ไม่พบผลการค้นหา
ภาคประชาชน แสดงจุดยืนสนับสนุน พิธา นั่งนายกฯ จี้ ส.ว.-พรรครัฐบาลเดิม โหวตเห็นชอบด้วย มอง 19 ก.ค.ถือเป็นโอกาสกลับใจ แนะ 8 พรรคร่วมมัดกันให้แน่น ป้องกันกลุ่มอำนาจเก่าพลิกขั้ว อดีตคนเดือนตุลา หวั่น เกิดนองเลือดหากยังดึงดัน เตือนผู้มีอำนาจอย่าฆ่านกพิราบกลางถนนอีก

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และภาคประชาชน จัดเวทีแถลงวิพากษ์บทบาทส.ว. และข้อเสนอในการเลือกนายกรัฐมนตรี วันที่ 19 ก.ค.66 ผู้ร่วมแถลงประกอบด้วย เมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป., จำนงค์ หนูพันธุ์ ประธานขบวนการการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move), สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เยี่ยมยอด ศรีมันตะ ที่ปรึกษาสหภาพครูแห่งชาติ และนายอมร รัตนานนท์ อดีตเลขาธิการเครือข่ายเดือนตุลา

โดยนายเมธา กล่าวว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองหลังจากส.ว.โหวตไม่เห็นชอบ และงดออดเสียง ในการเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ไม่สามารถเลือกนายกฯ จากพรรคเสียงข้างมากได้ โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ให้อำนาจส.ว.เลือกนายกฯ โดยจะหมดวาระเดือน พ.ค.66 ซึ่งเป็นการเขียนไว้รองรับเพื่อสืบทอดอำนาจ แต่หลังการเลือกตั้งเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ฝ่ายประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้ง ได้เสียงข้างมากมโหฬาร เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งอย่างชัดเจนของฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายคสช. 

เมธา กล่าวว่า ภาคประชาชนรู้สึกผิดหวังบทบาทส.ว. ที่งดออกเสียง และไม่เห็นชอบ ซึ่งการงออกเสียงเท่ากับไม่เห็นชอบอยู่แล้ว ถือเป็นความไม่รับผิดชอบต่อสังคม การพัฒนาระบอบประชาธิปไตย และไม่รับผิดชอบต่อรัฐสภา เรายังไม่อยากประณามส.ว.มาก เพราะส.ว.ยังมีโอกาสโหวตนายกฯในวันที่ 19 ก.ค.นี้ จากการโหวตงดออกเสียง ส.ว.บางคนอาจจะเข้าใจผิดว่าเป็นการไม่แสดงบทบาทในการเลือก

ดังนั้นภาคประชาชนขอโอกาสอีกครั้ง ว่าส.ว.ควรโหวตตามเสียงข้างมากในสภาฯ และอย่าโหวตงดออกเสียงอีก เพราะจะเท่ากับไม่เห็นชอบ แต่หากยังเป็นแบบเดิม จะทำให้บทบาทส.ว. ถูกตั้งคำถามอย่างหนักว่าส.ว. เป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ส.ว.มีความหมาย และมีคุณค่าหรือไม่ และหากถึงเวลาร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ก็อาจมีคำถามว่าควรต้องมีส.ว.อีกต่อไปหรือไม่ 

เราอยากขอโอกาสพรรคการเมืองทุกพรรคเพื่อผ่าทางตันการเมืองไทยไปอย่างสันติ โดยขอให้พรรครัฐบาลเดิม ทัังพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคประชาธิปัตย์ ที่งดออกเสียงซึ่งมีนัยสำคัญ ดังนั้น เพื่อหยุดวงจรสืบทอดอำนาจ พรรคร่วมรัฐบาลเดิมที่ไม่ใช่พรรคตัวแทนคสช.โดยตรง น่าจะรวมกันเปลี่ยนผ่านการเมืองไทยช่วงนี้ รวมถึงพรรคภูมิใจไทยด้วย

เมธา กล่าวต่อว่า ส่วนมาตรา 112 ควรเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นสิทธิของพรรคการเมืองที่จะเสนอต่อสภาฯ โดยเป็นนโยบายของพรรคก้าวไกล ไม่ใช่เรื่องของอีก 7 พรรคจึงไม่ใช่เหตุผลในการงดออกเสียง และไม่โหวตเลือกพรรคก้าวไกลเป็นนายกฯ เนื่องจากการแก้กฎหมายเป็นเรื่องที่พิจารณากันในสภาฯ ไม่เกี่ยวกับการเลือกนายกฯ

นอกจากนี้ ครป. สนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ 60 ทันที และผลักดันให้มีส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญโดยเร็ว ควรผลักดันเรื่องนี้เร่งด่วนคู่ขนานกับการเลือกนายกฯ เราคาดหวังว่าพรรคการเมืองที่รวมกันอยู่ ควรต้องผนึกกำลังกันให้แน่น เหมือนไผ่ร้อยกอยิ่งมัดแน่นยิ่งไม่ถูกทำลาย แม่น้ำ 8 สายรวมกันเป็นแม่น้ำใหญ่ได้ ป้องกันการฟื้นกลุ่มอำนาจเก่า เพราะดูแนวโน้ม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อาจมีสิทธิถูกเสนอเป็นนายกฯ ก็ได้

ด้านจำนงค์ กล่าวว่า ภาคประชาชนผิดหวังกับการโหวตนายกฯของส.ว. พรรคก้าวไกลเป็นเสียงข้างมาก แต่ได้เสียงจากส.ว.แค่ 13 เสียง ดังนั้น พีมูฟยืนยันขอสนับสนุนพิธา เป็นนายกฯเหมือนเดิม เพื่อเป็นความหวังของประชาชนทั้งประเทศ เป็นรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทย และถ้าจะเป็นฝ่ายค้านก็เป็นไปด้วยกัน เพราะเป็นฝ่ายประชาธิปไตย เราขอเรียกร้อง พรรคการเมืองทั้งหมดให้โหวตนายกฯจากเสียงข้างมาก เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยที่ต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่ประชาชน

