ไม่พบผลการค้นหา
ภาพประชาชนชาวยูเครนจากหลากหลายอาชีพจับอาวุธต่อสู้กับกองทัพรัสเซีย ชวนให้นึกถึงภาพของ 'มาวิ' และคนหนุ่มสาวอีกหลายคนในเมียนมาที่ตัดสินใจทำสิ่งเดียวกัน “สงคราม” เป็นคำที่ค่อยๆ ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพูดถึงอนาคตของเมียนมาหลังการรัฐประหารเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564

การปราบปรามฝ่ายต่อต้านอย่างหนัก กระทั่งสังหารประชาชนบริสุทธิ์โดยกองทัพทหารเมียนมาของ มิน อ่อง หล่าย บังคับให้คนหนุ่มสาวหนีเข้าป่า ละทิ้งความฝันและชีวิตปกติ

นักศึกษา พนักงานออฟฟิศ ครู หมอ พยาบาล อดีตเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไปจนถึงนักแสดงดารา และเยาวชนอายุ 15-16 ปี ตัดสินใจจับอาวุธฝึกรบเพื่อสู้กับทหารเมียนมา ค่ายฝึกขนาดเล็กกระจัดกระจายทั่วประเทศเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ กลุ่ม PDF (The People’s Defense Force) ที่ถูกจัดตั้งอย่างเป็นทางการ โดย ‘รัฐบาลเงา’ หรือ รัฐบาลสามัคคีแห่งชาติ NUG (The National Unity Government) ที่เรียกร้องให้พลเมืองทั่วประเทศต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร และประกาศ “สงครามเพื่อปกป้องประชาชน” อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกันยายนปี 2564

สำนักข่าวอิรวดีของเมียนมารายงานว่า ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาท่ามกลางการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายต่อต้านและรัฐบาล เผด็จการทหารเมียนมาจับกุมประชาชนไปแล้วเกือบ 12,000 คน ประมาณ 9,000 คนยังคงถูกขังอยู่ในคุก กองทัพเมียนมาสังหารผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 1,500 คน เป็นเด็กมากกว่า 120 คน รวมถึงทารกอายุเพียงไม่กี่เดือน องค์กรที่ติดตามและบันทึกจำนวนผู้เสียชีวิตในเมียนมาระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจริงๆ มากกว่าที่บันทึกได้ ในขณะที่เกือบ 450,000 คนต้องพลัดถิ่น บ้างลี้ภัยไปยังพรมแดนประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งประเทศไทย


Myanmar7.jpg


“การไม่ใช้ความรุนแรงมันไม่ได้ผล”

ครบรอบหนึ่งปีรัฐประหารและการต่อสู้อย่างกล้าหาญของประชาชนในเมียนมา วงพูดคุยเล็กๆ ถูกจัดขึ้นในใจกลางกรุงเทพมหานคร ในงานมีนิทรรศการภาพถ่ายที่สะท้อนชีวิตและการฝึกซ้อมรบของคนหนุ่มสาวจากบางรัฐของเมียนมา ภาพเหล่านี้ถ่ายโดย ‘ฟ็อกซ์’ ช่างภาพหนุ่มที่หวังว่าทักษะและความสนใจของเขาจะมีประโยชน์ในการเล่าเรื่องราวการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของเพื่อนๆ ร่วมประเทศ

“เยาวชนเหล่านี้ควรจะได้มีความสุขกับชีวิตในมหาวิทยาลัย เติบโตอย่างวัยรุ่นทั่วไป สนุกกับเพื่อน เรียนรู้ที่จะรักและถูกรัก ไม่ใช่มาจับปืนฝึกอาวุธอย่างที่เห็นในภาพถ่ายเหล่านี้”

เสียงสะท้อนจาก วิชัย จันทวาโร หนึ่งในตัวแทนผู้จัดงาน สิ่งที่เราเห็นผ่านภาพถ่ายของฟ็อกซ์ก็เป็นสิ่งที่หนุ่มสาวชาวเมียนมาไม่เคยคิดไม่เคยฝันว่าชีวิตจะพลิกผันได้ขนาดนี้

