ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลนี้ทิ้งทวนสร้างความประทับใจ เมื่อลงท้ายด้วยการมีคนจนที่จะต้องรับ 'บัตรคนจน' เพิ่มเป็นเกือบ 20 ล้านคน เพิ่มเป็นสองเท่าจาก 6-7 ปีก่อน แถมในช่วงใกล้เลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐยังขยายผลจากโครงการนี้โดยโฆษณานโยบายว่า จะเพิ่มวงเงินในบัตรถึง 700 บาท จากเดิมอยู่ที่ 200-300 บาท

'บัตรคนจน' หรือชื่ออย่างสุภาพคือ 'บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ' มีมาหลายปีแล้ว และเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจสำคัญของคณะรัฐประหาร โดยหลังจาก คสช.ยึดอำนาจราวปีกว่า ประมาณปลายปี 2559 ก็มีนโยบายให้คนรายได้น้อยลงทะเบียนเพื่อรับเงินช่วยเหลือ 1,500 บาท และ 3,000 บาทแล้วแต่เลเวลความจน เรียกว่าทั้งปีให้เป็นก้อนก้อนเดียว ตอนนั้นมีคนลงทะเบียน 8 ล้านกว่าคน ใช้งบประมาณ 19,290 ล้านบาท 

ในปีต่อมา 2560 'ทีมเศรษฐกิจ คสช.' นำโดยสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จึงคิดค้นการช่วยเหลือ 'คนจน' เป็นรายเดือนผ่าน 'บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ' มีคนลงทะเบียน 11.67 ล้านคน ให้เงินเป็นรายเดือน วงเงิน 200 และ 300 บาทแล้วแต่เลเวลความจน เพื่อนำไปซื้อของกินของใช้จากร้าน 'ธงฟ้าประชารัฐ' รวมถึงใช้เป็นส่วนลดก๊าซหุงต้ม ใช้สิทธิขึ้นรถไฟฟรี ทดแทนโครงการรถไฟฟรีเพื่อประชาชน และให้วงเงินสำหรับการเดินทางอีก 500 บาททั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า บขส. เริ่มใช้วันแรก 1 ต.ค.2560 

ในช่วงเวลาที่คณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าสถานะของโครงการนี้คืออะไร ต่อมาปี 2561 มีการก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ และถัดมาปี 2562 ก่อนจะมีเลือกตั้ง รัฐบาล คสช.ออกกฎหมายเพื่อจัดตั้งกองทุนรับรองโครงการนี้โดยใช้ชื่อที่ละม้ายคล้ายชื่อพรรค นั่นคือ 'กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม' กำหนดงบประมาณในปีดังกล่าว 46,000 ล้านบาท 

โครงการนี้ดำเนินต่อเนื่องเรื่อยมา 'คนจน' เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 13.4 ล้านคนและกำลังจะแตะ 20 ล้านคนในการประกาศรอบล่าสุด ช่วงปลายเดือน ม.ค.ถึงต้นก.พ.นี้  

สำหรับงบประมาณนั้น ข้อมูลจากสำนักงบประมาณเผยให้เห็นวงเงินที่อนุมัติกันทุกปี ประกอบกับรายงานข่าวของสื่อมวลชนจะพบการแถมพ่วงด้วยการอนุมัติงบกลางเพิ่มเติมเป็นระยะ ดังนี้ 

  • ปี 2561 วงเงินราว 59,000 ล้านบาท (เพิ่มงบกลางฉุกเฉิน 37,900 บาท) 
  • ปี 2562 วงเงินราว 40,000 ล้านบาท (เพิ่มงบกลางฉุกเฉิน 2 ครั้ง 47,900 ล้านบาท 10,000 ล้านบาท )  
  • ปี 2563 วงเงินราว 40,000 ล้านบาท 
  • ปี 2564 วงเงินราว 49,500 ล้านบาท (เพิ่มงบฉุกเฉิน 28,000 ล้านบาท )
  • ปี 2565 วงเงินราว 30,000 ล้านบาท 
  • ปี 2566 มีวงเงินเพียง 35,500 กว่าล้านบาทเท่านั้น 
ยิ่งจน ยิ่งแจก เพิ่มวงเงินบัตร เอาเงินจากไหน? 

อันที่จริง แนวคิดเรื่องเพิ่มวงเงินบัตรเป็น 700 บาท พล.อ.ประวิตร ไม่ใช่คนแรกที่ประกาศ ในยุครัฐบาลคสช. ปลัดกระทรวงการคลัง - สมชัย สัจจพงษ์ เคยโชว์ไอเดียนี้มาแล้ว และรัฐบาล คสช.ต้องออกมาแตะเบรคกันแทบไม่ทัน เพราะถูกตั้งคำถามมากเรื่องการใช้งบประมาณ

หากคำนวณกันเล่นๆ ตามนโยบายที่พรรคพลังประชารัฐประกาศเมื่อวันก่อนว่าจะเพิ่มวงเงินในบัตรเป็น 700 บาท สมมติว่ามีผู้ได้รับสิทธิ์ 18 ล้านคนก็จะต้องใช้งบประมาณเดือนละ 1.2 หมื่นล้านบาท หรือ ปีละ 1.5 แสนล้านบาท  

