกันใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ได้แน่นอนทั้งหมด แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่บุคลากรที่มีไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตามในส่วนของทหารเองก็มีโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกองทัพบก มีส่วนในการช่วยผลิตบุคลากร ที่มีคุณภาพส่งเสริมการเติบโต ทางเศรษฐกิจและช่วยเหลือประชาชนได้ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญการที่จะลดกำลังพลจะต้องไม่เกี่ยวกับส่วนนี้
เมื่อถามว่า ทั้งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขและทางทหารสามารถที่จะบูรณาการงานร่วมกันได้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า แน่นอนเพราะโรงพยาบาลทหารปัจจุบัน 70% เป็นพลเรือนที่เข้ารับการรักษา โรงพยาบาลใหญ่ๆอย่างโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าและอีกหลายที่ ประชาชนก็เข้าไปรับบริการ ซึ่งโรงพยาบาลจำนวน 200 เตียงมี 10 กว่าโรงพยาบาลทั่วประเทศ และทุกโรงพยาบาลกว่า 70% ทำหน้าที่ดูแลประชาชน อีกทั้งสถานบริการขนาดเล็กอย่างสถานีอนามัย ก็ต้องช่วยกันดูแลตรงนั้นด้วย
ด้าน ผบ.ทบ. กล่าวด้วยว่า โรงพยาบาลทหารสามารถอยู่ร่วมในโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ได้ และโรงพยาบาลทหารก็รับบัตรทองด้วย