“ทุกอย่างเปลี่ยนไปอย่างมากตั้งแต่กุมภาพันธ์ปี 2564 มันผ่านมาหนึ่งปีแล้วที่ชีวิตของพวกเราเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ผมไม่เคยคิดเลยว่าผมจะต้องมาทำในสิ่งที่ผมกำลังทำอยู่ และนี่เป็นความรู้สึกของพวกเราหลายคนที่นี่” ถ้อยคำของฟ็อกซ์ส่งผ่านตัวอักษร เพราะเจ้าตัวยังต้องหลบซ่อนอยู่ในป่า

Myanmar1.jpg


มาวิ มาร์เวลัส และ โม ซาน ตัวแทนคนรุ่นใหม่จากเมียนมาที่ร่วมในงาน ก็สะท้อนความรู้สึกไปในทิศทางเดียวกัน  

‘มาวิ’ เป็นสมาชิกกองกำลังฝ่ายต่อต้านประจำการอยู่ในรัฐคะเรนนีบ้านเกิด แม้สัญญาณอินเทอร์เน็ตจะไม่ดีนัก แต่เสียงดับๆ หายๆ ของเขายืนกรานหลายครั้งว่า พวกเขาพยายามใช้แนวทางสันติวิธีแล้ว แต่รัฐบาลทหารตอบโต้ประชาชนผู้ชุมนุมประท้วงอย่างสงบด้วยกระสุนปืน

“พวกเราเยาวชนไม่ใช่คนโง่ เราต้องการประชาธิปไตยที่ไม่จอมปลอมเหมือนที่ผ่านมา เราไม่ต้องการต่อสู้ เราไม่ต้องการสงคราม เรารู้ว่าถ้ามีการสู้รบเกิดขึ้น ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร แต่การไม่ใช้ความรุนแรงมันไม่ได้ผล ในการปฏิวัติครั้งนี้ เรามีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน เราต้องการปกป้องประชาชนของเราทั่วประเทศ และเรากำลังทำงานเพื่อสร้างประชาธิปไตย แต่ทหารทิ้งระเบิดฆ่าชาวบ้านทุกวัน พวกเราคนหนุ่มสาวตอนนี้กำลังต่อสู้กับกองทัพที่พยายามจะควบคุมพื้นที่ พวกเขาเริ่มใช้กระสุนจริงก่อน... คนที่ไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงคือผู้ที่ได้รับประโยชน์จากกองทัพเท่านั้น”

มาวิย้ำว่า เขาและเพื่อนเตือนตัวเองทุกวันว่า การจับปืนลุกขึ้นสู้กับกองทัพเมียนมาในครั้งนี้มีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่ประชาธิปไตย การสร้างเมียนมาที่อำนาจอฑิปไตยเป็นของประชาชน ประเทศที่คนหนุ่มสาวมีสิทธิเสรีภาพในการกำหนดชีวิตของตัวเอง


“ไม่มีใครนอนหลับสบาย”

ก่อนหน้ารัฐประหารในปี 2564 ประชาชนในเมียนมาต้องเผชิญความยากลำบากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ก่อนแล้ว หลังรัฐประหารที่ตามมาด้วยการปราบปรามผู้เห็นต่าง และการสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมาและฝ่ายต่อต้านติดอาวุธ นำมาสู่การขาดแคลนอาหารและยาที่รุนแรงมากขึ้น ซ้ำเติมความทุกข์และความยากจนที่มีอยู่เดิม

‘มาร์เวลัส’ เล่าถึงความยากลำบากของประชาชนในพื้นที่ของเธอ เรื่องราวคล้องจองกับภาพถ่ายใบหนึ่งของฟ็อกซ์ที่บันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในค่ายว่า ‘ทหารอาสา’ หนุ่มสาวได้กินเพียงแค่ข้าวและพริกเท่านั้น

“พวกเราใช้ชีวิตกันยากลำบากมาก ไม่ใช่แค่รัฐประหาร เราต้องเจอกับโควิดด้วย ปีก่อนเราไม่มียาไม่มีอุปกรณ์รักษาใดๆ เลย ผู้คนเสียชีวิตกันเยอะมาก และปีนี้คนก็ตกงาน ชาวนาก็เพาะปลูกกันไม่ได้ ...เราเผชิญกับความยากจน วิกฤตทางอาหาร และอีกมากมาย”