ส่วนคดีของพิธา ขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วินิจฉัยโดยมุ่งหลักประชาธิปไตย นอกจากนี้ ต้องมีการเร่งรัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยรัฐมนตรีที่เข้าใจปัญหาของประชาชน เพื่อสร้างบรรยากาศความร่วมมือ ซึ่ฝยืนยันว่าเสียงประชาชนคือฉันทามติ หวังว่าทุกพรรคจะสร้างการเมืองที่ถูกต้อง วันที่ 19 ก.ค.นี้ พีมูฟจะรอฟัง ส.ส. และ ส.ว. เปลี่ยนใจมาร่วมสนับสนุนนายพิธา เพื่อให้ได้เข้ามาบริหารประเทศ ทำทุกนโยบายให้สำเร็จ เราจะสนับสนุนนายพิธาตลอดไปไม่ว่าจะโหวตกี่รอบก็ตาม” นายจำนงค์ กล่าว    

ขณะที่ สุนทรี กล่าว สถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะมีความพยายามจากฝ่ายอำนาจนิยมที่ปฏิเสธการตัดสินใจของประชาชน ขอเตือนทุกฝ่ายที่กำลังเล่นเกมว่ากำลังจะทำให้ประเทศถึงทางตัน อยากให้พรรคการเมือง 8 พรรค ยืนยันความร่วมมือมุ่งไปสู่การมีนายกฯ และรัฐบาล จากเสียงของประชาชน ส่วนพรรคการเมืองเสียงข้างน้อย ประชาชนจับตาดูอยู่

ถ้าคิดว่ากำลังจะตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย หลายคนทำนายว่าการไม่เคารพเสียงประชาชนจะทำให้พรรคการเมืองต่างๆนำไปสู่การสูญพันธุ์ ส่วนส.ว.หากไม่เคารพเสียงประชาชนก็ยังจะเจอสถานการณ์แบบที่เจออยู่ตอนนี้ ประชาชนมีสิทธิบอยคอยธุรกิจ มีสิทธิแสดงออกตามประชาธิปไตย ขณะที่ส.ว.เองยังมีสิทธิกลับตัวกลับใจโหวตตามเสียงประชาชนในวันที่ 19 ก.ค.นี้ ไม่ว่าส.ว.จะเจอกระแสกดดันอะไร เป็นไปตามกระแสข่าวจริงหรือไม่ แต่ตราบใดที่ส.ว.ยืนอยู่ข้างประชาชน ประชาชนจะอยู่ข้างคุณแน่นอน

สุนทรี กล่าวต่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเดินหน้า รวมถึงกฎหมายสำคัญอีกหลายเรื่องต้องเอามาหาทางออกร่วมกันในสภาฯ โดยต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย สำหรับกกต. ศาลรัฐธรรมนูญ และอื่นๆ ขอเรียกร้องให้ท่านแสดงบทบาทโดยที่ไม่แสดงความเป็นปฏิปักษ์กับประชาชน

ด้าน นายอมร กล่าวว่า หากยังดึงดันตนได้กลิ่นคาวเลือดว่าจะมาอีกครั้ง ตนเชื่อว่ายังไม่สายเกินไปที่ส.ว.จะตัดสินใจให้สังคมเดินไปอย่างสันติ หรือส.ว.จะเป็นเครื่องมือการรักษาอำนาจกลุ่มทุนหรือกลุ่มราชการ ถ้าท่านถอนฟืนออกจากกองไฟ จะไม่นองเลือด หันมาให้ความเคารพในความเป็นมนุษย์ เคารพลูกหลานว่าเป็นเจ้าของประเทศ ให้โอกาสเขาที่วันนี้เข้ามาสู้ในสภาฯแล้ว

ส่วนข้อเสนอแก้มาตรา 272 ไม่ควรมีมนุษย์หน้าไหนที่จะปฏิเสธไม่ให้เปลี่ยนแปลง เพราะเป็นความชอบธรรม และสมเหตุสมผลที่ส.ว.ต้องสนับสนุน อย่างไรก็ตาม วันที่ 19 ก.ค.นี้ ตนไม่คาดหวัง แต่อาจจะเห็นอีกมิติที่ส.ว.บางคนจะสำนึก และตระหนักรู้จากการที่ประชาชนขอความร่วมมือ แต่อยากขอเรียกร้องคนหนุ่มสาวว่าอย่าคาดหวังว่าการเปลี่ยนแปลง ภายใต้การฝังรากลึกของกลุ่มอำนาจเก่าจะยอมถอยง่ายๆ

ดังนั้นต้องสร้างเครือข่ายที่มีการจัดตั้งพลังอำนาจในการเคลื่อนไหว และการคิดรูปแบบการเคลื่อนไหว ให้ก้าวต่อไปอย่างสุขุมรอบคอบ มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน หากปล่อยให้เคลื่อนไหวอิสระ 100% จะเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง ตนไม่อยากเห็นการฆ่านกพิราบกลางถนน ฝากผู้มีอำนาจว่าถึงอย่างไรพวกเขาก็เป็นลูกเป็นหลาน การเข่นฆ่ากันต้องไม่เกิดขึ้น อย่าได้สร้างกลุ่มมวลชน สื่อเทียม เพื่อปลุกปั่นประชาชนให้เข่นฆ่ากันเองอีก