วันที่ 14 ธ.ค. อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เป็นประธานพิธีเปิดโครงการ "วัคซีนเพื่อคนไทย" ของมูลนิธิซียูเอ็นเตอร์ไพรส์ งานนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง องค์การเภสัชกรรม, บริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด, บริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด เพื่อเปิดรับบริจาคทุนวิจัย 500 ล้านบาท จากคนไทยทุกคน
อนุทิน กล่าวว่า ความสำเร็จในการควบคุมโควิด-19 เกิดมาจากความร่วมมือของประชาชน ในส่วนของการผลิตวัคซีนทีมใบยาไฟโตฟาร์ม ก็อยู่ในความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องประสานความร่วมมือกันอยู่ตลอดเพราะเป็นการทำงานแข่งกับเวลา ซึ่งทางไทย ขอรับประกันว่าไม่ตกขบวนวัคซีนโควิด-19 แน่นอน เนื่องจากได้เซ็นสัญญาความร่วมมือกับบริษัทแอสตราเซนนิกา และประเทศไทยจะได้ใช้ภายในกลางปี 2564
ทั้งนี้ ไทยจะมั่นคงด้านสุขภาพยิ่งขึ้นไปอีก เพราะความสำเร็จในการผลิตวัคซีนของบริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม ที่จะเข้าสู่การทดลองในคนปี 2564 อย่างไรก็ตาม ไทยให้ความสำคัญกับทุกทีมผู้ผลิต ซึ่งทางองค์การอาหารและยา(อย.)พร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่ เมื่อได้วัคซีนมาตามแผนแล้ว คนไทยได้ใช้ฟรีแน่นอน อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และจะฉีดให้ตามลำดับ บุคลากรทางการแพทย์ จะได้สิทธิเข้าถึงก่อน
สำหรับบริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม ได้มีการขอทุนสนับสนุนกับภาคประชาชน 500 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนในการวิจัยในประเด็นนี้ ทีมวิจัยที่ต้องการงบ ภาครัฐ จะมีงบประมาณช่วยเหลือให้ โดยทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้ของบประมาณช่วยเหลือไป 150 ล้านบาท ขณะนี้เรื่องอยู่ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว และตนจะผลักดันอย่างเต็มที่
อนุทิน กล่าวด้วยว่า โควิด-19 ได้สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงกับประเทศไทย แต่อีกมุมหนึ่ง ทำให้ไทยต้องปรับตัวและพัฒนาตนเอง จากที่เราเคยซื้อหน้ากากอนามัย ชุด PPE ไปจนถึงยา จากต่างประเทศ กลายเป็นว่า ไทยต้องผลิตยา หน้ากากอนามัย และชุด PPE เอง ประเทศไทยปรับตัว และกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความมั่นคงด้านสุขภาพมากที่สุดในโลก เรามีความพร้อมในการรับมือโควิด-19 จากที่เคยให้ยาสำคัญ เฉพาะผู้ป่วยที่แสดงอาการถึงจุดหนึ่ง ปัจจุบัน สามารถให้ยาได้ทันทีแม้ไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการน้อย ย่อมลดความสูญเสียได้มากโควิด-19 สร้างวิกฤติ แต่เป็นโอกาสให้ไทยได้เรียนรู้ ปรับตัว ความมั่นคงด้านสุขภาพที่เกิดขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจในอนาคต
สำหรับการบริจาคในโครงการ "วัคซีนเพื่อคนไทย" มูลนิธิซียูเอ็นเตอร์ไพรส์ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สนใจเข้าร่วมสมทบทุนเป็นส่วนหนึ่งในการวิจัยและผลิตวัคซีนโควิด-19 สามารถติดต่อได้ที่ www.Cuenterprisemco.th หรือโทร 02-576-5500