เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566 ณ โรงแรมพูลแมนหลวงพระบาง เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission-MRC) ได้จัดเวทีประชุมหารือผู้มีส่วนได้เสียระดับภูมิภาค (Regional Stakeholders Forum) ครั้งที่ 13 ซึ่งมีแนวคิดหลักของการประชุมว่าการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อความโปร่งใสและความเชื่อถือ (Data Sharing for Transparency and Trust) โดยมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานภาครัฐ 4 ประเทศสมาชิก ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม พร้อมทั้งประเทศคู่เจรจาคือ จีนและพม่า ประเทศหุ้นส่วนการพัฒนา (ผู้บริจาค) อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สวีเดน บริษัทผู้พัฒนาโครงการเขื่อน บริษัทที่ปรึกษา และตัวแทนภาคประชาสังคม รวมประมาณ 200 คน โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านเฟสบุคไลฟ์
ในช่วงเช้าเป็นการนำเสนอรายงานสภาวะลุ่มน้ำโขงประจำปี 2023 (State of the Basin Report) โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งว่าพบการเปลี่ยนแปลงของการไหลของแม่น้ำโขง คือฤดูแล้งมีน้ำเพิ่มขึ้น ฤดูฝนมีน้ำลดลง ซึ่งเกิดขึ้นตลอดลำน้ำโขง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติแต่มีอุณหภูมิสูงขึ้นซึ่งต้องศึกษาเพิ่ม ปริมาณตะกอนลดลงตลอดระยะเวลา 2 ทศวรรษที่สถานีเชียงแสน ส่วนสถานีอื่นๆ พบว่าปริมาณตะกอนลดลงในทศวรรษนี้ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของตลิ่ง พื้นที่ชุ่มน้ำลดลง ประชากรปลา การจับปลาได้ลดลงในหลายพื้นที่ เช่น เมืองโขง (ชายแดนลาว กัมพูชา) และปากน้ำโขงที่เวียดนาม
นางสาวซาร่า ควินซิโอ (Sarah Quinzio) รองผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ฯ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหรัฐอเมริกา กล่าวว่ารายงานสภาวะลุ่มน้ำโขงประจำปี 2023 เป็นรายงานที่สำคัญ สหรัฐมองว่าการร่วมมือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนาก็สนับสนุนให้ MRC เดินหน้าสร้างความร่วมมือ ยินดีที่เห็นการแชร์ข้อมูลซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และสหรัฐก็จะยืนเคียงข้าง MRC และลุ่มน้ำโขง
ดร.มิเชล อีริค (Dr.Micheal Eric Raeder) ผู้แทนบริษัท CK Power นำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นเขื่อนไซยะบุรีเกี่ยวกับปลาและตะกอนว่า ตั้งแต่มีการเปิดใช้งานเขื่อนไซยะบุรี ได้มีการดำเนินการศึกษากับคณะนักชีววิทยาและกลุ่มคนหาปลา โดยศึกษาพบปลา 121 ชนิด การศึกษาการอพยพของปลาลงท้ายน้ำผ่านเครื่องผลิตไฟฟ้าของเขื่อนไซยะบุรี พบว่าเป็นปลาขนาดเล็ก และมีการศึกษาความสามารถว่ายผ่านแรงกดที่เปลี่ยนแปลง (ผ่านเครื่องผลิตไฟฟ้าของเขื่อน) การอพยพขึ้นตอนบนของปลาพบมากในช่วงต้นฤดูฝน และพบการอพยพขึ้นอยู่ตลอดทั้งปี ส่วนการอพยพลงของปลาผ่านโรงไฟฟ้าพบในบริมาณไม่มาก ในประเด็นการติดตามการไหลของตะกอนมีการติดตามแบบ real time พบว่าปริมาณตะกอนเหนือและท้ายเขื่อนไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีการศึกษาจากปากแบงถึงปากลาย การศึกษาความลึกของท้องน้ำโดยโดรนใต้น้ำเป็นระยะทาง 110 กม. ไม่พบความเปลี่ยนแปลงและได้ศึกษามาถึงเมืองหลวงพระบางก็ไม่พบความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะสำคัญ
ผู้เข้าร่วมมีการสอบถามผ่าน FB live ขอทราบรายละเอียดการศึกษาและผลกระทบ ดร.มิเชล ตอบว่าข้อมูลมีเยอะโดยได้แชร์กับรัฐบาลลาวและหน่วยงานรัฐของลาว มีการหารือกับ MRC ซึ่งมีกระบวนการตามข้อตกลงแม่น้ำโขงที่ตนต้องปฏิบัติตาม สำหรับคำถามเรื่องอ่างเก็บน้ำนั้นไม่สามารถแชร์ข้อมูลได้ ทางท้ายน้ำ (ของเขื่อนไซยะบุรี) อาจพบการเปลี่ยนแปลง ไม่พบข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสิ่งที่กล่าวว่าปริมาณปลาแม่น้ำโขงลดลง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้วก่อนมีเขื่อน (ไซยะบุรี) การศึกษาของไซยะบุรีปีเริ่มตั้งแต่ 2011 และนำเข้าเทคโลโลยีการศึกษาจากต่างประเทศเข้ามาอยู่ตลอดโดยไม่หยุด
ผู้แทนบริษัท Hydropower Asia AFRY นำเสนอว่าการก่อสร้างโครงการเขื่อนหลวงพระบาง กำลังดำเนินการอยู่ มีการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมต่อเนื่องและแชร์ข้อมูลกับรัฐบาลลาวและ MRC ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลให้เห็น มีการคำนึงถึงการก่อสร้างเขื่อนทางตอนบน (ในจีน) มีการพิจารณาการอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่อาศัยในบางช่วงของแม่น้ำโขงที่ยังคงไหล (preservation of critical habitats in the remaining free-flowing section of the river) โครงการเขื่อนหลวงพระบางจะมีการติดตั้งทางปลาผ่าน ลิฟต์ปลา รวมทั้งกังหันผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับปลา ซึ่งได้เก็บข้อมูลปลาที่ตายและบาดเจ็บ (จากการว่ายผ่านเครื่องผลิตไฟฟ้า) นอกจากนี้มีคณะทำงานศึกษาความปลอดภัยของเขื่อนโดยผู้เชี่ยวชาญ การสัญจรทางเรือผ่านเขื่อนหลวงพระบางมีการออกแบบทางผ่านเรือ มีการพัฒนากฎการบริหารเขื่อนชุด (cascade operating rules) โดยอ้างอิงใกล้เคียงกับระบบของเขื่อนไซยะบุรี มีความเสี่ยงเรื่องข้อมูลที่จำกัดของข้อมูลเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบน (Lancang cascade)
Andrew Croft จากบริษัท CBA Studios นำเสนอในหัวข้อการศึกษาผลกระทบของโครงการเขื่อนหลวงพระบางต่อเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง ว่ารัฐบาลลาวได้ว่าจ้างบริษัทจากสหราชอาณาจักรทำการศึกษาการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดก (Heritage Impacts Assessment-HIA) โดยนำเสนอการศึกษาเบื้องต้นซึ่งขั้นตอนต่อไปจะนำเสนอให้แก่ UNESCO ในต้นปีหน้าเพื่อเข้าประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในปี 2024 ศึกษาแนวคิดของเมืองมรดกโลกคือวัฒนธรรม สังคม วิถีชีวิต ของหลวงพระบาง ผลกระทบต่อคุณลักษณะอันเป็นคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (OUV) ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติของแม่น้ำโขง ซึ่งต่อมีข้อกังวลของ UNESCO ต่อความเสี่ยงความปลอดภัยของเขื่อน การศึกษาเบื้องต้นพบว่าจะไม่มีผลกระทบที่มีนัยยะสำคัญจากเขื่อนเนื่องจากแม่น้ำโขงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ผู้แทน MRC นำเสนอกระบวนการปรึกษาหารือและแจ้งล่วงหน้า (PNPCA) ของโครงการเขื่อนสานะคาม ว่าปี 2019 ทางการลาวได้นำส่งเอกสารโครงการเขื่อนสานะคาม ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมืองสานะคาม นครหลวงเวียงจัน (ห่างจากพรมแดนไทย ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ประมาณ 1.5 กม.) มีการจัดทำรายงานศึกษาทางเทคนิคแล้วเสร็จ และฝ่ายไทยและลาวศึกษาเพิ่มเติมเรื่องระดับน้ำ โดยเฉพาะระดับน้ำโขง (ท้ายเขื่อน) ที่จะเปลี่ยนแปลงระดับน้ำขึ้นลงอย่างรวดเร็ว ศึกษาเพิ่มเติมด้านเศรษฐกิจสังคม พันธุ์ปลาและการประมง