เงินจำนวนนี้ในช่วงเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวจะเอามาจากไหน? นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ ได้ตอบคำถามนี้ของสื่อมวลชน แต่ก็ตอบไม่ตรงเป้าชัดเจนนัก เพราะบอกว่านอกเหนือจากการพึ่งพิงงบประมาณ ยังสามารถจัดตั้ง 'กองทุนเพื่อสังคม' เปิดการระดมทุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ​ แล้วตั้งคณะกรรมการมากำกับเพื่อดูแลว่า เม็ดเงินจะนำไปใช้ที่ไหน อย่างไร โดยดึงกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) มาทำให้เกิดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเป็นรูปธรรม รัฐบาลมีหน้าที่ออกแบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อจูงใจนักลงทุนให้มาซื้อกองทุน

“ยกตัวอย่าง หากเราตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร บริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาจะสามารถเข้าไปดูแลเกษตรกรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และสิ่งที่ธุรกิจเพื่อสังคมต้องทำคือ เชื่อมเกษตรกรและภาคเอกชนเพื่อหาตลาดและสร้างรายได้กับเกษตรกร ซึ่งรายได้นี้ ต้องแบ่งสัดส่วนคืนมาที่ธุรกิจเพื่อสังคมด้วย และคืนผลตอบแทนกลับมาที่นักลงทุนที่เป็นเจ้าของเงินที่ซื้อหน่วยลงทุน” นฤมล กล่าว 

นี่คือหนทางหาเงินให้ได้ 1.5 แสนล้านของพลังประชารัฐ 


สตง.เคยประเมิน โครงการไม่คุ้มค่า 

ในปี 2563 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการประชารัฐสวัสดิการ ในสมัยรัฐบาล คสช.ว่า 

  • การอบรมพัฒนาอาชีพ นอกจากทำไม่ได้ตามเป้าแล้วยังไม่บรรลุผลสําเร็จ "จากผลสำรวจพบว่ามีผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่ได้นําความรู้จากการอบรมไปใช้ประโยชน์คิดเป็นร้อยละ 64.88" 
  • ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถใช้ประโยชน์สวัสดิการที่กําหนดบางรายการได้น้อยมาก เช่น การบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่เกษตรกร คิดเป็น 4.46% มาตรการช่วยเหลือค่าเดินทางไปรับการรักษาพยาบาลสําหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย คิดเป็น 3.61%
  • การจําหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคของร้านธงฟ้าประชารัฐที่เข้าร่วมโครงการด้วยราคาที่ไม่ แตกต่างจากราคาท้องตลาด และอาจไม่สามารถควบคุมรายการที่จําเป็นต่อการครองชีพได้อย่างแท้จริง
  • การติดตามและรายงานผลการดําเนินงานมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตร สวัสดิการแห่งรัฐไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กําหนด 

เป็นต้น 


ประชานิยมแบบทหาร 

อรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เคยให้ความเห็นไว้ว่า 

"ความแตกต่างระหว่างนโยบายที่ให้ประโยชน์กับประชาชนกับ “นโยบายประชานิยม” (populist policy) อยู่ที่ นโยบายอย่างแรกมีเป้าหมายหลักก็เพื่อต้องการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรของประเทศโดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและผลกระทบเชิงลบอย่างรอบด้านให้อยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลเสียต่อการบริหารราชการ วินัยทางการคลัง และงบประมาณโดยรวม ขณะที่นโยบายอย่างหลังในความสำคัญไปที่การเอาใจประชาชนและมุ่งหวังที่จะแปลเปลี่ยนความพึงพอใจดังกล่าวเป็นคะแนนนิยมในการเลือกตั้ง ...."

"เมื่อพิจารณาถึงนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ของรัฐบาล คสช. แล้ว บางช่วงเวลาที่นโยบายนี้ออกมา (ตุลาคม 2561) ความรัดกุมในการนำไปปฏิบัติ จำนวนเม็ดเงินงบประมาณที่อัดฉีดเข้าไปในโครงการ รวมถึงท่าทีทางการเมืองของผู้นำรัฐบาล ก็มีความโน้มเอียงไปในทางนโยบายประชานิยม มากกว่านโยบายเพื่อประชาชน" 

ด้านเดชรัตน์ สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Thkink Foward Center ให้ความเห็นว่า ควรทำให้ให้สวัสดิการเป็นสิทธิของประชาชนที่ชัดเจน และเป็นสิทธิแบบถ้วนหน้า โดยมีกฎหมายกำกับเฉพาะ มากกว่าจะขึ้นลงตามนโยบายของรัฐบาลหรือตามเทศกาลเลือกตั้ง 

"ถ้าเป็นสิทธิพื้นฐานถ้วนหน้าที่ประชาชนทราบได้อย่างแน่นอน ประชาชนจะวางแผนชีวิตของตนได้ดีกว่าการขึ้นลงตามกระแสการเมือง" 

