ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มทุนต่างชาติหลั่งไหลมายังลุ่มแม่น้ำโขงอย่างไม่ขาดสาย หลังโครงการก่อสร้างเขื่อนพลังงานน้ำกว่า 20 แห่งในแม่น้ำโขงตอนล่างได้ถูกกำหนดขึ้น ทำให้เกิดคำถามว่า องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นจะสามารถกำกับดูแลแม่น้ำโขงได้จริงหรือ?

ทุนไทยและทุนจีน ไปทำอะไรในแม่น้ำโขง

จากรายงานขององค์กรแม่น้ำสากลพบว่า สปป.ลาวและประเทศกัมพูชา ได้ให้สัมปทานแก่ทุนข้ามชาติจากจีนและไทยมากที่สุด เพื่อดำเนินการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำในแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งอยู่ในความดูแลของทั้งสองประเทศ โดยทุนไทยที่มีส่วนในการก่อสร้างเขื่อนมีทั้งหมด 6 แห่ง และทุนจากจีนอีก 4 แห่ง

ทุนไทยที่เข้าไปลงทุนในแม่น้ำโขง มีทั้งบทบาทของการเป็นผู้ก่อสร้างและผู้ผลิตและผู้ซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนในแม่น้ำโขง โดยในการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุลี ในแขวงไซยะบุลี สปป.ลาว มีทุนไทยเข้าไปร่วมลงทุนในการก่อสร้างทั้งหมด 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท ช.การช่าง บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO กลุ่มบริษัท ปตท. และ บริษัททางด่วนกรุงเทพและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับรัฐบาลลาว โดยจดทะเบียนในชื่อของบริษัทไซยะบุลีพาวเว่อร์ จำกัด โดยมีแหล่งเงินทุนในการก่อสร้างจากธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทิสโก้ และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนเจรจากับทางรัฐบาลลาวในการลงทุนโครงการเขื่อนในแม่น้ำโขงอีกหนึ่งแห่ง ในวงเงินลงทุนกว่า 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ข้อตกลงภายในกลางปี 2561 นี้

เขื่อนไซยะบุรี.jpg

เขื่อนไซยะบุลี ในแขวงไซยะบุลี สปป.ลาว กำลังก่อสร้างไปแล้วกว่า 80% โดยบริษัท ช.การช่าง

นอกจากนี้ยังมีบริษัท Italian-thai Development จำกัด ที่ได้เซ็นสัญญากับทางรัฐบาลลาวในปี 2551 เพื่อพัฒนาและสำรวจการก่อสร้างเขื่อนบ้านคุ่้ม ในแขวงจำปาสัก สปป.ลาว และบริษัท Charoen Energy and Water Asia จำกัด (CP Group) ที่ได้เซ็นสัญญาลงนามกับรัฐบาลลาวในการสำรวจการก่อเขื่อนพูงอย แขวงจำปาสัก สปป.ลาวเมื่อปี 2551 เช่นกัน

ขณะที่ทุนจากจีนก็ได้รับสัมปทานโครงการก่อสร้างเขื่อนต่างๆ ทั่วทั้ง สปป.ลาว ได้แก่ เขื่อนปากแบง ซึ่งเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดใหญ่ในแขวงอุดมไซ สปป.ลาว เขื่อนสานะคาม แขวงเวียงจัน สปป.ลาว เขื่อนปากลาย แขวงไซยะบุลี สปป.ลาว เขื่อนดอนสะโฮง แขวงจำปาสัก สปป.ลาวและเขื่อนสามบ่อ ในกัมพูชา โดยกลุ่มทุนจาก 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท Power China Resources บริษัท Datang International Power Generation บริษัท Hydrolancang บริษัท Sino-Hydro Power china จำกัด ซึ่งทั้ง 4 บริษัทนี้เป็นบริษัทด้านพลังงานขนาดใหญ่ของจีน มีการลงทุนด้านพลังงานทั่วโลกรวมทั้งในจีนเองก็ตาม