มาร์เวลัสเล่าต่อว่า เธอยังโชคดีที่ยังมีงานทำ มีเงินพอช่วยเหลือตัวเองและคนรอบข้าง ยังสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ คนที่ไม่มีโอกาสอย่างเธอต้องเผชิญกับความยากลำบาก โดยเฉพาะคนในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลจากชายแดน พวกเขาไม่สามารถอพยพลี้ภัยไปเสี่ยงดวงที่อื่นได้ ทุกวันนี้ในหมู่บ้านของเธอ “ไม่มีใครนอนหลับสบาย” เพราะต้องกังวลทั้งทหารเมียนมาที่อาจบุกเข้ามาทำลายหมู่บ้าน และกังวลคนในกันเองที่ความยากจนอาจทำให้พวกเขาต้องขโมยเอาจากคนอื่น

Myanmar4.jpg


"เราต้องการอาวุธ"

เมื่อถูกถามว่า ‘ต้องการให้นานาชาติช่วยอะไร?’ มาวิตอบทันทีว่า เขาต้องการอาวุธ

“เราต้องการปืนและกระสุน” มาวิลงรายละเอียด

ทางฝั่งคนฟังทั้งไทยและต่างชาติมีเสียงหัวเราะดังขึ้น เหมือนจะสะท้อนว่า ความต้องการของมาวิฟังดูเซอร์เรียลเกินความจริง แต่ห่างกันเพียงแค่สองสัปดาห์เท่านั้นที่เราได้พูดคุยกับมาวิ รัฐบาลยูเครนก็แจกอาวุธให้กับประชาชนที่พร้อมต่อสู้ ไม่กี่วันถัดมาโลกตะวันตกต่างช่วยส่งอาวุธไปช่วยกองทัพยูเครน ชวนให้อดคิดไม่ได้ว่า โลกจะยังขำออกหรือไม่ หากชายหนุ่มจากเมียนมาบอกความปรารถนาเดิมในห้วงเวลาปัจจุบัน

“ตอนนี้เราเจอปัญหาหนักมากเพราะกองทัพเมียนมาโจมตีเราทางอากาศ ถ้าเป็นการต่อสู้บนพื้นดิน พวกเรายังพอสู้ได้ ผมเป็นทหาร จะชนะการต่อสู้ครั้งนี้ได้ แน่นอนว่าผมต้องการกระสุนและปืน ส่วนประชาชนทั่วไป แน่นอนพวกเขาต้องการอาหารและยา”

ตรงกันกับรายงานของสำนักข่าววีโอเอของสหรัฐอเมริกา กองกำลัง PDF เผชิญกับข้อเสียเปรียบทางอาวุธเมื่อเทียบกับกองกำลังของกองทัพเมียนมาที่โจมตีทางอากาศอยู่เป็นระยะ ก่อนหน้านี้พวกเขาต้องผลิตปืนเองแบบแฮนด์เมด ไม่ก็หยิบยืมจากกองกำลังชาติพันธุ์ในพื้นที่ แม้พวกเขาจะอยู่ภายใต้ฝ่ายกลาโหมของรัฐบาล NUG แต่กลับได้รับอาวุธและกระสุนเพียงเล็กน้อย  ประมาณ 80% ของงบประมาณในการซื้ออาวุธ มาจากการบริจาคสาธารณะของชุมชนชาวเมียนมาทั้งในและต่างประเทศ บ้างต้องแสวงหาเอาจากตลาดมืดบริเวณชายแดนอ.แม่สอด จ.ตาก

“เรามีความกล้าหาญและกำลังคนมากพอที่จะสังหารกองกำลังของรัฐบาลทหาร แต่เราไม่มีอาวุธเพียงพอ เพื่อนของเราหลายคนต้องตายเพราะเหตุนี้” สมาชิกของหน่วย PDF คนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับวีโอเอ

Myanmar6.jpg

แม้อาวุธจะน้อยกว่า แถมยังมีกำลังพลน้อยกว่าถึง 10 เท่า มาวิบอกกับเราด้วยน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความหวังว่า พวกเขาจะชนะ

ขณะนี้กองกำลัง PDF บางแห่งค่อยๆ เปลี่ยนสถานะจากเป็นฝ่ายตั้งรับมาเป็นฝ่ายต่อสู้เชิงรุก และกำลังวางแผนโจมตีฐานทัพทหารเมียนมา ก่อนหน้านี้พวกเขาเคยโจมตีด่านหน้าและโครงสร้างพื้นฐานทางทหาร รวมทั้งซุ่มโจมตีขบวนรถทหารอยู่เรื่อยๆ จนในบางเขตพื้นที่ กองทัพเมียนมาต้องขนส่งอาหารและอาวุธผ่านทางอากาศเท่านั้น แต่ชัยชนะแบบนี้ยังเกิดขึ้นไม่มาก เพราะในหลายพื้นที่ที่กองทัพมีกำลังเยอะกว่ามาก กองกำลังฝ่ายต่อต้านต้องเผชิญกับความยากลำบากในการส่งอาวุธเช่นเดียวกัน


