5 ก.พ. 2567 ที่อาคารรัฐสภา ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล กล่าวถึงกรณีที่พรรคภูมิใจไทย ยื่นร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและหลักประชาธิปไตย โดยระบุว่า ในส่วนของพรรคเพื่อไทยจะมีการยื่นร่างประกบด้วย
ครูมานิตย์ เผยว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้ พิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และคณะให้ไปศึกษาคำสั่ง คสช. ทั้งหมด ในขณะที่สภาก็มีฉบับของ ชูศักดิ์ ศิรินิล สส.แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เรื่องการแก้ไขคำสั่งที่ 14 ให้ยกเลิกและเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.)
ดังนั้น เรื่องนี้คงออกมาเร็วๆ นี้ เพราะไม่ใช่เรื่องยาก ทางพรรคภูมิใจไทยยื่นมาเราก็เป็นวิปรัฐบาลร่วมกัน เราก็ต้องนำมาดูและพูดคุยกัน เพื่อทำให้กฎหมายดีที่สุด อะไรที่จะต้องยกเลิกก็ต้องยกเลิก อะไรที่ยังเป็นประโยชน์ก็นำมาปรับปรุงใหม่ ส่วนจะยื่นเข้ามาเมื่อไหร่นั้น ครูมานิตย์ระบุว่า จะไปสอบถามที่ประชุม สส.พรรค ในวันพรุ่งนี้
ส่วนของรัฐบาล สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ได้มอบหมายให้ สมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามกฎหมายของทุกกระทรวงที่นำมาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะกฎหมายคือเครื่องมือ เราเองก็เห็นว่ากฎหมายที่ร่างโดยรัฐบาลยังเข้าสภาน้อยไป ทางพรรคเองก็ได้กำชับเรื่องนี้
ส่วนเรื่องกรอบเวลาที่คณะรัฐมนตรีให้กรอบอภิปรายกับ สว. ดูจะล่าช้าไปนั้น ครูมานิตย์ กล่าวว่า ถ้าดูเนื้อหากันจริงๆ ก็ไม่รู้ว่าจะมาอภิปรายเรื่องอะไร และเป็นครั้งแรกด้วยตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ สว. ขออภิปรายรัฐบาล โดยใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 153 และใช้ข้อบังคับของวุฒิสภา 171 ซึ่งเป็นสิทธิ
แต่หากถามว่าช้าไปหรือไม่ ก็ไม่ถึงกับช้า ก็ต้องเห็นใจนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากต่างคนต่างมีภารกิจที่จะแก้ปัญหา และเท่าที่ทราบเรื่องที่ สว.จะอภิปราย อาทิเรื่องแลนด์บริดจ์ ดิจิทัลวอลเล็ต รวมถึงเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน ก็เป็นที่ปรากฏชัดในเรื่องของดิจิทัลวอลเล็ต นายกรัฐมนตรีก็ให้สัมภาษณ์ว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ความเห็นอย่างไร
ส่วนเรื่องแลนด์บริดจ์ที่ตนเป็นรองคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการทำแลนด์บริดจ์ ขณะนี้กำลังทำรูปเล่มแล้วเพื่อนำสู่การประชุมสภาฯ และหลังจากนั้นต้องขอมติสภาเพื่ออนุมัติให้ผ่าน หากสภาอนุมัติให้ผ่าน ก็จะนำไปสู่ขั้นตอนการทำพ.ร.บ. ซึ่งมีหลายประเทศให้ความสนใจร่วมทุน ซึ่งตนมองว่าเป็นเรื่องพื้นฐานที่สามารถมองเห็นได้ในวันนี้ ส่วนปัญหาเศรษฐกิจบางเรื่องก็ดีขึ้น บางเรื่องก็ไม่ดี เป็นเรื่องปกติ ซึ่งเราก็ต้องแก้กันไป ดังที่ทราบว่านายกฯ ก็ไม่ได้พักผ่อนเลยจนล้มป่วย เพราะท่านพยายามที่จะแก้ปัญหาในทุกมิติ
ส่วนจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะขยับวันอภิปรายให้เร็วขึ้น ครูมานิตย์ กล่าวว่า คงจะลำบาก เพราะเท่าที่ทราบน่าจะเป็นวันที่ 20 มี.ค. นี้ ถ้าขยับให้เร็วขึ้นก็คงจะเป็นวันที่ 18 มี.ค. ซึ่งตอนนี้ทางรัฐบาลก็ส่งเรื่องมาให้วิปรัฐบาลได้พิจารณาถึงเรื่องจำนวนเวลา ส่วนเรื่องวันก็เป็นเรื่องของ ครม. วิปไม่สามารถไปตอบแทนได้ ส่วนเรื่องของเวลาวิปอาจจะเสนอว่า ให้พิจารณาจากเนื้อหาสาระว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ที่จะให้วุฒิสมาชิกอภิปรายและสอบถาม ในเบื้องต้นคิดว่าจะใช้เวลา 13 ชั่วโมง โดยใช้เวลาภายใน 1 วัน โดยให้เวลา สว. 10 ชั่วโมง รัฐบาลอีก 3 ชั่วโมง รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เวลามากกว่านั้นในการตอบ
"แต่เท่าที่คุยกับ สว. บางคน เขาก็บอกว่าไม่รู้จะอภิปรายในแง่มุมตรงไหน เราดูจากการลงชื่อแค่ 89 คน ส่วนที่เหลืออีกเป็นร้อย ยังหาแง่มุมยังยากอยู่" ครูมานิตย์ กล่าว