ผู้แทน MRC นำเสนออีกว่าโครงการเขื่อนภูงอย ทางการลาวได้นำส่งเอกสารในปี 2022 เขื่อนภูงอยจะสร้างบนแม่น้ำโขงในแขวงจำปาสัก มีข้อกังวลจากฝ่ายไทยเรื่องผลกระทบจากน้ำเท้อ (backwater effect ที่จะกระทบถึงฝั่งไทย ที่ จ.อุบลราชธานี) จึงมีการหารือกับบริษัทผู้พัฒนาโครงการในความกังวลดังกล่าวของไทย มีการจัดทำรายงานเพิ่มเติมแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน มีข้อหารือว่าจำเป็นต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมโดยไทยและลาว เรื่องการไหลของน้ำ อุทกวิทยา การประมง จากนั้นจึงจะนำเข้ากระบวนการ PNPCA เดือนธันวาคมปีนี้
“สำหรับโครงการเขื่อนดอนสะโฮง ที่ดำเนินการแล้วแต่มีการเพิ่มเติมเครื่องผลิตไฟฟ้าจาก 4 เป็น 5 เครื่อง เพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มในช่วงฤดูฝน จึงมีการนำส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้คณะกรรมการร่วม ซึ่งข้อมูลของผู้พัฒนาโครงการระบุว่าจะไม่มีผลกระทบต่อน้ำตกคอนพะเพ็ง” ผู้แทน MRC กล่าว
ดร.ชัยยุทธ สุขศรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สอบถามกรณีเขื่อนภูงอย ว่าจะมีผลกระทบน้ำเท้อถึงไทย ซึ่ง MRC ใช้คำว่า “อาจส่งผลต่อผลกระทบข้ามพรมแดน” ในขณะที่เอกสารของบริษัทผู้พัฒนาโครงการได้ระบุชัดเจนถึงผลกระทบข้ามพรมแดน ซึ่งมาตรา 7-8 ของข้อตกลงแม่น้ำโขง ระบุถึงการป้องกันความเสียหาย ซึ่งในกรณีนี้ผู้พัฒนาโครงการได้ระบุเองชัดเจนในเอกสารโครงการ ดังนั้นกระบวนการ PNPCA ของ MRC อาจจำเป็นต้องต่างไปจากโครงการเขื่อนแม่น้ำโขงอื่นๆ ที่เป็นเพียงการปรึกษาหารือล่วงหน้า
นส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ภูมิภาค International Rivers กล่าวว่าได้เข้าร่วมฟังการประชุมในวันนี้รู้สึกผิดหวังที่พบว่าข้อกังวลและความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นตลอดลำน้ำโขงทั้งประชาชนและธรรมชาติ ไม่ถูกนำมาหารืออย่างตรงไปตรงมาในการประชุมระดับภูมิภาคของ MRC ความเสียหายต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจท้องถิ่นกำลังเกิดขึ้นซ้ำๆ ตลอดเวลาหลายปี ผลกระทบจากเขื่อนที่รุนแรงและกว้างขวางมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีการพิจารณา กลับผลักดันโครงการเขื่อนเพิ่มอีก ทั้งหลวงพระบาง ปากแบง ปากลาย สานะคาม ภูงอย เขื่อนแม่น้ำโขงกำลังเดินหน้าตามขั้นตอนแต่ประชาชนไทยทุกคนกำลังต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าตามสัญญากับเขื่อนยาวนาน 29-35 ปี ทั้งๆ ที่ปริมาณไฟฟ้าสำรองของไทยมีมากกว่าครึ่ง
“ในฐานะลูกแม่น้ำโขงคนหนึ่ง รู้สึกสะเทือนใจที่ต้องฟังผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาพูดง่ายๆว่า ศึกษาแล้ว เขื่อนไม่มีผลกระทบ ทุกวันนี้ที่หลวงพระบาง ใครๆ ก็เห็นว่าแม่น้ำโขงเปลี่ยนไปตั้งแต่มีเขื่อนกั้น แม่น้ำโขงที่หลวงพระบางไม่ไหลตามธรรมชาติอีกแล้วเป็นเพียงปลายอ่างเก็บน้ำที่น้ำแทบจะไม่ไหล หรือบางวันน้ำก็ลดวูบตามการใช้งานของเขื่อน สิ่งนี้กำลังจะเกิดขึ้นที่พรมแดนไทยที่เชียงราย หากมีการสร้างเขื่อนปากแบง จะเกิดขึ้นที่เชียงคาน หนองคาย หากสร้างเขื่อนปากลาย สานะคาม และจะเกิดขึ้นที่อุบลราชธานี หากมีการสร้างเขื่อนภูงอย” เพียรพร กล่าว