“การเจรจา เป็นคำที่งดงามมาก”

“รัฐประหารเป็นผลของการสร้างรัฐชาติที่ล้มเหลว ส่วนตัวฉันคิดว่าจะใช้โอกาสนี้ในการสร้างชาติขึ้นมาใหม่ แต่โชคร้าย เราไม่คาดคิดว่าเหตุการณ์จะเลวร้ายถึงขนาดนี้ การต่อสู้ของกลุ่มประชาชนจากฝ่ายเรา เป็นแค่เพียงการคัดง้างอำนาจด้วยความหวังว่าเราจะสามารถเจรจากันได้”

‘โม ซาน’ บอกเล่าการวิเคราะห์ของเธอเมื่อถูกถามว่า เมียนมาจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร?

ในขณะที่รัฐบาล NUG ทำหน้าที่ดำเนินการเรื่องการต่อรองผ่านการเจรจาพูดคุย กองกำลัง PDF กำลังต่อสู้กับกองทัพเมียนมาเพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองเมื่อมีการเจรจา แต่โม ซานบอกว่า เราต้องไม่ลืมว่าเธอกำลังพูดถึงความเป็นไปได้ของการเจรจาในพื้นที่ปลอดภัย บนเวทีเสวนาในประเทศไทยซึ่งต่างกันโดยสิ้นเชิงกับสถานการณ์ที่เพื่อนคนหนุ่มสาวจำนวนมากต้องเผชิญในพื้นที่สู้รบ มาวิคือหนึ่งในนั้นที่ไม่เห็นด้วยว่าการเจรจาคือคำตอบ

"การเจรจา เป็นคำที่งดงามมาก แต่ยังใช้ไม่ได้กับสถานการณ์ตอนนี้"

"คนจำนวนมากถูกฆ่าตาย ทำไมเราถึงจำเป็นต้องเจรจา? ทุกคนคงรู้ว่า บางครั้งไฟป่าสามารถดับได้ด้วยไฟเท่านั้น ไม่ใช่น้ำ นี่คือสถานการณ์ตอนนี้ และเป็นสาเหตุว่าทำไมเราถึงจับปืนสู้ นี่คือคำตอบของผม เพื่อนของผมและอีกหลายคนถูกฆ่าทุกวัน หลายคนต้องสูญเสียบ้านและที่ดิน เราจะเจรจากันได้อย่างไร? เราต้องการให้เผด็จการทหารหายไป นั่นเป็นทางเดียว เราจึงจำเป็นต้องต่อสู้”

ส่วนมาร์เวลัสมองว่า การนั่งบนโต๊ะเจรจากับรัฐบาลทหารเป็น “สิ่งที่อันตราย”

“รัฐบาลทหารมีธุรกิจมากมาย นานาชาติควรจะเข้าไปแทรกแซงตรงนั้น นอกจากนี้นานาชาติควรปฏิเสธการรับลูกหลานของคนในรัฐบาลทหารและคนที่ทำงานใกล้ชิดกับพวกเขา ไม่ให้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ เราไม่มีทรัพยากรอะไรเลย เรามีแค่ความตั้งใจที่จะต่อสู้ ฉันไม่ต้องการให้ต่างชาติบังคับให้เรานั่งบนโต๊ะเจรจากับรัฐบาลเผด็จการ เพราะคนที่ต้องการให้เราทำแบบนั้น ส่วนใหญ่คือคนนอกที่อยู่ต่างประเทศ ต่อให้เขาจะทุกข์ทรมานเช่นกัน แต่เขาไม่มีวันรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นจริงๆ กับคนในพื้นที่ กองทัพเมียนมาจะต้องถูกทำลาย และพวกเขาจะต้องถูกลงโทษก่อน ซึ่งฉันไม่เห็นเลยว่ามันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร”


Myanmar2.jpg


“ได้โปรดไม่ต้องออกแถลงการณ์อะไรอีก”

