ไม่พบผลการค้นหา
'ชัชชาติ' เมินถูกติง ตั้ง 1 ใน คณะทำงาน เอี่ยวคดีปั่นหุ้น ยันตรวจสอบคุณสมบัติก่อนแต่งตั้ง เผยเป็นเพียงเรื่องเข้าใจผิดการซื้อขายหุ้นปี 2557 โดยถูก ก.ล.ต.สั่งปรับแล้ว ซึ่งไม่ใช่ความผิดอาญา ยันเร่งสางปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวเดินหน้าเคลียร์​หนี้ กทม.​ ตั้งเป้าลดค่าโดยสาร เล็งเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย​ ย้ำชัดเจนภายใน1เดือน

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงกับสื่อมวลชน หลังเข้าทำงานวันแรก ที่ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ถึงประเด็นที่ถูกจับตาหลังจากเปิดตัวคณะทำงาน หนึ่งในนั้นคือ ศนิ จิวจินดา ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งในอดีต ศนิ ถูกกล่าวหาเกี่ยวข้องกับการปั่นหุ้น เมื่อปี 2557 

โดยคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง พร้อมกับพวกรวม 13 ราย เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 กรณีสร้างราคาหุ้น “เกียรติธนา ขนส่ง” หรือ KIAT ซึ่งมีผลทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นจาก 7.75 บาท เป็นราคา 15.60 บาทระหว่างวันที่ 4 - 2 ธ.ค. 2557

ซึ่ง ก.ล.ต. มีมาตรการทางแพ่งสั่งปรับ รวม 291.17 ล้านบาท ทำให้ถูกมองว่า การแต่งตั้งบุคลที่เคยมีความเกี่ยวกับการปั่นหุ้น หมาะสมหรือจะส่งให้ภาพลักษณ์ของ ชัชชาติ เสียหายหรือไม่ เนื่องจาก ชัชชาติ เคยหาเสียงเรื่องการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นใน กทม. 

ชัชชาติ ชี้แจงว่าได้ตรวจสอบประวัติของ ศนิ ก่อนแต่งตั้งให้เป็นคณะทำงานอย่างรอบคอบแล้ว และทราบมาในอดีต กลต.สั่งปรับในเรื่องดังกล่าวซึ่งเป็นเรื่องในอดีตตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเป็นความผิดพลาด และความเข้าใจผิดในการซื้อขายหุ้นดังกล่าว โดยถูก ก.ล.ต.สั่งปรับตามระเบียบแล้ว ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่ใช่คดีอาญาและไม่ได้ถึงชั้นศาลไม่ผิดระเบียบ ของ กทม.

สำหรับตำแหน่งที่เซ็นแต่งตั้ง ศนิ เป็นตำแหน่งผู้ช่วยเลขาฯไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเงิน แต่เป็นงานด้านเอกสาร มั่นใจในศักยภาพของ ศนิ ว่าจะสามารถร่วมงานกันได้อย่างดีเนื่องจากรู้จักกันมาก่อน


เร่งสางปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว เดินหน้าเคลียร์​หนี้ กทม.​

ชัชชาติ กล่าวภายหลังร่ว​มหารือบริษัทกรุงเทพธนาคม​นานกว่า​ 1​ ชั่วโมง เพื่อดูรายละเอียด​สัญญาการเดินรถ​และสัมปทาน​รถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมถึงการนำสายสื่อสารลงดิน ​

ชัชชาติ ระบุว่า​ ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเขียวคาดว่าจะได้ข้อสรุปใน 1 เดือนซึ่งการหารือกับกรุงเทพธนาคมวันนี้ทำให้ได้เห็นสัญญาการเดินรถที่จะสิ้นสุดในปี2585 ซึ่งเป็นตัวที่ก่อให้เกิดภาระหนี้สิน​จึงต้องนำข้อมูลมาตรวจสอบว่าภาระหนี้สินเกิดจากอะไร และสัญญาได้รับการอนุมัติ​จากสภากทม.หรือ​ไม่​ ซึ่งขออย่าเอาหนี้สินมาเป็นตัวเร่งรัดการตัดสินใจระยะยาว​ แม้ว่าจะมีดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน​ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็น​กทม.ยังมีข้อบัญญัติ​ในการกู้เงินที่จะนำมาชำระหนี้สินได้โดยเป็นข้อบัญญัติ​ที่ต้องผ่านสภากทม.ก่อน​ และเป็นการกู้เงินจากรัฐจะได้ดอกเบี้ยที่ถูกลงกว่าเอกชนกู้ซึ่งย้ำว่าต้องดูรายละเอียด​ให้รอบ​คอบ​ก่อน​ 

