เป็นที่ประจักษ์แล้วต่อสายตาทุกคนแล้วว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 สร้างผลกระทบมหาศาลมากเพียงใด ล่าสุดนางคริสตินา จอร์จีวา ผู้อำนวยการกองทุนกองเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประกาศชัดเจนแล้วว่าโลกกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เช่นเดียวกับนักเศรษฐศาสตร์อีกมากมาย
ในทำนองเดียวกัน ผลประเมินอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปีนี้ก็ไม่มีองค์กรใดออกมาประกาศตัวเลขในแดนบวกเลยแม้แต่รายเดียว ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้จีดีพีปีนี้ไว้ที่ติดลบร้อยละ 5.3 ตามมาด้วยธนาคารโลกที่ประกาศในช่วงติดลบร้อยละ 3 ในกรณีพื้นฐาน และอาจตกลงไปถึงติดลบร้อยละ 5 ในกรณีเลวร้ายที่สุด
ขณะที่ตัวเลขจากธนาคารทิสโก้ รุนแรงถึงขั้นติดลบร้อยละ 6.9 ซึ่งทุกการประมาณที่กล่าวมาล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานที่อุตสาหกรรมที่ใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและมูลค่าในสัดส่วนต่อจีดีพีในมูลค่าสูง อย่างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและส่งออกจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแสความกังวลที่ภาคประชาสังคมและภาคเอกชนมีให้ต่อการแพร่ระบาด อุตสาหกรรมการเกษตรที่มีสัดส่วนมูลค่าเพียงร้อยละ 10 ของจีดีพีไทย แต่มีจำนวนประชากรตามข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ในปี 2561 ถึง 7,271,759 ครัวเรือน จากจำนวนครัวเรือนในประเทศไทยทั้งสิ้น 21,404,086 ครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 34.6 ของจำนวนครัวเรือนทั้งประเทศ ที่กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตภัยแล้งไปพร้อมๆ กับวิกฤตโควิด-19 เหมือนจะถูกหลงลืมไปท่ามกลางกระแสโรคระบาดที่ชนชั้นกลางดูจะมีเสียงดังกว่าในครั้งนี้
ตามข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ประจำปี 2560 พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรรวมทั้งสิ้น 149,253,718 ไร่ ซึ่งแบ่งเป็นพื้นที่รายภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ได้ดังนี้ 32.5, 63.8, 31.1 และ 21.7 ล้านไร่ตามลำดับ
ตามปกติแล้วพื้นที่เกษตรกรรมเหล่านี้ต้องได้รับการจัดสรรทรัพยากรทางน้ำอย่างเหมาะสมจากเขื่อนในแต่ละภูมิภาค แต่เมื่อไปสำรวจปริมาณน้ำตามเขื่อนใหญ่ของแต่ละภูมิภาค ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ thaiwater พบว่า มีเขื่อนถึง 20 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำอยู่ในขั้นวิกฤต อีกทั้งปริมาณน้ำในเขื่อนของทุกภาคยังทรงตัวอยู่ในระดับน้ำน้อยและระดับน้ำน้อยวิกฤต
เมื่อรวมเขื่อนสำคัญในภาคเหนือทั้ง 8 แห่ง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่งัด เขื่อนกิ่วลม เขื่อนแม่กวง เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนแควน้อย และเขื่อนแม่มอก จะพบว่าความจุรวมของเขื่อนเหล่านี้สามารถรองรับได้ถึง 24,825 ล้าน ลบ.ม.แต่ข้อมูล ณ วันที่ 3 เม.ย.พบว่า เขื่อนทั้ง 8 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมเพียง 9,333 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็นร้อยละ 38 ของระดับน้ำเก็บกัก (รนก.) และเมื่อไปมองปริมาณน้ำที่ใช้ได้จริง ตัวเลขยิ่งน้อยจนเหลือเพียง 2,588.51 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 10 ของ รนก.เท่านั้น
ในจำนวนนี้ เขื่อนภูมิพล มีจำนวนปริมาณน้ำที่ใช้ได้จริงเพียงร้อยละ 7 ของ รนก.ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์มีระดับนำใช้ได้จริงเพียงร้อยละ 12 ของ รนก.เท่านั้น ส่วนปริมาณน้ำสะสมที่ระบายออกจากทั้ง 8 เขื่อน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา คิดเป็น 1,855.37 ล้าน ลบ.ม.
