หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มเปิดให้ธนาคารพาณิชย์เข้ามาขอสินเชื่อซอฟต์โลนหรือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำภายใต้วงเงินรวม 500,000 ล้านบาท เพื่อไปปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ในฐานะมาตรการช่วยเหลือจากฝั่งรัฐบาล
ล่าสุดนายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) ออกมาแถลงความคืบหน้าสินเชื่อดังกล่าวที่ธนาคารกรุงเทพจัดสรร พร้อมยืนยันว่าทุกความช่วยเหลือภายใต้สินเชื่อซอฟต์โลนเป็นไปตามเงื่อนไขของแบงก์ชาติอย่างเคร่งครัด
นายศิริเดช ชี้ว่าความสำคัญที่สุดในการช่วยเหลือผู้ประกอบการครั้งนี้ในมุมมองของธนาคารคือการประเมินความเสี่ยง เพราะแม้รัฐบาลจะช่วยเข้ามาดูแลความเสียหายในสัดส่วนร้อยละ 70 ของสินเชื่อที่ปล่อยเพิ่มสำหรับลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50 ล้านบาท หรือชดเชยให้ร้อยละ 60 ของสินเชื่อที่ปล่อยเพิ่มสำหรับลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อ 50 - 500 ล้านบาท แต่ก็ยังมีส่วนที่ธนาคารพาณิชย์ต้องแบกความเสียหายเช่นเดียวกันในกรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้
ด้วยเหตุนี้วิธีคัดกรองหลักของธนาคารกรุงเทพ จึงอยู่ที่ประวัติความรับผิดชอบของลูกค้าเป็นหลัก ประกอบการแผนการดำเนินธุรกิจ การปรับลดต้นทุน และความสามารถในการฟื้นคืนเมื่อมาตรการล็อกดาวน์ต่างๆ คลายไปแล้ว
รอง ผอ.ใหญ่ ย้ำว่า ประสบการณ์ของแบงก์พาณิชย์ในวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 เป็นบทเรียนราคาแพงที่สถาบันการเงินต้องระลึกถึง ดังนั้นการจะปล่อยกู้เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในครั้งนี้จึงจำเป็นต้องวิเคราะห์และพิจารณารายบริษัทอย่างถี่ถ้วน ธนาคารจึงจะพิจารณาจากบริษัทที่ทำงานร่วมกันมานาน มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ไม่ปกปิดข้อมูลและร่วมกันหาทางออก เพราะข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ธนาคารสามารถวิเคราะห์กำลังการดำเนินธุรกิจของแต่ละบริษัทได้
นายศิริเดชยอมรับว่า ปัจจุบันตัวเลขเอสเอ็มอีที่เป็นลูกค้าของธนาคารค่อนข้างกระจายตัวอยู่ในฝั่งบริษัทที่มีขนาดใหญ่ และธนาคารก็ให้สินเชื่อในวงเงินที่ค่อนข้างสูงอยู่ก่อนแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีขนาดเล็ก เพียงแต่ต้องใช้ระยะเวลาในการประเมินข้อมูลต่างๆ มากกว่า เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน เอสเอ็มอีขนาดเล็กเองก็คงไม่มีทั้งประวัติการเดินบัญชีธนาคาร (Bank Statement) ที่ดี หรือหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สถาบันการเงินต้องใช้เวลาในการตัดสินใจนานกว่าเอสเอ็มอีขนาดใหญ่ที่ธนาคารมองว่ามีความแข็งแรงในการทำธุรกิจและสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ไว
“ผู้ประกอบการมีปัญหา แบงก์ก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน” ศิริเดช กล่าว
เมื่อไปดูยอดวงเงินสินเชื่อซอฟต์โลนที่แบงก์กรุงเทพ ปล่อยออกไปนั้น นายศิริเดช กล่าวว่ามีมูลค่าเฉลี่ยที่ราว 2 ล้านบาท/ราย ซึ่งเป็นเครื่องสะท้อนว่าธนาคารเองไม่ได้ละเลยเอสเอ็มอีรายเล็กและปล่อยสินเชื่อให้แต่รายใหญ่แต่อย่างใด พร้อมเสริมว่า สถานการณ์ปัจจุบันถือว่าสถาบันการเงินอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่เอสเอ็มอีในมูลค่าที่มาก กว่าปี 2540 มาก เพราะตอนนั้นสถาบันการเงินเองก็แทบจะเอาตัวไม่รอด แต่เพราะหลังเหตุกาณ์ดังกล่าว สถาบันการเงินมีความเคร่งงวดมากขึ้น มีการประเมินความเสี่ยงจึงทำให้สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการในครั้งนี้ได้บนพื้นฐานของข้อมูลและการวิเคราะห์
นายศิริเดช ปิดท้ายว่า กรณีข่าวที่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากบริการการขอสินเชื่อซอฟต์โลนมองว่าอาจเป็นการสื่อสารที่มีปัญหา แต่ย้ำว่าจากที่ร่วมพูดคุยกับสมาคมธนาคารนั้น คิดว่าไม่มีธนาคารพาณิชย์ใดกล้าขัดคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;