ไม่พบผลการค้นหา
ม.โคเปนเฮเกนพัฒนาโปรแกรมเอไอคำนวณประวัติผู้ป่วยเพื่อหาความเสี่ยงในการเสียชีวิต-ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หวังเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยแพทย์-พยาบาลในการทำงาน

จากข้อมูลทางการแพทย์ทั่วไป อาทิ ดัชนีมวลกาย (BMI), เพศ, ส่วนสูง, ความดันโลหิต และประวัติโรคประจำตัว ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอสามารถตอบคำถามได้ว่าผู้ป่วยรายนั้นมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มาก/น้อยเพียงใด ด้วยระดับความแม่นยำถึง 90%

งานวิจัยจากมหาวิยาลัยโคเปนเฮเกน ใช้ข้อมูลสุขภาพของประชากรเดนมาร์กทั้งสิ้น 3,944 คนฝึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้ประมวลผลเพื่อหาคำตอบว่า หากประชากรที่ยังไม่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 ให้บังเอิญติดเชื้อขึ้นมา พวกเขามีความเสี่ยงในการเสียชีวิตมากน้อยแค่ไหนด้วยอัตราความถูกต้องสูงถึง 90%

เท่านั้นยังไม่พอ โปรแกรมเอไอดังกล่าวยังสามารถประเมินได้ด้วยว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้วรายไหนบ้างมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเร่งด่วนด้วยอัตราความถูกต้องสูงถึง 80% 

โดยข้อมูลจากผู้ป่วยทั้ง 3,944 รายนั้น แบ่งย่อยเป็นกลุ่มที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 1,359 ราย (34.5%), กลุ่มผู้ป่วยหนักที่ต้องเข้ารักษาตัวในห้องไอซียู 181 ราย (4.6%) และลุ่มผู้เสียชีวิตอีก 324 ราย (8.2%)

ศ.แมดส์ นีลเซ็น จากคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ ระบุว่า งานวิจัยดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือโรงพยาบาลในการจัดสรรเครื่องช่วยหายใจที่อาจมีไม่เพียงพอให้กับผู้ป่วยที่ต้องการใช้มากที่สุด อีกทั้ง ข้อค้นพบใหม่นี้ยังสามารถเข้ามาช่วยบริหารจัดการการแจกจ่ายวัคซีนให้กับประชากรที่มีความเสี่ยงสูงก่อนเช่นเดียวกัน 

งานศึกษาพบว่า "ผู้ชายที่มีระดับความดันโลหิตสูงหรือมีประวัติการเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท" คือกลุ่มที่มีความเสี่ยงเสียชีวิตหรือต้องใช้เครื่องช่วยหายใจมากที่สุด ทั้งนี้ การมีประวัติโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ อาทิ โรคหอบหืด (asthma) หรือ โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) รวมไปถึงโรคไม่ติดต่ออย่างโรคเบาหวานและโรคหัวใจล้วนนับเป็นความเสี่ยงสำคัญทั้งสิ้น 

เครื่องช่วยหายใจ โควิด-19.jpg

ศ.แมดส์ ชี้ให้เห็นว่า โปรแกรมอัจฉริยะดังกล่าวมีความสำคัญอย่างมากในการบริหารจัดการเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วย โดยทีมวิจัยวางแผนในการพัฒนาโปรแกรมดังกล่าวให้สามารถประเมินความต้องการใช้เครื่องช่วยหายใจ 5 วันล่วงหน้า ด้วยการป้อนข้อมูลของผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งหมดที่มีเข้าไป 

ทั้งนี้ การวิจัยดังกล่าวได้รับการอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยทั้งยังมีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลคนไข้อย่างดีจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลเดนมาร์ก

อ้างอิง; Nature, University of Copenhagen