วันที่ 8 พ.ย. 2565 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการถอน มติคณะรัฐมนตรีที่อนุญาตให้คนต่างชาติซื้อที่ดินในประเทศไทยได้ แลกกับการลงทุนในไทย 40 ล้านบาท ว่า หากวันนี้ ครม.มีมติถอนเรื่อง ก็ต้องนำกลับไปแก้ไขและนำกลับเข้ามาสู่ที่ประชุมใหม่อย่างน้อย 15 วัน แต่จะนำกลับมาหรือไม่กลับมาก็ได้ ซึ่งหากถอนร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ ก็จะเหลือเพียงกฎหมายของปี 2545 ที่มองว่ารุนแรงมากกว่า
วิษณุ ยอมรับว่า สาเหตุที่ถอนกฎหมายฉบับนี้ออก มีหลายเหตุผลประกอบกันรวมถึงเหตุผลเรื่องการเมืองด้วย โดยเฉพาะที่ทุกคนรุมด่าเรื่องขายชาติ จึงจะต้องถอนกลับไปทำความเข้าใจ พร้อมยังตำหนิรัฐบาลและตนเองที่ไม่ได้ชี้แจงกฎหมายฉบับนี้ ให้มีความชัดเจน ประกอบกับร่างกฎกระทรวงเรื่องที่ดินออกใกล้เคียงกับร่างกฎกระทรวงเรื่องของการขายและผลิตสุรา ทำให้อารมณ์คนมันทะยานขึ้นไป จึงต้องนำกลับไปแก้ไขและรับฟังความคิดเห็น ซึ่งตนก็เห็นด้วยกับสิ่งที่ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ หลายข้อเป็นเรื่องที่ถูกต้อง
วิษณุ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การที่คนต่างชาติจะได้ครอบครองที่ดินในประเทศไทย ปัจจุบันมันมีอยู่หลายวิธี 1.เช่า 2. เช่าตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม เป็นเวลา 90 ปี 3. เป็นการคอนโดมิเนียม 49% ของตึก 4. ได้มาตามสนธิสัญญาของคนต่างชาติ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีคนต่างชาติที่ได้ครอบครองที่ดินในไทยมากมาย
ส่วนกฎกระทรวงปี 2545 ที่มีการบังคับใช้มา จากวันนั้นถึงวันนี้ 20 ปีพอดี มีคนต่างด้าวที่มาซื้อที่ดินในไทย 10 ราย และได้สัญชาติไทย 2 ราย และที่เหลือ 8 คน ไม่มีใครซื้อถึงไร่สักคน จำนวนคือประมาณ 100-200 ตารางวาเท่านั้น เพราะเห็นว่ากฎกระทรวงฉบับนี้เป็นภาระยุ่งยาก สู้ซื้อโดยใช้นอมินีไม่ได้ เพราะซื้อได้ถึง 100 ไร่ จึงมักใช้วิธีการซื้อผ่านนอมินีมากกว่า นอกจากนี้ยังมีการใช้วิธีการจัดตั้งบริษัทที่ชาวต่างชาติถือหุ้น 49% และคนไทยถือหุ้น 49% ส่วนอีก 2% หาใครมาอุดช่องว่าง ก็จะถือว่าไม่ใช่บริษัทที่เป็นของต่างชาติและนำไปซื้อที่ดินได้เช่นกัน
ทั้งหมดนี้ จึงเป็นเหตุผลที่กระทรวงมหาดไทยพิจารณาและว่าจะต้องมีการแก้ไขกฎกระทรวงปี 2545 เนื่องจากการซื้อขายที่ดินในไทยจะต้องไม่ใช่ชาวต่างด้าวทุกคนที่ซื้อได้ ไม่ใช่เสื่อผืนหมอนใบก็ซื้อได้ แต่ต้องซื้อภายใต้คน 4 ประเภทนี้ 1.คนต่างชาติที่มีฐานะดี 2.คนต่างชาติที่เกษียณอายุ และต้องการใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ในประเทศไทย 3. เป็นผู้ที่มีทักษะสูง 4.คนที่ลงทุนในประเทศไทยจำนวนมากกว่า 40 ล้านบาท
