ชาวกัมพูชาจำนวนมากกำลังเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงรุนแรงของระบบนิเวศภายในประเทศ โดยหนึ่งในนั้นก็คือ ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ต่ำมากที่สุดตั้งแต่ที่เคยมีการบันทึกมา โดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์ของรัฐบาลกัมพูชาในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ระบุว่า กัมพูชาอยู่ในพื้นที่ 1 ใน 3 แห่งที่เสี่ยงกับการได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในเอเชีย
นอกจากนี้ นิก เบเรสฟอร์ด ผู้แทน UNDP ประจำกัมพูชากล่าวว่า กัมพูชาว่ายังอ่อนแอมาก เนื่องจากความสามารถในการปรับตัวยังค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เกษตรกรรมส่วนใหญ่ยังพึ่งพาน้ำจากน้ำฝน และโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่ก็ยังไม่ยืดหยุ่นไปตามสภาพภูมิอากาศ บ้านเรือนจำนวนมากอาจไม่สามารถทนต่อเหตุการณ์ฉับพลันที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ เช่น ภาวะแล้งหรือน้ำท่วม
แม่น้ำโขงเป็นแหล่งน้ำสำคัญต่อชีวิตคนหลายล้านคน มีความยาวกว่า 4,500 ก.ม. จากจีนผ่านเมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา ก่อนจะลงไปสู่ทะเลจีนใต้ที่เวียดนาม แต่เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC ซึ่งเป็นหน่วยงานระหว่างประเทศที่ช่วยกันบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขง ออกรายงานว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากฝนตกน้อยมากและมีการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำจำนวนมากบริเวณต้นน้ำ
การที่กัมพูชาตั้งอยู่ปลายแม่น้ำโขง เพราะจีนและไทยก็ทำเขื่อนหลายแห่ง ช่วงหน้าแล้งก็กักเก็บน้ำไว้ ทำให้กัมพูชาไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับการผลิตไฟฟ้า จนช่วงต้นปีที่ผ่านมา กัมพูชาประสบปัญหาไฟฟ้าดับทั่วประเทศ
โตนเลสาบเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีปลากว่า 500,000 ตัน หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 70 ของการบริโภคโปรตีนในกัมพูชา ตามปกติ น้ำในแม่น้ำสายย่อยของแม่น้ำโขงจะไหลหลากมาจากทางเหนือปริมาณมาก จนหนุนน้ำในแม่น้ำให้กลับทิศทางการไหลย้อนกลับขึ้นไปที่โตนเลสาบ แต่ปีนี้ช่วงที่น้ำไหลย้อนกลับขึ้นไปที่โตนเลสาบกลับช้ากว่าปีก่อนๆ
ไบรอัน อายเลอร์ ผู้เขียนหนังสือ Last Days of the Mighty Mekong และหัวหน้าโครงการนโยบายแม่โขงของศูนย์สติมสัน ได้ติดตามระดับน้ำในแม่น้ำโขงอย่างใกล้ชิด ระบุว่า เขื่อนลดความแรงและระยะเวลาที่น้ำจะไหลย้อนกลับไปที่โตนเลสาบ พร้อมเตือนว่า เขื่อนกักเก็บน้ำที่มีมากกว่า 100 เขื่อนตามแม่น้ำโขงและแม่น้ำสายย่อยของแม่น้ำโขง ขัดขวางการอพยพของฝูงปลาและการพัดพาของตะกอน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการทำการเกษตร
อายเลอร์กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ฤดูมรสุมสั้นลง ฝนตกน้อยลง แต่เวลาฝนตกก็มักตกลงมาหนักกว่าที่ผ่านมา ส่งผลให้บางพื้นที่เกิดภัยแล้ง ส่วนอีกพื้นที่กลับน้ำท่วม พร้อมเตือนว่า ระบบนิเวศของกัมพูชาจะถูกทำลายอย่างถาวร และอาหารการกินในกัมพูชาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากด้วย
ทั้งนี้ อายเลอร์ชื่นชมรัฐบาลกัมพูชาที่พยายามจะหันไปใช้พลังงานแสงอาทิตย์และยังไม่ค่อยอยากสร้างเขื่อนใหม่ในแม่น้ำโขง แต่รัฐบาลกัมพูชาก็ยังตวรเร่งหาแหล่งอาหารอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการเกษตรอย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบัน
อายเลอร์ประเมินว่า กัมพูชามีการเตรียมตัวรับมือกับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นกับความมั่นคงทางอาหารต่ำ ปัญหาที่เกิดขึ้นบริเวณโตนเลสาบอาจส่งผลให้มีคนจำนวนมากอพยพออกจากกัมพูชาไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ถือเป็นเรื่องท้าทายรัฐบาลกัมพูชาในการรักษาเสถียรภาพภายในประเทศไว้ให้ได้