สถานการณ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ไม่ได้ดีไปกว่าภาคเหนือเท่าไหร่นัก โดยจากทั้งหมด 12 เขื่อน มีปริมาณน้ำในอ่างรวม 2,946 ล้าน ลบ.ม.จากความจุทั้งหมดที่ 8,368 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็นปริมาณน้ำร้อยละ 35 ของ รนก. และมีปริมาณน้ำใช้ได้จริงเพียง 1,504.64 ล้าน ลบ.ม.หรือร้อยละ 18 ของ รนก.
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของเขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนจุฬาภรณ์มีความน่ากังวลเป็นอย่างมาก เนื่องจากระดับน้ำใช้ได้จริงในปัจจุบันของทั้ง 2 เขื่อน อยู่ที่ติดลบร้อยละ 9 และร้อยละ 1 ตามลำดับ ซึ่งปริมาณความจุของเขื่อนอุบลรัตน์แท้จริงแล้วมีมากถึง 2,431 ล้าน ลบ.ม.แต่ปริมาณน้ำที่ใช้ได้จริงตอนนี้อยู่ในระดับติดลบ 208.86 ล้าน ลบ.ม.ขณะที่ปริมาณความจุของเขื่อจุฬาภรณ์อยู่ที่ 164 ล้าน ลบ.ม.และขณะนี้มีน้ำที่ใช้ได้จริงเพียง 1.61 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น
สถานการณ์ของ 3 เขื่อนหลักของภาคกลาง ที่ประกอบไปด้วย เขื่อป่าสักฯ เขื่อนกระเสียว เขื่อนทับเสลา แต่ไม่ได้รวมข้อมูลของเขื่อนเจ้าพระยา พบว่า มีปริมาณน้ำกักเก็บราว 247 ล้าน ลบ.ม.จากปริมาณความจุของเขื่อนรวมกัน 1,419 ล้าน ลบ.ม.และคิดเป็นสัดส่วนปริมาณน้ำใช้ได้จริงราวร้อยละ 13 หรือคิดเป็นปริมาณ 186.99 ล้าน ลบ.ม.
อีกทั้ง เมื่อแยกตามปริมาณน้ำใช้ได้จริงของทั้ง 3 เขื่อน ยังไม่มีเขื่อนใดมีสัดส่วนถึงร้อยละ 20 ของ รนก.สักแห่งเดียว โดยเขื่อนกระเสียวมีปริมาณน้ำใช้ได้จริงแค่ร้อยละ 5 เท่านั้น ส่วนอีก 2 เขื่อน อย่างเขื่อนทับเสลาและเขื่อนป่าสัก มีปริมาณนำใช้ได้จริงร้อยละ 10 และ 16 ตามลำดับ
ตัวเลขปริมาณของ 2 เขื่อนในภาคตะวันตก ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ ถือว่าอยู่ในระดับที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ เพราะระดับน้ำคงเหลือของทั้ง 2 แห่ง จัดอยู่ในระดับปานกลาง หรือมีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 50 - 80 ขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขปริมาณน้ำในอ่างจะอยู่ในระดับปานกลาง แต่ตัวเลขปริมาณน้ำใช้ได้จริงยังถือว่าไม่มากนัก ตัวเลขปริมาณน้ำใช้ได้จริงของเขื่อนวชิราลงกรณอยู่ที่ 2,166.01 ล้าน ลบ.ม.จากความจุทั้งหมด 8,860 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 24 ของ รนก.ขณะที่เขื่อนศรีนครินทร์มีสัดส่วนน้ำใช้ได้จริงเพียงร้อยละ 18 ของ รนก.
เขื่อนทั้ง 6 แห่งของภาคตะวันออก ตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่ากังวลเช่นเดียวกัน โดยปริมาณน้ำในอ่างรวมปัจจุบันอยู่ที่ 343 ล้าน ลบ.ม.จากความจุทั้งหมด 1,515 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็นร้อยละ 23 ของ รนก.ส่วนปริมาณน้ำใช้ได้จริงมีทั้งหมด 243.42 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ของ รนก.
ด้านตัวเลขปริมาณน้ำสะสมที่ระบายออกจากเขื่อนทั้งหมดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 356.58 ล้าน ลบ.ม.โดยเป็นสัดส่วนจากเขื่อนขุนด่านปราการชล มากที่สุดถึง 103.24 ล้าน ลบ.ม.ตามมาด้วยเขื่อนนฤบดินทรจินดาที่ระบายน้ำไปแล้ว 94.62 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับภาคใต้ ที่มีเขื่อนทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อยปราณบุรี เขื่อนรัชชประภา และเขื่อนบางลาง มีปริมาณความจุรวมกันทั้งหมด 8,194 ล้าน ลบ.ม.และมีปริมาณน้ำในปัจจุบันทั้งหมด 4,646 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็นร้อยละ 57 ของ รนก.ส่วนตัวเลขปริมาณน้ำที่ใช้ได้จริงอยู่ที่ 2,935.96 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็นร้อยละ 36 ของ รนก.
เมื่อเทียบกับเขื่อนในภาคอื่นๆ แล้ว สัดส่วนปริมาณน้ำที่ใช้ได้จริงของเขื่อนในภาคใต้ถือว่าอยู่ในระดับที่ดีที่สุดคือร้อยละ 36 ของ รนก. ขณะที่เขื่อนบางลางมีปริมาณน้ำใช้ได้จริงถึงร้อยละ 52 ของ รนก.
เมื่อสรุปตัวเลขรวมทั้งประเทศ ตามข้อมูล ณ วันที่ 3 เม.ย.จะพบว่า ปริมาณความจุของทุกเขื่อนรวมกันอยู่ที่ 70,926 ล้าน ลบ.ม.ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนในปัจจุบันอยู่ที่ 36,134 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 51 ของ รนก.แต่ปริมาณน้ำใช้ได้จริงของเขื่อนทั่วประเทศมีเพียง 12,800.73 ล้าน ลบ.ม.หรือร้อยละ 18 ของ รนก.เท่านั้น
รายงานคาดการณ์อากาศราย 3 เดือน สำหรับประเทศไทย ของกรมอุตตินิยมวิทยา ระหว่างเดือน เม.ย. - มิ.ย.จะมีปริมาณฝนรวมบริเวณประเทศไทยส่วนใหญ่จะต่ำกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 5 ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะมีปริมาณฝนรวมต่ำกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 10 ขณะที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออก รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีปริมาณฝนรวมใกล้เคียงค่าปกติ
ขณะที่เมื่อแบ่งตามเดือนพบว่า ประเทศไทยในเดือน เม.ย.จะมีปริมาณฝนโดยรวมต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 10 โดยภาคเหนือจะมีฝนแค่ประมาณ 5 - 7 วัน ขณะที่ภาคกลางและกรุงเทพฯ รวมถึงปริมลฑล จะมีฝนเพียง 4 - 6 วัน ซึ่งส่วนมากมาจากพายุฤดูร้อนเป็นหลัก ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกจะมีจำนวนฝนประมาณ 5 - 7 วัน
ในเดือน พ.ค.ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนจากฤดูร้อนเป็นฤดูฝนคาดว่าปริมาณฝนรวมบริเวณประเทศไทยส่วนใหญ่จะใกล้เคียงค่าปกติยกเว้นบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกที่ปริมาณฝนรวมจะต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 10
ส่วน เดือน มิ.ย.คาดว่าปริมาณฝนรวมบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะใกล้เคียงค่าปกติ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ฝั่งตะวันตกปริมาณฝนรวมจะต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 10 ส่วนภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปริมาณฝนรวมจะสูงกว่าค่าปกติร้อยละ 5
ข้อมูลจากบทความ 'ปรับสู้แล้งเปลี่ยนแปลงยั่งยืน' จากธนาคารแห่งประเทศไทย โดย ดร.มณฑลี กปิลกาญจน์ และนางสาว นันทนิตย์ ทองศรี จากฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ยังชี้ว่า ไทยอาจต้องเจอภัยแล้วในปีนี้ในระดับที่รุนแรงไม่ต่างจากเมื่อปี 58 - 59 ที่เป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญขนาดรุนแรง ฝนตกต่ำกว่าค่าปกติติดต่อกันถึงสองปี
โดยหากย้อนตัวเลขปริมาณฝนทั้งประเทศในปี 62 พบว่าต่ำกว่าค่าปกติมากถึงร้อยละ 15 ซึ่งต่ำกว่าปริมาณฝนในปี 2558 ด้วย อีกทั้งล่าสุดเดือนมกราคมที่ผ่านมาฝนเฉลี่ยทั้งประเทศยังต่ำกว่าค่าปกติมาก นอกจากนี้ปริมาณน้ำที่ใช้การได้ในเขื่อนหลักอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยวิกฤตที่ร้อยละ 25 ของความจุในเขื่อน ซึ่งขยับเข้าใกล้ปริมาณน้ำที่ต่ำวิกฤตในปี 2559 ที่ระดับร้อยละ 20 ขึ้นเรื่อย ๆ โดยขณะนี้สองเขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำใช้การได้ต่ำกว่าในปี 2559 แล้วด้วย
