เวลา 11.00 น. วันที่ 30 มิ.ย. 2565 ที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการคมนาคม มีการประชุมหารือวาระพิจารณาเรื่อง "แนวนโยบายในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล" โดยมี ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้เข้าร่วมประชุมหารือ
ชัชชาติ กล่าวว่า เป็นโอกาสที่ดีที่ได้เข้ามาหารือกับคณะกรรมมาธิการ เพราะเรื่องคมนาคมก็เป็นนโยบายของเรา ใน กทม.เองก็มีหลายหน่วยงานที่ดูแลคมนาคม 37 หน่วยงาน การขนส่งทางบกเป็นเรื่องสำคัญ กทม.ดูแลแค่เรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่เป็นสายหลัก
ชัชชาติ กล่าวว่า นโยบายแรกต้องเป็นผู้ประสานงานที่เข้มแข็ง เช่น การจราจรทางถนน ก็จะมีการหารือกับทางตำรวจ มีการทำระบบการบริหารจัดการจราจรด้วยระบบอัจฉริยะ (ITMS) ใช้เทคโนโลยีเข้ามาดูแล และต้องตั้งคณะทำงานร่วมกัน ทาง กทม. พร้อมตั้งงบฯ สนับสนุน ส่วนหนึ่งมีกล้องจับข้อมูลการเคลื่อนรถ และใบสั่งค่าปรับ ถือเป็นประโยชน์ของคนกรุงเทพฯ ที่สำคัญ
ชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องระบบขนส่งมวลชน ขสมก. ไม่ได้อยู่ในความดูแลของกทม. ซึ่งจะมีการเดินรถเมล์ในบางจุดเสริมกับ ขสมก. แต่ใบอนุญาตอยู่ที่ขนส่งทางบก ดังนั้นการขออนุญาตเดินรถบางเส้นทางได้ เพื่อช่วยเสริมให้ประชาชนได้ประโยชน์ โดยจะเลือกบางเส้นทางที่ใกล้กับรถไฟฟ้า และอาจจะรวมเป็นบัตรเดียวกัน
ชัชชาติ เสริมว่า ปัญหาที่ต้องหารือ คือ สัญญาสัมปทาน แต่มีการเซ็นสัญญาล่วงหน้าตั้งแต่ปี 2572-2585 มันต้องดูเงื่อนไขว่า เราทำอะไรตามที่ควรจะเป็นไม่ได้ เรากำลังดำเนินการอยู่ เรามีภาระเรื่องหนี้ที่รัฐบาลลงทุนไปแล้ว และโอนมาที่กทม. แล้วยังไม่ได้จ่าย ต้องดูว่าจะแบ่งจ่ายอย่างไร
ชัชชาติ กล่าวว่า หน้าที่ของ กทม. เส้นเลือดฝอยมันคือนโยบายของเรา ที่จะเน้นย้ำการเดินช่วยให้ช่วงการเดินมันมากขึ้น การเดินดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็ก แต่มันคือการคมนาคมที่สำคัญ มันคือการสร้างธุรกิจรายทาง และสร้าง กทม. ให้เป็นเมืองเดินได้ และไม่ได้ใช้เงินเยอะ
ขณะที่ คารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ยังไม่เห็นผู้ว่าฯ กทม. ให้ความเห็นเรื่องการคมนาคมทางน้ำ โดยปัญหาที่เน้นย้ำคือ ประตูระบายน้ำที่เชื่อมต่อกัน ดังนั้นการขนส่งทางน้ำ จึงเป็นเรื่องที่ช่วยได้
นอกจากนี้ คารม ยังได้ถามถึง ชัชชาติ ว่า ตนนั้นเป็น ส.ส.ที่มาจากต่างจังหวัดในแถบภาคอีสาน จึงอยากเรียนถามท่านผู้ว่าฯ ว่าจะคิดอย่างไร หากตนจะแสดงความเห็นเรื่องดังกล่าว
ชัชชาติ ตอบว่า การดูแลคมนาคมทางน้ำนั้น เราอาจจะเดินเรือเพิ่มบางเส้นทาง โดยเฉพาะคลองลาดพร้าว แต่ปัญหาคือ สมัยก่อนน้ำมันอยู่หน้าบ้าน และมันไม่เป็นจุดเชื่อมต่อ เพราะแต่ละบ้านก็มีท่าน้ำ เมื่อลงทุนทางเรือจึงไม่คุ้มทุน แต่คล่องลาดพร้าวมีจุดเชื่อมต่อ ประเด็นคือต้องมีเขื่อนที่ดี เพราะไม่เช่นนั้นตลิ่งจะพัง ส่วนฝั่งธนบุรี คงต้องดูที่คลองภาษีเจริญ และประตูระบายน้ำต้องมีการดูเรื่องปรับเวลาประตู เพื่อไม่ให้เสียเวลากว่าครึ่งชั่วโมง
ส่วนเรื่องคนต่างจังหวัดนั้น ชัชชาติ กล่าวว่า หลายครั้งที่มีการพูดของคนมาเยือนก็ดี เพราะคนกทม. อยู่กับปัญหาจนชิน ผู้มาเยือนให้ความเห็นเป็นมุมมองอีกมุมมองหนึ่ง เรายินดีรับฟังความเห็นของทุกจังหวัด
ขณะที่เรื่องหม้อแปลงไฟฟ้า ชัชชาติ เสริมว่า ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพบว่าหม้อแปลงไฟฟ้าเป็นของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มีความเกี่ยวข้องกับสายสื่อสาร และเชื้อเพลิง โดยจุดไหนที่มีความเสี่ยง ทางกทม. จะแจ้งให้กับการไฟฟ้ารับทราบอีกที
ทั้งนี้ได้มีสมาชิกในคณะกรรมาธิการถามถึงการดูแลจัดการประชากรแฝงในกทม. ชัชชาติ กล่าวว่า เราต้องดูแลประชาชนเท่ากันทุกคน โดยตอนนี้ได้มีการหาเด็กรุ่นใหม่ๆ จัดตั้งอาสาสมัครเทคโนโลยี เพื่อสำรวจว่ามีคนต่างจังหวัดกี่คน โดยให้เด็กรุ่นใหม่รายงานเข้ามา และต้องมีแรงจูงใจให้แก่คนต่างจังหวัดย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาใน กทม. มากขึ้น