ไม่พบผลการค้นหา
‘ศุภชัย’ ลากองค์ประชุมสภาฯไม่ไหว สมาชิกแสดงตนเพียง 93 คน ล่มในที่สุด หลังสภาถกร่างแก้ไข พ.ร.ก.ประมง กว่า 2 ชม. ฝ่ายค้านรุมจวก ‘ประยุทธ์’ หลังรปห.ขูดรีดค่าปรับชาวประมงหลักล้านบาท ลั่นเลือกนายกฯ ผิดคิดจนตัวตาย ด้าน ‘จุลพันธ์’ วิปฝ่ายค้านเสนอนัดประชุมเป็นวาระพิเศษ เผยสถิติสภาฯล่ม เปิดมาปี 2566 องค์ล่มไปแล้ว 5 ครั้ง ทำสถิติล่มรอบที่ 32 ตลอด 4 ปี

วันที่ 9 ก.พ. 2566 ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง เป็นพิเศษ ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. …. ในวาระที่หนึ่ง ขั้นรับหลักการ โดยเมื่อเวลา 16.45 น. นภาพร เพ็ชร์จินดา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย อภิปรายเป็นคนแรกว่า อยากฝากถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมร่วมทานอาหารเย็นกับตนบนเรือประมง เพื่อไปดูเรือประมงริมทะเลว่ามีซากเรือประมงจอดนิ่งสนิทอยู่มากขนาดไหนจะได้รู้ซึ้งถึงเหตุผลที่ทำรัฐประหารเมื่อ 8 ปีที่แล้ว 

นภาพร กล่าวว่า วันที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังไม่เก๋าพอ รับข้อเสนอของสหภาพยุโรป (อียู) มาทำทันทีโดยไม่ให้เวลาประชาชนเตรียมตัว อีกทั้งการตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาที่มีผู้บัญชาการกองทัพเรือ (ผบ.ทร.) เป็นผู้ดูแล ดังนั้นเป็นไปได้ไหมที่จะยกเลิก พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าวไปเลยเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างทันที และอยากให้ตั้ง ‘กรมประมงทะเล’ เพราะอธิบดีของกรมประมงปัจจุบันส่วนใหญ่มักจะมาจากนักวิชาการที่ไม่ตรงสาย ดังนั้นเราต้องบูรณาการให้ผู้ที่มีความรู้เข้ามาร่วมแก้ไขอย่างแท้จริง 

ด้าน วิรัตน์ วรศสิริน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า เมื่อปี 2562 ทางสมาคมประมงเคยเชิญพรรคเสรีรวมไทยไปที่ จ.สมุทรสาคร เพื่อตรวจดูสถานการณ์ของการทำประมง และพบว่ามีการจอดเรือไว้อย่างแน่นิ่งทั้งสองริมฝั่งแม้จะมีสภาพดี คิดดูว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจหายไปเท่าไหร่ และปัญหาทั้งหมดมาจากการเกิดรัฐประหารเมื่อปี 2557 พูดไปแล้วก็จะคล้ายกับการที่ลูกสาวเราออกเรือน เราก็ยังเป็นห่วงเหลือเกิน เพราะถ้ามีผัวผิดคิดจนตัวตาย หากเลือกนายกฯ ผิดประชาชนก็จะตายเอา 

ขณะที่ รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนเคยได้ไปรับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องชาวประมงที่มายื่นหนังสือหน้ากระทรวงเกษตรฯ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2562 ผ่านมาหลายปี แต่ชาวประมงยังคงเดือดร้อน และน่าสงสาร เรือจอดนิ่งจนจมไปหลายลำ และชาวประมงมีหนี้สินมากมาย โดนคดีก็เยอะ บางคนก็ไม่มีจะกิน เพราะไม่สามารถประกอบอาชีพอะไรได้เลย อีกทั้งอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ พิจารณาคณะทำงานที่ตั้งให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน เพราะล่าช้า และทำงานไม่ตรงจุด ให้นายกฯ กลับมาบริหารเอง 

พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ รัฐประหารเมื่อปี 2557 ก็ออก พรก.ดังกล่าวออกมาจนเกิดความเดือดร้อนมหาศาลให้แก่พี่น้องชาวประมงมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าพื้นที่ของประเทศไทยจะติดกับชายทะเล ทั้งอ่าวไทย และอันดามัน กว่า 3,000 กม. แต่รัฐบาลกลับทำลายเศรษฐกิจสีน้ำเงิน หรือเศรษฐกิจทางทะเล 

