วันที่ 3 พ.ค. 2566 ศาลปกครองกลางได้นัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด กรณีที่สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวที่ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับมติหรือคำสั่งของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ถอดถอน ผศ.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ ออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง
รายงานระบุว่า ก่อนหน้านี้สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้มีมติและคำสั่งถอดถอน ผศ.สืบพงษ์ ออกจากตำแหน่งอธิการบดี เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2565 ด้วยพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหา 3 ข้อหา คือ 1.ปกปิดข้อมูลการรับโอนทรัพย์สิน และที่ดินจากนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ภายหลังจากที่นายสุพจน์ ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ ซี่งต่อมา ศาลฎีกาได้พิพากษายึดทรัพย์สินดังกล่าวที่นายสุพจน์โอนให้ ผศ.สืบพงษ์ตกเป็นของแผ่นดิน, 2.ผศ.สืบพงษ์ ใช้วุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอกที่ไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เข้าสมัครเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยในตำแหน่งอาจารย์ สังกัดคณะศึกษาศาสตร์ และได้ใช้วุฒิดังกล่าวในการสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดี และ 3.ผศ.สืบพงษ์ ได้ทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาฯด้วยข้อความอันเป็นเท็จหลายประการ
ภายหลังการถอดถอน ผศ.สืบพงษ์ได้ฟ้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนมติ และคำสั่งการถอดถอนออกจากตำแหน่ง พร้อมทั้งได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งทุเลาการบังคับตามมติ และคำสั่งของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งต่อมาศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งทุเลาหรือคุ้มครองชั่วคราว ผศ.สืบพงษ์ เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2566 จนนำไปสู่การอุทธรณ์ของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้ระงับการสั่งคุ้มครองดังกล่าว
ในคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ตามคำร้องที่ 280/2566 และคำสั่งที่ 744/2566 ลงวันที่ 27 เม.ย.66 ซึ่งศาลปกครองกลางได้อ่านคำสั่งในวันนี้ (3 พ.ค.66) นั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางที่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ผศ.สืบพงษ์ ในการดำรงตำแหน่งอธิการบดี โดยศาลปกครองสูงสุด ได้วินิจฉัยว่า มูลกรณีที่นำไปสู่การถอดถอน ผศ.สืบพงษ์ มาจาก 3 พฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า สภามหาวิทยาลัยรามคำแหงไม่มีปัญหาความไม่ชอบด้วยกฎหมายในการถอดถอน ผศ.สืบพงษ์ ออกจากตำแหน่งอธิการบดีแต่อย่างใด เนื่องจากแม้จะมีการดำเนินการถอดถอนกรณีใดกรณีหนึ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ไม่ได้มีผลทำให้ขั้นตอนในการดำเนินการของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงในส่วนที่ชอบด้วยกฎหมายเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับคุณวุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอกที่ไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงาน ก.พ. ดังนั้น ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น โดยไม่คุ้มครองชั่วคราว ผศ.สืบพงษ์ อันมีผลทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งอธิการบดีทันที
ทั้งนี้เอกสารข่าวของศาลปกครองสูงสุดตอนหนึ่งระบุว่า “ส่วนกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง) อ้างเหตุถอดถอนว่า ผู้ฟ้องคดีมีพฤติการณ์ให้ความช่วยเหลือแก่นาย ส. ซึ่งถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ โดยการรับโอนที่ดินจากนาย ส. จำนวน 2 แปลง และ
กล่าวอ้างว่า เงินของนาย ส. ที่ถูกยืดเป็นของกลางส่วนหนึ่ง จำนวน 4.5 ล้านบาท เป็นเงิน
ของผู้ฟ้องคดี และเมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องผู้ฟ้องคดีจนกระทั่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ที่ดิน และเงินที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างตกเป็นของแผ่นดิน ผู้ฟ้องคดีก็ไม่ได้รายงานให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงซึ่งเป็นตันสังกัดทราบ การกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นการประพฤติผิดจรรยาบรรณของผู้บริหารตามที่กฎหมายกำหนดและกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อ้างเหตุถอดถอนว่า ผู้ฟ้องคดียื่นหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายฎีการ้องทุกข์ โดยบิดเบือนข้อเท็จจริง เป็นการกระทำที่ขาดไร้จริยธรรม และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่จำต้องพิจารณาว่าการดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ก่อนมีมติถอดถอนผู้ฟ้องคดีในทั้ง 2 กรณีดังกล่าวมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะไม่มีผลทำให้ขั้นตอนในการดำเนินการของผู้ถูกฟัองคดีที่ 1 ก่อนที่จะมีมติถอดถอนผู้ฟ้องคดีออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงด้วยเหตุพฤติการณ์การกระทำของผู้ฟ้องคดีในกรณีที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ฟ้องคดีเปลี่ยนแปลงไป ในชั้นนี้จึงยังฟังไม่ได้ว่า มติและดำสั่งที่ถอดถอนผู้ฟ้องคดีออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และที่แต่งตั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่ครบองค์ประกอบตามกฎหมายที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติและคำสั่งดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดีได้
อย่างไรก็ตาม กรณีที่ ผศ.สืบพงษ์ นำวุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอกที่ไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงาน ก.พ. มาสมัครเป็นอาจารย์ และสมัครเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงนั้น เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องคุณสมบัติส่วนตนของผู้สมัครที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขตั้งแต่แรกที่เข้ามาเป็นอาจารย์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงจึงได้มีหนังสือบอกเลิกจ้างไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. 2565 อันมีผลเป็นการบอกล้างประสบการณ์การสอนและการบริหารตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 และสภามหาวิทยาลัยก็ได้เคยมีมติไม่ให้ ผศ.สืบพงษ์ กลับมาปฏิบัติหน้าที่อธิการบดี
หากแต่ ผศ.สืบพงษ์ ไม่ได้ปฏิบัติตามมติสภามหาวิทยาลัยแต่อย่างใด จนนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลแพ่งจังหวัดสมุทรปราการ อันเป็นภูมิลำเนาของ ผศ.สืบพงษ์ ด้วยข้อหาบุกรุกและละเมิด จนศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้ ผศ.สืบพงษ์ พร้อมบริวารหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้ขนข้าวของหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ออกจากห้องทำงาน
ผศ.บุญชาล ทองประยูร ผู้อำนวยการสถาบันนานาชาติ กรรมการสภามหาวิทยาลัย รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้สัมภาษณ์ว่า คำสั่งศาลปกครองสูงสุดในวันนี้จะทำให้เรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอำนาจอันชอบด้วยกฎหมายยุติลง ต่อไปนี้คงไม่มีใครถามอีกว่า ใครเป็นอธิการบดีตัวจริง ที่ผ่านมาเกิดปัญหาความสับสนมาก จนทำให้เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงาน และมีบุคลากรจำนวนหนึ่งที่ฝ่าฝืนมติสภามหาวิทยาลัย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยคงต้องพิจารณาตามความเหมาะสมในแต่ละกรณีต่อไป