นฤมล ทับจุมพล อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เฝ้าติดตามสถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านมาโดยตลอด แสดงข้อมูลให้เราเห็นว่าที่ผ่านมาการโจมตีของกองทัพเมียนมารุนแรงมากขึ้น และสถานการณ์ค่อยๆ ประชิดติดพรมแดนไทยเข้ามาเรื่อยๆ แต่ประเทศไทยในฐานะประเทศที่ติดอันดับท็อปเท็นของผู้ลงทุนสูงสุดในเมียนมากลับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ ‘ดีขึ้น’ เสียด้วยซ้ำ

“หากดูในเรื่องการลงทุนจากต่างประเทศในเมียนมา เปรียบเทียบก่อนและหลังรัฐประหาร มันน่าเศร้าที่ตัวเลขแทบจะไม่เปลี่ยนเท่าไหร่ ที่เปลี่ยนแปลงคือการลงทุนของไทย ขยับเพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 4 มาเป็นอันดับที่ 3 นี่เป็นเรื่องที่น่าอับอายมากในฐานะคนไทยคนหนึ่ง”

หากดูอันดับท็อปเท็นของต่างชาติที่ลงทุนสูงสุดในเมียนมา มีชาติอาเซียนติดอันดับถึง 4 ประเทศ สิงคโปร์ที่ออกแถลงการณ์ประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย เป็นชาติที่ลงทุนสูงสุดในเมียนมา แซงหน้าประเทศจีน ทั้งก่อนและหลังการรัฐประหาร คำถามสำคัญคือ ทำไมอาเซียนแทบไม่ทำอะไรเลยกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาตลอดเวลาหนึ่งปี?

นฤมลเสนอว่า ในกรณีของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่หลายประเทศมักเลี่ยงการพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน นานาชาติจะต้องเพิ่มแรงกดดันมากกว่านี้ เพราะในส่วนของประชาชนในเมียนมาเอง พวกเขาพยายามทำทุกอย่างแล้ว ตั้งแต่ชุมนุมอย่างสงบ เรียกร้องให้นานาชาติกดดันและแทรกแซงรัฐบาลทหารด้านเศรษฐกิจ ไปจนถึงหยิบอาวุธเพื่อสู้รบด้วยตัวเอง


Myanmar10.jpg


“ฉันหวังว่าอย่างน้อยจะได้ส่งเสียงไปยังนานาชาติเพื่อกดดันให้อาเซียนทำอะไรสักอย่างเพื่อหยุดความรุนแรงในเมียนมา...อาเซียนมักจะพูดถึงหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน แต่ข้อโต้แย้งของฉันคือ การไม่แทรกแซงไม่ได้หมายถึงการไม่ทำอะไรเลย แต่การไม่แทรกแซงในที่นี้หมายถึงคุณต้องหาวิธีการพูดคุยเพื่อไม่ให้ฝ่ายมิน อ่อง หล่าย ฆ่าประชาชนของพวกเขา ฉะนั้นหากใครพูดเรื่องการไม่แทรกแซง ฉันจะขอแย้งด้วยเรื่องความรับผิดชอบ อย่างน้อยก็เพื่อปกป้องชีวิต”

หากใครติดตามข่าวความเคลื่อนไหวกรณียูเครน-รัสเซีย ‘ACT Now!’ เป็นแคมเปญในการชุมนุมประท้วงต่อต้านสงครามในยูเครนทั่วโลก ผู้ประท้วงในสหรัฐอเมริกาและยุโรปต่างกดดันรัฐบาลของตัวเองให้ ‘ลงมือทำ’ อะไรสักอย่างเดี๋ยวนี้เพื่อหยุดกองทัพรัสเซีย เป็นคำเรียกร้องเดียวกันที่มาวิอยากบอกอาเซียนและนานาชาติต่อกรณีของเขาและประชาชนในเมียนมา

“ผมอยากบอกอาเซียนและนานาชาติว่า ได้โปรดไม่ต้องออกแถลงการณ์อะไรอีก มันเพียงพอแล้ว พวกคุณต้องลงมือทำ ไม่ใช่แค่พิมพ์ข้อความในคอมพิวเตอร์ แค่พิมพ์ผมก็ทำได้ ใครๆ ก็ทำได้ และได้โปรดบอกรัฐบาลไทยว่าอย่าเป็นพันธมิตรกับมิน อ่อง หล่าย และขอให้รับผู้ลี้ภัยที่หนีไปชายแดนไทย จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีชื่อเสียงที่ดีจากการรับผู้ลี้ภัยเมียนมามาโดยตลอด ผมอยากจะบอกรัฐบาลไทยว่าได้โปรดอย่าทำลายชื่อเสียงนั้น และนักข่าวทั้งหลายช่วยบอกยูเอ็นด้วยว่าอย่าทำลายชื่อเสียงของตัวเอง พวกเราเริ่มจะไม่เชื่อในยูเอ็นแล้ว”

Myanmar5.jpg


“พวกคุณอยากเห็นเมียนมาและพวกเราเป็นอย่างไร?”