ส่วนระยะเวลาของปี 2545 ต้องเอาเงินมาลงทุนและถือครองไว้ประมาณ 5 ปี โดยที่ถอนออกไม่ได้ แต่กฎหมายฉบับนี้ลดเหลือเพียง 3 ปี เนื่องจากการวิจัยพบว่า มันไม่ดึงดูดความสนใจและเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกินไป แต่หลังจากการแก้ไขอาจจะกลับมาเป็น 5 ปีตามเดิมก็ได้
ยันรักษาการนายกฯ มีอำนาจเต็มโยกย้าย ตร.ได้
วิษณุ ให้สัมภาษณ์กรณี ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอน ประกาศสำนักนายกฯ เกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ (กตร.) ตามมติของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธาน
โดย วิษณุ กล่าวว่า ตนไม่รู้ว่าเขาฟ้องร้องกันว่าอย่างไร แต่ทราบโดยย่อว่ามีเจ้าหน้าที่มารายงานตอนที่ พล.อ ประวิตร ในฐานะรักษาราชการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร. )มีการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจ และมีนายตำรวจบางท่านที่ถูกโยกย้าย ท่านเห็นว่าคนที่จะมานั่งเป็นประธาน ก.ตร. ต้องเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ พล.อ.ประวิตร เป็นผู้ปฏิวัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี
“คำตอบมีอยู่ว่าการปฏิบัติราชการแทนนายกฯ คือนายกฯอยู่และมอบให้คนนั้นดูแล ซึ่งคนนั้นจะทำหน้าที่แทนใน ก.ตร. ไม่ได้ แต่หาก นายกฯ ไม่อยู่ ตาย ลาออก หรือไปต่างประเทศ ก็มีคนขึ้นมา อันนั้นไม่ใช่ปฏิบัติราชการแทน เป็นการรักษาราชการแทน เป็นนายกฯ ปรับ ครม. ยังได้เลย และนับประสาอะไรจะไปเป็นประธาน ก.ตร.ไม่ได้ เพราะฉะนั้น วันนั้นเป็นการใช้อำนาจคนละอย่างกัน และวันนี้ สมมติว่านายกฯยังอยู่ แล้วนายกฯประชุม ก.ตร. นายกฯ ขี้เกียจไป แล้วมอบหมายให้พลเอกประวิตร ถือว่าไม่ได้ แต่ถ้านายกฯไปต่างประเทศ และจำเป็นต้องประชุม กตร. วันนั้นใครที่รักษาราชการแทนนายกฯ เป็นนายกฯตัวจริง ผมบอกแล้วว่าขนาดปรับ ครม. ยุบสภา ยังได้เลย”
เมื่อถามว่า จากความเห็นของรัฐบาล แสดงว่าเรื่องนี้สามารถยื่นอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุดได้ใช่หรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้วิตกอะไร ซึ่งเรื่องนี้มีเจ้าหน้าที่ที่จะเตรียมอุทธรณ์อยู่แล้วภายใน 30 วัน และยืนยันว่าพลเอกประวิตรในขณะนั้นมีอำนาจเต็ม ถ้าเขาฟ้องในประเด็นดังกล่าว
เมื่อถามว่าศาลปกครอง ระบุว่า ภายหลัง ครม. ได้มาแก้ไขคำสั่งในวันที่ 30 กันยายน ให้พลเอกประวิตรมีอำนาจเต็ม ถือว่าไม่ถูกต้อง วิษณุ กล่าวว่า มีคำอธิบายว่าการแต่งตั้งในภายหลังเป็นคนละเรื่องกัน เป็นการมาแก้มติ ครม. สำหรับอำนาจของผู้ปฏิบัติราชการแทนนายกฯ เดิมการปฏิบัติราชการแทนนายกฯ เขาให้ทำแทนได้หมด ยกเว้นการบริหารงานบุคคลและงบประมาณ คราวนี้ เขาก็มายกเว้นไม่ให้ แต่ไม่ได้นำไปใช้กับกรณี ก.ตร. เขาใช้สำหรับเรื่องอื่น