นอกจากนี้ เบเรสฟอร์ดคาดว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นน่าจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของแรงงานและผลผลิตต่างๆ โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและก่อสร้าง แต่รัฐบาลกัมพูชาก็ประกาศใช้แผนรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 10 ปีไปเมื่อปี 2013 พร้อมทุ่มงบประมาณเกือบ 200 ล้านดอลลาร์ เพื่อมาจัดการเรื่องชลประทาน ถนนที่สามารถยืดหยุ่นไปตามสภาพภูมิอากาศ เกษตรกรรม การเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขอนามัย
อย่างไรก็ตาม ซุน มาลา นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่เคยถูกจับกุมเพราะประท้วงต้านการขุดทราย ตั้งคำถามกับความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะนักการเมืองและนักธุรกิจที่มีเครือข่ายกับนักการเมืองก็มักจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายสิ่งแวดล้อมเช่น การขุดทรายหรือการตัดไม้ทำลายป่าโดยผิดกฎหมาย โดยมาลากล่าวว่า ไม่สามารถคาดหวังให้รัฐบาลกัมพูชาจะหยุดยั้งการทำลายป่าหรือการทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะคนที่มีอำนาจได้ประโยชน์จากการผลาญทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้
การขุดทรายในแม่น้ำไปขายถือเป็นธุรกิจใหญ่ในกัมพูชา ซึ่งการขุดทรายไปขายส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสิ่งแวดล้อม และแม้จะไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเพราะความไม่โปร่งใสของธุรกิจนี้ แต่สถิติส่วนใหญ่ระบุว่า กัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกทรายรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยปี 2015 กัมพูชาเป็นผู้ส่งออกทรายอันดับ 7 ของโลก สร้างรายได้ให้ประเทศมากกว่า 53 ล้านดอลลาร์ และกัมพูชายังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีธุรกิจส่งออกทรายเติบโตเร็วที่สุดในโลก นับตั้งแต่ปี 2014 คิดเป็น 4,620 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ มาลายังกล่าวว่า รัฐบาลยังไม่มีแผนที่มีประสิทธิภาพพอในการสร้างงานทดแทนหรือแหล่งอาหารที่สูญเสียไปด้วย เมื่อไม่สามารถจับปลาหรือทำการเกษตรในแม่น้ำได้อีก รัฐบาลเพียงเสนอให้ไปทำฟาร์มไก่หรือฟาร์มหมู ซึ่งคนจนจำนวนมากไม่สามารถทำฟาร์มได้
ขณะเดียวกัน ชุมนุมที่มีบ้านลอยอยู่ในโตนเลสาบก็พึ่งพาการจับสัตว์น้ำในการดำรงชีวิตและหาเลี้ยงชีพ หลายคนเป็นคนกลุ่มน้อยเชื้อสายเวียดนามที่เพิ่งถูกรัฐบาลเพิกถอนเอกสารไปเมื่อปี 2017 ทำให้พวกเขากลายเป็นคนไร้รัฐและไม่สามารถครอบครองที่ดินในกัมพูชาได้
“เมา” หนึ่งในคนที่อาศัยในหมู่บ้านลอยน้ำในจังหวัดกำปงชนังกล่าวว่า หมู่บ้านลอยน้ำก็เหมือนชุมชนอื่นที่มีคนทำอาชีพหลากหลายอย่างช่างซ่อมเครื่องใช้หรือเป็นเจ้าของร้านค้า แต่ส่วนใหญ่ก็ยังพึ่งพาการทำประมง ไม่ว่าน้ำจะขึ้นหรือลง พวกเขาก็ยังจับปลากันต่อไป แต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ระดับน้ำต่ำมากผิดปกติ และฝนก็ตกช้ากว่าทุกปี ช่วงที่น้ำขึ้นก็ยังขึ้นไม่สูงเท่าปีก่อน จากปกติที่น้ำเคยขึ้นไปเต็มตลิ่ง ซึ่งสูงกว่าปัจจุบันประมาณ 5 เมตร
มาลาแสดงความกังวลว่า ในอนาคต น้ำในโตนเลสาบจะแล้งจนคนอดตาย แต่เขาก็พยายามจะคิดบวก และฝากความหวังไว้กับคนรุ่นใหม่ที่เริ่มหันมาใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น แม้จะเป็นเรื่องที่จินตนาการได้ยาก แต่เขาก็หวังว่า การเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจะช่วยหยุดยั้งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติได้
ที่มา : Al Jazeera, The ASEAN Post