ตามข้อมูลจากสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ประจำเดือน ม.ค.พบว่า การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยหดตัวในหลายประเภท อาทิ การส่งออกข้าวที่ติดลบถึงร้อยละ 34 รวมถึงผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ที่หดตัวติดลบร้อยละ 16.6
ทั้งนี้ แนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังต่างประเทศยังจะได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอุปสงค์จากต่างประเทศยังคงชะลอตัวจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงรวมถึงสายการผลิตที่ขาดลงในบางประเทศจากมาตรการปิดประเทศต่างๆ จนแม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์ค่าเงินบาทของไทย ที่อ่อนค่ามาแตะ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จะเอื้อให้ประเทศสามารถแข่งขันเรื่องราคากับประเทศคู่ค้าและประเทศคู่แข่งได้มากขึ้น ก็ไม่ได้เป็นประโยชน์มากนัก นอกจากการเพิ่มรายได้ในรูปเงินบาทให้กับเกษตรกร
นอกจากนี้ ภาวะภัยแล้งยังทำให้เกิดความเสี่ยงต่อปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรด้วย ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรประจำเดือน ก.พ.63 จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่าอยู่ที่ระดับ 138.02 ซึ่งลดลงร้อยละ 4.54 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของผีก่อนหน้า เนื่องจากสินค้าเกษตรสำคัญหลายอย่างอาทิ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และสับปะรด มีผลผลิตลดลง เช่นเดียวกับดัชนีรายได้ของเกษตรกรประจำเดือน ก.พ.ที่อยู่ที่ร้อยละ 3.73 จากเดิมที่อยู่ที่ร้อยละ 4.96 ในเดือน ม.ค.
ตัวเลขประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจจากภัยแล้งครั้งนี้ของกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ ชี้ว่าอาจะสูงถึง 26,000 ล้านบาท โดยส่วนหลักเป็นผลมาจากผลผลิตข้าวที่ลดลงราวร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า เช่นเดียวกับพืชอื่นๆ
ตามข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีการประชุมของคณะรัฐมนตรีในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภัยแล้วทั้งหมด 5 ครั้ง ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการหรือสั่งการต่างๆ ลงไปยังกระทรวงหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ก็ดูเหมือนว่าผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมยังไม่เกิดขึ้นจริง ปริมาณน้ำในเขื่อนกว่า 20 แห่งยังอยู่ในระดับวิกฤต รวมถึงสถานการณ์ฝนน้อยก็รออยู่ข้างหน้า
มาตรการที่ลงมาเยียวยาก็ดูเหมือนจะไม่สามารถช่วเหลือประชากรในภาคเกษตรที่ต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตในทุกมิติ ไล่ไปตั้งแต่ขั้นตอนแรกของการเพาะปลูกที่มีน้ำไม่เพียงพอ ไปจนถึงขั้นของการค้าขายหรือส่งออกที่ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ประเทศคู่ค้าไม่มีกำลังซื้อ ซ้ำร้ายอุปสงค์ภายในประเทศก็ตกลงเช่นเดียวกันจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่บั่นทอนกำลังซื้อของภาคประชาชนจากการว่างงานหรือถูกลดเงินเดือน
ขณะที่ทุกอย่างกำลังเกิดขึ้นและส่งผลกระทบซ้ำร้ายทับกันไปมา ความหวังในการพาประเทศกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติจากการควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แม้จะประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วก็จะเหมือนจะไม่ได้ผลอีก เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงทะลุ 100 รายทุกวัน รวมถึงจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นทุกวัน
สุดท้ายแล้ว ดูเหมือนว่า ไม่ว่าจะเป็นประชากรในภาคเกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบจากทั้งภัยแล้งและโควิด-19 รวมไปถึงแรงงานในอุตสาหกรรมอื่นๆ จะ (ยัง) ไม่มีใครได้รับความช่วยเหลือที่เพียงพอจากรัฐบาล