ส่วนการขยาย​สัญญาสัมปทาน​ที่จะหมดในปี2572 นั้น​ ชัชชาติ​ กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการหารือเพราะยังมีส่วนที่เกี่ยวข้อง​อย่าง สำนักการจราจร ​และขนส่ง​กรุงเทพ​มหานคร​ หรือ​ สจส.​ และ สภากทม.​ ต้องเข้ามาพูดคุยกัน​ถึงข้อมูลและทบทวนการต่ออายุสัญญาโดยให้ สภากทม.ดูเนื้อหาอย่างละเอียด​ตามแนวทางปฎิบัติ​ เพราะสัญญาเดิมที่ค้างอยู่ในครม.ขณะนี้เกิดขึ้นจากการพิจารณา​ของคณะกรรมการ​ที่ถูกตั้งขึ้นโดยใช้ ม.44​ ทั้งนี้ หากศึกษารายละเอียดเชื่อว่าจะมีจุดที่ทำให้สัญญา​ถูกลงได้​ เพราะที่ผ่านมาไม่มีการใช้พรบ.ร่วมทุนเข้ามาแข่งขัน​ 

ส่วนจะทำราคาค่าโดยสารถูกลง​จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะอยู่ในราคา 25 บาทนั้น​ ชัชชาติ ระบุว่า​ เป็นเป้าหมายที่ตั้งใจจะทำ​ และมีความเป็นไปได้​ แต่ยอมรับว่าก็มีปัจจัย​อื่นที่ควบคู่​ไปด้วยเช่นโครงสร้างหนี้พื้นฐานที่จะเป็นตัวเปลี่ยนแปลงกำไรและขาดทุน​ พร้อมมองว่าอีกหนึ่งแนวทางที่จะลดภาระหนี้สิน​ คืออาจจะเริ่มเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย​ทั้งสองส่วน​ เพราะปัจจุบัน​การให้บริการฟรีอาจจะไม่สมเหตุสมผล​ และส่งผลกระทบต่ออาชีพการให้บริการรถขนส่งสาธารณะ​ที่จะขาดรายได้​ ทั้งนี้ ต้องดูความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น​ประชาชนและเอกชนด้วย​ 

ชัชชาติ​ ระบุต่อว่า หลังจากได้ข้อสรุป​จะต้อง​รายงานต่อ​ พลเอกอนุพงศ์​ เผ่า​จินดา​รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​มหาดไทย ​โดยจะรับสรุปข้อมูลเพื่อเข้าหารือให้เร็วที่สุดและคงยังไม่เข้าไปรายงานที่ประชุมครม.​ และย้ำว่า​ สิ่งที่ กทม.อยากทำมากที่สุด​ คือการเร่งคืนหนี้สินให้รัฐบาลให้เร็วที่สุด และอยากขอให้ กทม.มาดูแลเรื่องการเดินรถเองเพราะถือเป็นสมบัติของเมือง​ 

ส่วนกรณีหารือในประเด็นสายสื่อสารลงดินนั้น ชัชชาติ​ ระบุว่า ยังไม่มีความคืบหน้าเพราะขณะนี้มีปัญหาเรื่องรายได้และผู้เข้ามาดำเนินการ​ ที่มีสัญญาจ้าง​ 4​ ฉบับ​ กรอบวงเงิน 19,000 ล้านบาท​ เพราะเป็นรูปแบบที่ไม่เจออะไรหน้างาน จึงต้องเข้าไปศึกษารายละเอียด​ข้อมูล​ ถือเป็นสิ่งที่ประชาชน​อยากเห็นความก้าวหน้าและจะต้องไม่เป็นภาระของผู้บริโภค​เพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน​ที่สำคัญ​ 

“ส่วนการหารือกับองค์การต่อต้านคอรัปชั่นจะมีการหารือกันในวันจันทร์ที่ 6 มิถุนายนนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความไว้ใจให้กับประชาชน เพราะการบอกว่าตนเองโปร่งใส ใครก็ไม่เชื่อ แต่ถ้ามีผู้มาร่วมสังเกตและให้ข้อแนะนำ และมีการตรวจสอบจะทำให้มีความมั่นใจในการทำงานได้ดีขึ้น ถ้าเรากลัดกระดุมเม็ดแรกถูกก็จะไปต่อได้” ชัชชาติ กล่าว