ปัจจุบัน บริษัทต้าถังฯ (Datang International Power Generation) กำลังเก็บรวมรวมข้อมูลเพิ่มเติมในโครงการเขื่อนปากแบงเพื่อเสนอให้รัฐบาลลาวและคณะกรรมาธิการลุ่มแม่น้ำโขง หรือ MRC พิจารณาอนุมัติการก่อสร้างต่อไป ซึ่งคาดว่าน่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2561 นี้ ขณะที่บริษัท Sinohydro Power china จำกัด กำลังดำเนินการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ซึ่งมีความคืบหน้าไปแล้ววกว่า30 %

นอกจากทุนไทยและทุนจากจีนแล้ว ยังมีทุนจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและมาเลเซีย เข้ามามีส่วนร่วมในการก่อสร้างเขื่อนด้วย โดยทุนจากเวียดนาม บริษัท ปิโตร เวียดนาม พาวเว่อร์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ได้รับสัมปทานในการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบาง แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว ซึ่งจะผลิตไฟฟ้าและส่งกลับไปใช้ภายในเวียดนาม ขฯที่ทุนจากมาเลเซีย บริษัท Mega First Corporation Berhad ได้สัมปทานในการดูแลการผลิตไฟฟ้าเขื่อนดอนสะโฮง แขวงจำปาสัก สปป.ลาว

ความร่วมมือภาครัฐบนแม่น้ำโขง

นอกจากทุนภาคเอกชนที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ในแม่น้ำโขง หน่วยงานภาครัฐของประเทศริมฝั่งแม่น้ำโขงก็ได้มีการร่วมมือกันเพื่อกำกับและดูแลแม่น้ำโขงที่เป็นแม่น้ำนานาชาติของประชาชนกว่า 30 ล้านชีวิต คือ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission) หรือ MRC ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือจากประเทศสมาชิกทั้ง 4 ประเทศ ได้แก่ ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม เพ่ือคอยกำกับดูแลแม่น้ำโขง

MRC มีจุดเริ่มต้นจากความร่วมมือของประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ได้แก่ ไทย ลาว และเวียดนาม ใน พ.ศ.2500 และเปลี่ยนสถานภาพมาเป็น 'คณะกรรมการชั่วคราว' ในปี พ.ศ. 2521 เพื่อทำหน้าที่ประสานงานการสำรวจลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง จนกระทั่งทั้งสี่ประเทศซึ่งใช้ประโยชน์ลุ่มน้ำโขงตอนล่างร่วมกันลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการร่วมมือ การพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง แบบยั่งยืน และกลายเป็นการก่อตั้ง MRC อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2538 เพื่อทำหน้าที่ประสานงานการสำรวจลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างร่วมกัน 

ที่ผ่านมา MRC เป็นหน่วยงานหลักในการศึกษาผลกระทบในการก่อสร้างเขื่อนและจัดทำกระบวนการปรึกษาหารือของกลุ่มผู้ลงทุนและผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อน (PNCA) โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้จัดทำกระบวนการ PNCA ของเขื่อนปากแบง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ผู้ลงทุนในการพัฒนาเขื่อนต้องจัดทำให้ประเทศสมาชิกรับทราบถึงผลกระทบและข้อศึกษาของโครงการทั้งหมดก่อนจะมีการอนุมัติในการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงในขั้นตอนต่อไป

อย่างไรก็ตาม MRC ถูกตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนว่า มีประสิทธิผลมากน้อยแค่ไหนในการกำกับและดูแลแม่น้ำโขง เพราะที่ผ่านมาการก่อสร้างเขื่อนอย่างเขื่อนไซยะบุลีที่มีการก่อสร้างก่อนที่จะมีมติของคณะกรรมาธิการร่วมทั้ง 4 ประเทศออกมา (ข่าวย้อนหลัง) และเขื่อนดอนสะโฮงที่มีผลกระทบกับประชาชนและระบบนิเวศบริเวณ 'ฮูสะโฮง' ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและแหล่งจับปลาของประชาชนในเมืองโขง แขวงจำปาสัก ก็ได้มีการดำเนินการก่อสร้างขึ้นในปี 2559 ปัจจุบันประชาชนกว่าหลายหมื่นคนทั้งในสปป.ลาว และกัมพูชาต่างได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างนี้

กรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (Lancang-Mekong Cooperation)

เมื่อปี 2557 นายกรัฐมนตรีของจีน นายหลี่ เคอเฉียงได้เสนอ กรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง ขึ้น และมีการจัดตั้งอย่างเป็นทางการเมืองปี 2559 โดยมีสมาชิกเป็นประเทศลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมด ได้แก่ จีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชาและเวียดนาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการเมืองและความมั่นคง การส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมไปถึงการส่งเสริมยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน และยุทธศาสตร์ของประชาคมอาเซียน

ที่ผ่านมา ภายใต้กรอบความร่วมนี้ ได้มีการอนุมัติโครงการ 132 โครงการของประเทศสมาชิก 5 ประเทศที่อยู่ ภายใต้การสนับสนุนเงินทุนจากจีนในกองทุนพิเศษ (MLC Special Fund) และ 2 ใน 3 เป็นโครงการที่กู้ยืมเงินเพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมของประเทศสมาชิก และไทยได้รับอนุมัติจำนวน 5 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการด้านเศรษฐกิจการค้าและการจัดการทรัพยากรน้ำภายใต้งบประมาณกองทุน MLC เช่นกัน

000_W7136.jpg
การประชุมกรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง ครั้งที่ 2 ที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา ระหว่างวันที่ 10-11 มกราคม 2561

ส่วนความคืบหน้าล่าสุด พบว่า ตัวแทนบริษัทต้าถังฯ ของจีน พร้อมด้วยตัวแทนของรัฐบาลลาว ได้เข้าพบเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ที่อำเภอเชียงของ จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา โดยเครือข่ายชาวบ้านได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า การพูดคุยอย่างเป็นทางการครั้งแรกยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน และไม่ได้เป็นการยืนยันว่าชาวบ้านเห็นชอบโครงการก่อสร้างเขื่อนปากแบงในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ช่วง สปป.ลาว แต่อย่างใด

เครือข่ายประชาชนยังได้สะท้อนความกังวลให้ตัวแทนบริษัทต้าถังและสปป.ลาว ได้เข้าใจด้วยว่า ชาวบ้านต้องการให้่มีการศึกษาและการชี้แจงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการก่อสร้างต่างๆ อย่างละเอียด เพราะตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ชาวบ้านใน จ.เชียงรายที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำโขงได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนทางตอนบนของจีนมาโดยตลอด เพราะการปล่อยกระแสน้ำตามการกำหนดของจีนได้สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านต้องการข้อมูลความรู้ที่ทันสมัยมาประกอบการตัดสินใจในกรณีเขื่อนปากแบง เพื่อพิจารณาว่าจะจัดการทรัพยากรในภูมิภาคอย่างไรโดยไม่กระทบต่อชุมชน และที่ผ่านมาพบว่าข้อมูลการศึกษาที่ใช้อ้างอิงในกรณีเขื่อนปากแบงเป็นข้อมูลเก่าที่บางชิ้นเก่ากว่า 15 ปี จึงไม่เพียงพอที่จะตัดสินใจใดๆ

ปัจจุบัน เม็ดเงินการลงทุนจากทุนข้ามชาติกำลังหลั่งไหลเข้ามาในแม่น้ำสายนี้อย่างไม่ขาดสาย และองค์ความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกแม่น้ำโขงที่ถูกจัดตั้งขึ้นจะสามารถกำกับดูแลการพัฒนาแม่น้ำแห่งนี้โดยให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุดได้มากน้อยแค่ไหน ดูจะยังไม่สามารถหาคำตอบได้แน่ชัด เรื่องของแม่น้ำสายนี้ยังเป็นประเด็นที่ให้เราต้องจับตามองและติดตากันต่อในระยะยาว เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวของประชาชนทุกคนในอนุภูมิภาคนี้

พวงพรรณ ภู่ขำ
25Article
0Video
0Blog