เฟซบุ๊กเพจของกองบัญชาการตำรวจนครบาล - บช.น. เผยแพร่คลิปในวันที่ 17 ต.ค. ซึ่งเป็นวันตำรวจแห่งชาติ และในคลิปดังกล่าวเป็นการบอกเล่าเหตุการณ์ที่ตำรวจไทยต้องเผชิญในช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมา
คลิปดังกล่าวเริ่มต้นด้วยประโยคว่า "เค้าบอกว่าตำรวจเป็น...ขี้ข้า" จากนั้นจึงเป็นเหตุการณ์ในปี 2551 ซึ่งตำรวจปะทะกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ออกมาต่อต้านพรรคพลังประชาชน ตามด้วยการประท้วงในปี 2553 ของกลุ่มคนเสื้อแดง และการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ในปี 2556
ช่วงสุดท้ายของคลิประบุว่า "เวลาผ่านไปหลายปี ม็อบเปลี่ยนไปหลายสี แต่ตำรวจที่ถือโล่ยังเป็นคนเดิม จากครอบครัว มาทำหน้าที่ เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ตำรวจก็มีชีวิต... ตำรวจก็มีหัวใจ #ใครก็ได้ช่วยsaveตำรวจหน่อยครับ"
ส่วนคำบรรยายในเฟซบุ๊กเพจ บชน. ระบุว่า "ตอนมีโควิดยังมี “ไทยชนะ” แต่ตอนนี้ไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็มีแต่ “ไทยแพ้” - ส่วนความขัดแย้งตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ทุกการประท้วง ตำรวจ ต้องกลายมาเป็นฝ่ายตรงข้ามในต่างห้วงเวลา" พร้อมติดแฮชแท็กเกี่ยวกับตำรวจ ได้แก่ #saveตำรวจ #safePoliceman #safeDetective #savePolice #RoyalThaiPolice #RTP และ #BangkokPolice
อย่างไรก็ตาม มีผู้ใช้เฟซบุ๊กเข้าไปแสดงความเห็นท้ายคลิปดังกล่าวเป็นจำนวนมาก โดยมีผู้ที่ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฏิบัติหน้าที่ แต่มีคนอีกจำนวนหนึ่งที่วิจารณ์ตำรวจจากการบุกสลายกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา
ผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายรายมองว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นกลางและไม่ได้ปกป้องหรือพิทักษ์ประชาชน พร้อมระบุว่าผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ประกาศจะสลายชุมนุม ไม่ได้คิดจะปักหลักค้างคืน และไม่ได้ใช้ความรุนแรง ไม่จำเป็นต้องสลายการชุมนุมด้วยรถฉีดน้ำแรงดันสูง ขณะที่ผู้ดูแลเพจ บช.น. ไม่ได้ตอบโต้ผู้แสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด
ทั้งนี้ วันตำรวจแห่งชาติแต่เดิมคือวันที่ 13 ต.ค.ของทุกปี แต่มีการเปลี่ยนเป็นวันที่ 17 ต.ค. ตั้งแต่ปี 2560 เนื่องจากวันที่ 13 ต.ค.2559 ถือเป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
ขณะที่กรมสุขภาพจิต เคยเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายของเจ้าหน้าที่ตำรวจเอาไว้ในเว็บไซต์เมื่อปี 2562 อ้างอิงแพทย์หญิงฐานิยา บรรจงจิตร จิตแพทย์ผู้ชำนาญการ กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลตำรวจ ระบุว่า คนทำงานในทุกสาขาอาชีพล้วนมีโอกาสพบเจอปัญหาทางจิตเวช อาทิ โรคซึมเศร้าได้ แต่ตำรวจนั้นมีอัตราฆ่าตัวตายสำเร็จเยอะกว่า เพราะวิธีที่ใช้รุนแรงมากกว่า เนื่องจากมีปืนใกล้ตัว และทำงานใกล้ชิดกับความรุนแรงของคดีต่างๆ
"ตำรวจเป็นกลุ่มอาชีพที่บุคลากรมีปัญหาด้านจิตเวช แต่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิต ที่ยังคงกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ อีกทั้งจิตแพทย์ของโรงพยาบาลตำรวจในส่วนกลางที่มีเพียง 4 คน กับนักจิตวิทยา 8 คนนั้น ไม่เพียงพอรองรับผู้ป่วยทั้งตำรวจ และประชาชนทั่วไป ที่มีจำนวนมากในแต่ละวัน"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: