ไม่พบผลการค้นหา
นับเป็นความหวังทั้งทางการแพทย์ เศรษฐกิจและสังคมของชาวไทยช่วงปลายปี 2563 ที่รัฐบาลไทยมีความคืบหน้าเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ภายหลังลงนามความร่วมมือกับบริษัท AstraZeneca ชื่อดังที่ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกอย่าง 'ออกซ์ฟอร์ด' ที่หลายฝ่ายคาดหมายกันว่า จะมีความก้าวหน้าถึงระดับร้อยละ 90 ภายในสิ้นปี 2563 นี้

แม้จะยังไร้หลักประกันว่า วัคซีนจะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่บุคลากรชั้นนำทางการแพทย์ของไทยไม่นิ่งนอนใจ โดยเร่งหาแนวทางในการศึกษาและจัดซื้อวัคซีน จากการสืบค้นและประมวลข้อมูลจากแหล่งข่าวในแวดวงสาธารณสุข พบว่า 3 แนวทาง ในการสรรหาวัคซีนโควิด-19 มีความคืบหน้าในช่วงปลายปี 2563 ดังนี้

1. วิจัยในประเทศ ใช้งบประมาณราว 400 ล้านบาท จากงบกลาง และอยู่ระหว่างการส่งเรื่องของบเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.เงินกู้อีกราว 2 พันล้านบาท ความคืบหน้าอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยกว่า 20 ชนิด โดยสถาบันการศึกษาชั้นนำทางการแพทย์ อย่างจุฬาฯและมหิดล ตลอดจนภาคเอกชน เสมือนทีมชาติวัคซีนไทย ในช่วงกลางปีที่ผ่านมาพบว่า ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางวิจัยและพัฒนาวัคซีน ของจุฬาฯ มีความก้าวหน้ามากที่สุด โดยผ่านขั้นตอนในแล็บ ขั้นตอนตรวจสอบภูมิคุ้มกันในสัตว์ทดลอง จนเริ่มต้นทดสอบผลลัพธ์และความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1-3 และนำไปจดทะเบียนสำหรับนำมาใช้จริง

2. ร่วมมือกับต่างประเทศ ใช้งบประมาณราว 600 ล้านบาท จากงบกลาง ตามที่มีรายงานข่าว การลงนามข้อตกลงการจัดหาวัคซีน กับบริษัท AstraZeneca จำนวน 26 ล้านโดส พ่วงด้วยข้อตกลงในการให้ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เป็นผู้ผลิตวัคซีนรายเดียวสำหรับประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยข้อเสนอดังกล่าว ต้องยอมรับว่า ทีมเจรจาของประเทศไทย มุ่งให้ผลประโยชน์สูงสุดตกแก่คนไทยเป็นสำคัญ เพราะในภูมิภาคอาเซียนมีประเทศอินโดนีเซียอีกแห่งที่บรรลุข้อตกลงให้การจัดซื้อกับบริษัทดังกล่าว แต่ไม่ได้รับสิทธิ์ในการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อนำไปสู่การผลิตแต่อย่างใด ต่างจาประเทศไทยที่ได้รับสิทธิ์ประหนึ่งศูนย์กลางจัดกระจายวัคซีนในกล่าวให้แก่ภูมิภาคอาเซียน

3. ซื้อจากต่างประเทศ ใช้งบประมาณเฉียด 3,000 ล้านบาท ในรูปแบบการจองซื้อกับโครงการ COVAX เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 63นำโดยองค์การอนามัยโลกร้อยละ 20 ของประชากร และแบบทวิภาคีกับ AstraZeneca ร้อยละ 20 ของประชากร และผู้ผลิตรายอื่นๆ อีกร้อยละ 10 ของประชากร โดยมีเป้าหมายคือความต้องการวัคซีน26ล้านโดส สำหรับประชากร 13 ล้านคน (1 คนต้องได้รับ 2 โดส) โดยการจัดหาเป็นไปตามมาตรา 18 ของ พ.รบ.วัคซีนแห่งชาติ

วัคซีน โควิด-19.jpg

เบื้องหลังการลงนามที่มีตัวแทนจาก SCG เป็นผู้ประสานงานนั้น แรกเริ่มเดิมทีเกิดจากสายสัมพันธ์ด้านการวิจัยและพัฒนาอันยาวนานที่มีกับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ซึ่งเห็นว่า SCG มีไลน์การผลิตในด้านเคมีคอล ทว่า SCG อาจติดขัดในแง่เหตุผลการประกอบธุรกิจ จึงประสานมายังไบโอไซน์เอนซ์จำกัด ที่มีความสามารถในการผลิตยาและได้การรับรองมาตรฐานระดับโลกเป็นผู้ผลิตแทน

ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้มีการปรับสายการผลิต เตรียมความพร้อมมุ่งเน้นในการผลิตวัคซีนโควิด19 อย่างเต็มกำลัง โดยประมาณกว่า จะสามารถผลิตเพื่อใช้และกระจายสินค้า ได้ปีละ 200 ล้านโดส เมื่อการวิจัยและพัฒนาของบริษัท AstraZeneca มีความพร้อม ซึ่งตามไทม์ไลน์ จะสามารถเริ่มผลิตได้ในช่วงต้นปี 2564

โดยคาดว่า ภายในเดือน ก.ค. วัคซีนโควิด 19 จะพร้อมผลิตเพื่อนำมาใช้กับคนไทย ล็อตแรกสำหรับ 13 ล้านคน นั้นจะมุ่งเน้นให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดด่านหน้า และบุคลากรในภาคบริการโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว เพื่อเตรียมความพร้อมในการกลับมาเปิดประเทศในการต้อนรับนักเดินทาง ซึ่งเป็นรายได้หลักของภาคเศรษฐกิจไทยมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท ให้ฟื้นกลับคืนมาอีกครั้ง เป็นลำดับแรก

ประยุทธ์ อนุทิน 7152857000000.jpeg

ทั้งนี้ การเตรียงงบประมาณดังกล่าวสำหรับการซื้อวัคซีนและร่วมวิจัยกับต่างประเทศตามแนวทางที่ 2-3 นั้น คือ การจองซื้อล่วงหน้า เสมือนการลงทุนนำเงินไปจองซื้อกับโครงการและบริษัทเอกชนในต่างประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยมีสิทธิได้รับการจำหน่ายวัคซีนตลอดจนได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนเมื่องานวิจัยพบว่า ประสบความสำเร็จ จึงถือเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งที่ความเสี่ยงต้องแบกรับหากการเดินหน้าวิจัยวัคซีนล้มเหลว เพราะโดยปกติแล้วการวิจัยและพัฒนาวัคซีนตามขั้นตอนปกติจะใช้เวลายาวนานหลายปี เนื่องจากขั้นตอนการทดลองที่ต้องมีความรอบคอบ และจะพบว่า โรคระบาดร้ายแรงหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นโรคซาร์ส หรือโรคเมอร์สแม้โลกจะรู้จักมานาน แต่ก็ยังไม่มีวัคซีนมาป้องกัน

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ที่บุคลากรด้านสาธารณสุขของประเทศไทย จึงตัดสินใจวางเงินเดิมพันกับทั้ง 2 แนวทางหลัก คือ การศึกษาพัฒนาด้วยตนเอง และการจองซื้อล่วงหน้า โดยประเมินตามความเสี่ยงทางการเงิน กระจายเป็นสัดส่วนการจองซื้อ 3 ก้อน ตามแนวทางที่ 3 เพื่อให้อย่างน้อยที่สุด หากการพัฒนาวัคซีนสำเร็จ จะได้มีสำรองใช้ในการป้องกันเบื้องต้นก่อน แต่ถ้าไม่คืบหน้าหรือไม่เป็นไปตามความคาดหมาย ก็จะไม่เสียงบประมาณจำนวนมหาศาลไปโดยเปล่าประโยชน์  

เนื่องจากท้ายที่สุดแล้ว แต่ละประเทศเอง เช่น ญี่ปุ่นที่แม้จะเตรียมงบประมาณมหาศาลตระเตรียมจองซื้อล่วงหน้าให้ประชากรทั้งประเทศ ต่างก็รับรู้ว่า วัคซีนคือทางออกหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทางเดียวในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งต้องใช้การศึกษาวิจัยองค์ความรู้และระยะเวลาจำนวนมาก โลก ดังนั้น แนวทางการป้องกันด้วยการตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจ จึงมีความสำคัญมากที่สุด

การต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของสังคมไทย จึงยังคงดำเนินต่อไป งบประมาณกว่า 4,000 ล้านบาท สำหรับการวิจัยและจัดซื้อวัคซีน ยังไม่ใช่หลักประกันหรือคำตอบสุดท้าย แต่ยังคงต้องช่วยกันลุ้นว่า จะมีความคืบหน้าและประสบผลสำเร็จดังแผนการที่วางไว้หรือไม่ ควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังและคัดกรองอย่างเข้มงวดต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง