วันที่ 31 ธ.ค. 2565 ที่อาคารรัฐสภา ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนประจำรัฐสภาเนื่องในโอกาสปีใหม่ โดยได้กล่าวถึงภาพรวมการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรในช่วงปีที่ผ่านมา สำหรับสมัยประชุมสุดท้ายปีนี้ และจนถึงวันที่ 1 ม.ค. เริ่มเข้าปีใหม่ สมัยประชุมยังมีอยู่จนถึง 28 ก.พ. 2566 หรือประมาณ 2 เดือน ซึ่งเมื่อเทียบกับ 4 ปี อาจจะดูน้อย แต่ยังมีวันประชุมอยู่ถึง 10 วัน หากประชุมได้ตามปกติ
"มีการคาดหมายกันว่าจะยังไม่มีการยุบสภาในช่วงใกล้ๆ ด้วยเหตุผลว่า ถ้ายุบสภา ความเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่จะลงสมัครนั้น จะมีเวลาเป็นสมาชิกได้ 30 วัน แต่หากอยู่ครบวาระ จะมีเวลาเป็นสมาชิก 90 วัน เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คิดว่า การยุบสภายังไม่เกิดขึ้นในระยะใกล้ๆ อย่างไรก็ตาม น่าเชื่อว่าคงมีการยุบสภาในช่วงปลายสมัย อาจจะครบ 28 ก.พ. 2566 ไปแล้ว ก็ยังเป็นไปได้ แม้กระทั่งว่าหลัง 28 ก.พ. ไปแล้ว หากฝ่ายบริหารมีเรื่องด่วน จะเปิดสมัยวิสามัญก็ยังได้ เพราะอายุสภาชุดนี้สิ้นสุดวันที่ 23 มี.ค. 2566 ยังมีเวลาอยู่พอสมควร" ชวนกล่าว
ชวน ยังเห็นว่า หากรัฐบาลจะอยู่จนครบวาระ เต็ม 8 สมัยประชุม ก็เป็นไปได้ แต่ตนเชื่อว่าน่าจะมีการยุบสภาก่อนถึงวันที่ 23 มี.ค. 2566 เพราะนอกจากเหตุผลที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว อีกปัจจัยคือภายในช่วง 180 วันก่อนเลือกตั้งตามระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อาจมีการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมายได้
ทั้งนี้ ถือเป็นข้อมูลเพื่อให้สมาชิกได้รับทราบ เพื่อไม่ต้องรู้สึกว่าจะยุบสภาได้ภายในวันสองวันนี้ จนทำให้ไม่อยากมาทำงานกัน ความจริงแล้วยังมีเวลาเพียงพอ เพียงแต่รัฐบาลได้ประกาศว่าจะไม่มีการเสนอกฎหมายเข้ามาใหม่แล้ว นอกจากกฎหมายที่ยังค้างอยู่บางฉบับ ซึ่ง 2 เดือนที่เหลือน่าจะพิจารณาเสร็จได้ คงมีแต่ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่เลื่อนเข้ามา พร้อมกฎหมายอีก 2 ฉบับ
สภาฯ คะแนนซื่อสัตย์พุ่ง-ช่วยกันประหยัดไฟ
สำหรับการประชุมสภาฯ ชวน กล่าวว่า โดยภาพรวมอาจไม่ราบรื่นนัก โดยเฉพาะช่วงปลายสมัยอาจมีปัญหามากกว่า แต่ช่วงแรกจะเห็นได้ว่ามีการประชุม และเพิ่มวันประชุม จะเห็นได้ว่ามีเรื่องค้างไม่มากเหมือนสมัยอดีต สามารถพิจารณาไปได้เกือบทั้งหมด แต่เรื่องที่อาจไปไม่ถึงคือวาระญัตติทั่วไปซึ่งมีเสนอมากว่า 100 เรื่อง แต่จะพยายามให้ความเห็นชอบให้เรื่องเพื่อทราบ และเรื่องที่กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ให้ผ่านสภาฯ ไปได้ เพราะบางเรื่องกรรมาธิการฯ ใช้เวลาพิจารณานานหลายปี และเสียงบประมาณไปมาก
ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มี ส.ส.นำเรื่องเสนอปรึกษาหารือกว่าหมื่นเรื่อง ผ่านการนำเสนอทุกเช้าท่านละ 2 นาที ส่วนเรื่องใหม่ที่สมัยก่อนไม่มี คือเรื่องที่สามารถร้องเรียนผ่านประธานสภาฯ ได้ ซึ่งมี 100 กว่าเรื่อง โดยทางสภาฯ จะส่งไปทางผู้รับผิดชอบผ่านไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่จ่ายเรื่องไปให้หน่วยงาน เห็นว่าควรต้องให้สำนักนายกฯ คัดกรองว่าเป็นเรื่องรับผิดชอบของกระทรวงได้ แล้วจึงส่งไปกระทรวงนั้นดำเนินการ
สำหรับผลการประเมินการทำงานของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ และวุฒิสภา มีความเปลี่ยนแปลง ด้านการปฏิบัติโดยความซื่อสัตย์สุจริต เพิ่มขึ้นโดยลำดับทุกปี จนปีสุดท้ายนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 99.46% เกือบเต็มร้อย ถือว่าเป็นหน่วยงานที่มีคะแนนประเมินสูงที่สุดเมื่อเทียบกับหน่วยงานอื่น
"ผมคิดว่านี่เป็นตัวสะท้อน ที่เรามาอยู่ในนี้ทุกวัน เบื้องหลังลึกๆ เราร่วมมือกันเข้มข้น ตัวอย่างเช่น เราไม่ต้องรอให้นักการมาปิดไฟ ปิดเครื่องปรับอากาศ ใครอยู่ห้องไหน เมื่อเลิกงานก็ปิดเอง ผมอยู่ห้องผม เมื่อผมเลิกก็ปิดเครื่องปรับอากาศ ปิดไฟเอง เป็นแนวปฏิบัติที่ข้าราชการสภาทั่วไปทำได้ เพื่อช่วยประหยัดพลังงาน" ชวน กล่าว