===

หมายเหตุ ต่อข้อครหาว่าโครงการนี้เอื้อกลุ่มทุนใหญ่นั้น รัฐบาล คสช.ปฏิเสธว่าทุกกลุ่มสามารถขายในร้านธงฟ้าได้ รวมถึงสินค้า SMEs ท้องถิ่น ส่วนผู้ผลิตรายใหญ่ที่นำสินค้ามาจำหน่ายในร้านก็ให้ราคาต่ำกว่าราคาตลาด (ขณะที่สตง.ระบุผลตรวจสอบว่า ราคาไม่แตกต่างกับราคาตลาด)

อย่างไรก็ตามวันที่ 9 ต.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลบนเว็บไซต์ของกรมการค้าภายใน www.dit.go.th ระบุว่า มีผู้ประกอบการผลิตสินค้าที่ส่งสินค้าลดราคาต่ำกว่าตลาดทั่วไปประมาณ 15-20% เข้าร่วมจำหน่ายในร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ รองรับการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐของผู้มีรายได้น้อยแล้วจำนวน 40 สินค้า 318 รายการ จากผู้ผลิตประมาณ 24 ราย แบ่งเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคบริโภค 31 สินค้า 160 รายการ สินค้าเพื่อการศึกษา 8 สินค้า 72 รายการ และสินค้าเพื่อการศึกษา 8 สินค้า 72 รายการ และวัตถุดิบเพื่อการเกษตรกรรม 1 สินค้า 86 รายการ

ในส่วนกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค มี 16 รายชื่อผู้ผลิตดังนี้ บริษัท ไทยฟู้ดแคนนิ่ง จำกัด ส่งปลากระป๋องเข้าร่วม, บริษัท ทวีชัยฟู้ด แมนูแฟคเจอริ่ง จากัด ส่งปลากระป๋อง, บริษัท พูนสินทั่งง่วนฮะ จำกัด ส่งน้ำปลา, บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ส่งเส้นหมี่ปรุงรส, บริษัท เจียเม้งมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ส่งข้าวสารบรรจุถุง, สหกรณ์การเกษตรพิมาย จำกัด ส่งข้าวสารบรรจุถุง, บริษัท ทิปโก้ เอฟแอนด์บี จำกัด ส่งน้ำผักและผลไม้พร้อมดื่ม, บริษัท กรีนสปอต จำกัด ส่งนมถั่วเหลืองยูเอชที, บริษัท น้ามันพืชปทุม จำกัด ส่งน้ำมันปาล์มบรรจุขวด, บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ส่งหลายสินค้าเข้าร่วม ได้แก่ ผงซักฟอก ยาสีฟัน แปรงสีฟัน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง น้ำยาล้างจาน ครีมอาบน้ำ กะทิสำเร็จรูป ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม สบู่ ครีมอาบน้ำ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน แป้งผงโรยตัว, บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ส่งสบู่ กระดาษเช็ดหน้า กระดาษชำระ ครีมอาบน้ำ, บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ส่งแชมพูสระผม ครีมบำรุงผม น้ำยาปรับผ้านุ่ม แปรงสีฟัน ครีมบำรุงผิวหน้า, บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทยเทรดดิ้ง จำกัด ส่งผงซักฟอก น้ำยาซักฟอก น้ำยาล้างจาน ผลิตภัณฑ์ปรุงอาหาร ครีมอาบน้ำ ครีมบำรุงผิว แชมพูสระผม ครีมบำรุงผม น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผงซักฟอก ผลิตภัณฑ์ปรุงอาหาร, บริษัท ไร่ธัญญะ จำกัด ส่งพริกป่น ถั่วเขียว และข้าวสารเหนียวบรรจุถุง, บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ส่งนมพร้อมดื่มยูเอชที ครีมเทียมข้นหวานพร่องไขมัน นมข้นจืด, องค์การคลังสินค้า (อคส.) ส่งข้าวสารหอมมะลิ และข้าวขาวบรรจุถุง

ในส่วนกลุ่มสินค้าเพื่อการศึกษา มีผู้ผลิต 1 ราย คือ ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ส่งหลายรายการเข้าร่วม ได้แก่ กลุ่มเครื่องเขียน เช่น ดินสอ ไม้บรรทัด กลุ่มกระดาษการ์ดสี กลุ่มสมุด กลุ่มหนังสือเสริมความรู้ กลุ่มอุปกรณ์เสริมทักษะทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ กลุ่มสารานุกรม กลุ่มพจนานุกรม คู่มือเรียน/สอบ

ในกลุ่มสินค้าวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม มีผู้ผลิต 7 ราย คือ บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จากัด (มหาชน) ส่งปุ๋ยเคมีเข้าร่วม, บริษัท มหาวงศ์การเกษตร จำกัด ส่งปุ๋ยเคมี, บริษัท เจียไต๋ จำกัด ส่งปุ๋ยเคมี, บริษัท โรจน์กสิกิจเฟอร์ติไลเซอร์ จำกัด ส่งปุ๋ยเคมี, บริษัท เอกยงวงศ์ จำกัด ส่งปุ๋ยเคมี, บริษัท ไอ ซี พี เฟอทิไลเซอร์ จำกัด ส่งปุ๋ยเคมี, บริษัท ไอ ซี พี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ส่งปุ๋ยเคมี