การสู้รบกับเผด็จการทหารในเมียนมาเพื่อประชาธิปไตยดำเนินมาเข้าสู่ปีที่สอง ประชาชนจับอาวุธร่วมขบวนการต่อต้านเพิ่มมากขึ้น มีความสั่นคลอนภายในระบอบการปกครอง และความตึงเครียดทางเศรษฐกิจจากการทำรัฐประหาร ที่สะท้อนสภาวะความไม่มั่นคงของรัฐบาลเผด็จการทหาร แต่หลายสื่อและองค์กรวิเคราะห์คล้ายกันว่า หากปราศจากความช่วยเหลือและแรงกดดันจากนานาชาติที่มากกว่านี้ ประชาชนในเมียนมาจะยังต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวไปอีกนานบนฐานทรัพยากรที่ขาดแคลน

แม้บริบททางการเมืองและเหตุแห่งการต่อสู้ในกรณีของยูเครนและเมียนมาจะต่างกัน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าชีวิตที่ต้องสูญเสีย แม่ที่ต้องหอบลูกหนีตายข้ามพรมแดน และคนธรรมดาสามัญสละชีวิตเพื่ออิสรภาพ เป็นภาพที่เกิดขึ้นจริงในทั้งสองประเทศ ในโลกที่มีกฎกติกาสากล ทั้งองค์กรนานาชาติและรัฐบาลชาติต่างๆ มีหน้าที่และภาระผูกพันในการกดดันและลงโทษผู้กดขี่ที่ไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ

ในขณะที่เรารู้สึกเศร้าไปกับภาพผู้ลี้ภัยในยูเครน ภาพบ้านเมืองถูกเผาทำลาย และรู้สึกโล่งใจเมื่อเห็นภาพพวกเขาเดินทางถึงชายแดนประเทศเพื่อนบ้านอย่างโปแลนด์โดยสวัสดิภาพ ภาพถ่ายของ ‘ฟ็อกซ์’ ช่างภาพหนุ่มชาวเมียนมา อาจทำให้เราได้ใช้เวลาสักเสี้ยวหนึ่ง รำลึกถึงมาวิและคนหนุ่มสาวที่จับปืนต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่ไกลจากบ้านเรา และตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ทหารเมียนมายังคงถล่มหมู่บ้าน ฆ่าคนบริสุทธิ์และเผาทิ้งเกือบทุกวัน ในขณะเดียวกัน คนหนุ่มสาวในเมียนมายังเฝ้าฝันถึงอิสรภาพ และเฝ้ารอการช่วยเหลือจากประเทศเพื่อนบ้านและนานาชาติ

นอกจากอาวุธที่มาวิต้องการ โม ซาน และมาร์เวลัสเรียกร้องให้ไทยและนานาชาติโฟกัสที่การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม พร้อมฝากถามคนทั้งโลกว่า “พวกคุณอยากเห็นเมียนมาและพวกเราเป็นอย่างไร?”

ไม่ว่าคำตอบของเราคืออะไร  ฟ็อกซ์ ฝากส่งข้อความมาถึงทุกคนว่า แม้เขาจะภูมิใจที่ตัวเองและเพื่อนคนหนุ่มสาวในเมียนมาเสี่ยงชีวิตสู้กับเผด็จการทหารเพื่อแลกกับการสร้างสังคมเมียนมาที่เป็นประชาธิปไตย แต่เขาก็หวังว่า “มันจะจบลงเสียที เพราะความเจ็บปวด ความทรมาน และความสูญเสียมันมากเกินไป”




หมายเหตุ: งานนี้จัดขึ้นที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ กรุงเทพมหานคร โดยองค์กร SEM (Spirit in Education Movement) มีการจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย “365 Days after…” และการเสวนาในหัวข้อ “Myanmar, where do we go from here?” วันที่ 11 ก.พ. 2565

วิรดา แซ่ลิ่ม
15Article
0Video
0Blog