อีกทั้งศูนย์ MFC ที่เฝ้าติดตามเรือประมงกลับมีรางวัลนำจับเหมือนตำรวจ โดยวันนี้ค่าปรับเรือประมงไม่ใช่หลักพันบาท แต่เป็นเงินกว่า 5 แสนถึง 4 ล้านบาท ซึ่งเป็นการรีดไถ และยังทำให้ชาวประมงต้องไปขึ้นศาล แม้จะชนะคดี ได้เรือกลับคืนมา แต่ไม่ได้รับใบอนุญาต แต่ถ้าแพ้คดีก็จะถูกยึดเรือ 

ด้าน ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ กล่าวสรุปว่า รัฐบาลต้องรับใช้ประชาชน และวันนี้ชาวประมงเดินทางมาไกลเพื่อสังเกตการณ์ที่อาคารรัฐสภา ดังนั้นรัฐต้องปลดโซ่ตรวนตามความต้องการ แม้ว่าวันนี้สมาชิกได้น้อยไป แต่ถ้าเราทิ้งเวลาไว้มากขึ้นก็จะไม่เป็นผลดี อย่างไรก็ตามในครั้งหน้าเป็นการอภิปรายทั่วไปเพื่อสอบถามรัฐบาล แต่ตนอยู่ในฝั่งฝ่ายค้านเกรงว่า รัฐบาลอาจจะชิงหนีจนไม่เกิดการอภิปราย ขณะที่ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ได้หารือกับประธานสภาว่า ขอให้ประธานนัดเป็นพิเศษในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการประชุมคือวันที่ 22-23 ก.พ. และบรรจุเป็นวาระพิเศษต่อไป 

จนกระทั่งเวลา 18.12 น. ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานการประชุมได้สั่งให้ตรวจสอบองค์ประชุม จนกระทั่งเวลา 18.23 น. มีสมาชิกมาแสดงตนเพียง 89 คน รวมกับขานชื่ออีก 4 คนเป็น 93 คน ซึ่งไม่ถึงกึ่งหนึ่งขององค์ประชุมคือ 210 คน จากจำนวน ส.ส. 420 คน จากนั้นประธานฯได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 18.25 น. ทันที

ปี 2566 ทำสถิติสภาฯ ล่มไปแล้ว 5 ครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดปี 2565 การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพียงอย่างเดียวได้มีสถิติองค์ล่มถึง 11 ครั้งตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นปี 2565 ทำให้สภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันถูกบันทึกไว้ว่าเป็นชุดที่องค์ประชุมล่มอยู่บ่อยครั้งซ้ำซาก ซึ่งที่ประชุมสภาฯ ได้องค์ประชุมส่งท้ายปี 2565 คือเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2565 ขณะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ในวาระที่ 2 

สภาฯ ล่มครั้งแรกของปี 2566 เกิดขึ้นเป็นรอบที่ 28 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2566 ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญ พิจารณาเสร็จสิ้นในวาระที่ 2  

สภาฯ ล่มรอบที่ 29 และครั้งที่ 2 ของปี 2566 เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2566 ที่วาระพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง ที่ค้างการพิจารณาอยู่ที่ มาตรา 11 

สภาฯ ล่มรอบที่ 30 ครั้งที่ 3 ของปี 2566 วันที่ 26 ม.ค. 2566 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 24 ระหว่างพิจารณาวาระรับทราบรายงานการพัฒนาระบบราชการประจำปี 2564 เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบกึ่งหนึ่งขอสภาผู้แทนราษฎร มีสมาชิกแสดงตนเพียง 153 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่งคือจำนวน 215 คน

สภาฯ ล่มรอบที่ 31 ครั้งที่ 4 ของปี 2566 วันที่ 2 ก.พ. 2566 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาภาษีอากร ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งค้างจากการประชุมครั้งที่แล้ว

โดยการประชุมสภาฯ ครั้งนั้น ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานกาารประชุมได้ระบายถึงเหตุการณ์ที่สภาฯ องค์ล่มอยู่บ่อยครั้งในช่วงปลายสมัยสุุดท้ายว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ถ้าได้ยินก็รีบยุบสภาฯ เสีย เพราะ ส.ส.ไม่อยากประชุมแล้ว รัฐมนตรีก็ไม่ยอมมาตอบกระทู้ในสภาฯ แล้ว จะอยู่ไปทำไม ผมก็มีอารมณ์และอยากระบายบ้างเหมือนกัน”

สภาฯ ล่มรอบที่ 32 ครั้งที่ 5 ของปี 2566 เกิดขึ้นล่าสุดวันที่ 9 ก.พ. 2566 พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. …ในวาระที่หนึ่ง ขั้นรับหลักการ โดย 2 วันก่อนหน้านี้ ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ได้องค์ล่มลงถึง 2 วันติดต่อกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง