นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า หลังจากที่มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีเสียงยี้ดังกันไปทั่ว และ ครม. เศรษฐกิจได้เริ่มเสนอนโยบายเศรษฐกิจแล้ว ซึ่งเกรงว่าอาจจะเพิ่มปัญหาทางเศรษฐกิจให้กับประเทศมากกว่าจะแก้ไขปัญหา อย่างเช่น นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เสนอให้ลดภาษีบุคคลธรรมดาให้ลงมาใกล้เคียงกับภาษีนิติบุคคล ซึ่งโดยหลักการแล้วควรเป็นเช่นนั้น หากว่าประเทศไทยจะมีการกระจายรายได้ที่ดีพอ ซึ่งก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น
ดังนั้น จึงอยากให้นายอุตตมได้ไปศึกษาโครงสร้างผู้เสียภาษีบุคคลธรรมดาให้ดีก่อนที่จะเสนอแนวคิด และอยากถามว่านายอุตตมมีวัตถุประสงค์เช่นไรในการจะลดภาษีบุคคลธรรมดา เพราะการลดภาษีบุคคลธรรมดาเพื่อคาดหวังว่าคนที่ได้ประโยชน์เพียงแค่ 2 แสนกว่าคนเท่านั้น จะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งไม่น่าจะใช่เพราะคนรวยจะเก็บมากกว่าจะจับจ่ายใช้สอย แต่ประเทศจะขาดรายได้จากภาษีบุคคลธรรมดาไปเป็นจำนวนมาก และจะยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำที่ประเทศไทยมีปัญหามากอยู่แล้ว
อีกทั้งรัฐบาลนี้มีนโยบายที่ต้องใช้เงินกับการจะลดแลกแจกแถมในโครงการประชารัฐอีกมาก จะหาเงินมาจากไหน ที่ผ่านมา 5 ปีก็ก่อหนี้แล้วกว่า 2 ล้านล้านบาท แต่เศรษฐกิจกลับยิ่งย่ำแย่ รัฐบาลจะลดทั้งภาษีที่เป็นรายได้ของรัฐ แต่จะเพิ่มค่าใช้จ่ายของรัฐแล้วจะเอาเงินจากที่ไหน จะกลายเป็นการกู้มาเพื่อนำมาแจก ซึ่งจะสร้างปัญหามากขึ้น ไม่อยากให้ ประชาชนคิดว่านายอุตตมต้องการออกนโยบายนี้ เพียงเพื่อจะกลบกระแสข่าวทางลบเรื่องเงินกู้กรุงไทย โดยไม่ได้ศึกษาข้อมูลให้ดีก่อน ทั้งนี้ รัฐบาลที่ดีควรจะต้องแก้ความเหลื่อมล้ำพร้อมทั้งขยายฐานรายได้ของผู้เสียภาษีบุคคลธรรมดาก่อนที่จะคิดลดภาษี
นอกจากนี้ นโยบายที่พรรค พปชร. หาเสียงค่าแรงขั้นต่ำที่ 400-425 บาท ซึ่งได้เคยทักท้วงไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งนี้ค่าแรงขึ้นต่ำควรจะต้องขึ้น และควรจะต้องทยอยขึ้นทุกปีตามอัตราเงินเฟ้อและการพัฒนาของประเทศ แต่ที่ผ่านมา 5 ปี รัฐบาลแทบไม่ยอมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเลยหรือขึ้นก็น้อยมาก อีกทั้งปัญหาทางการเมืองทำให้การลงทุนในประเทศไทยหดหายมาตลอด ขนาดคนไทยยังหันไปลงทุนต่างประเทศมากกว่าจะลงทุนในไทย การจะขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดด ทั้งที่การลงทุนในประเทศมีน้อยอยู่แล้ว จะยิ่งทำให้การลงทุนยิ่งหายไปอีก เศรษฐกิจจะยิ่งทรุด ธุรกิจจะเจ๊งกันมากโดยเฉพาะเอสเอ็มอี และแรงงานจะตกงานกันเพิ่มขึ้นอีกมาก
นายพิชัย กล่าวว่า อยากให้พิจารณาให้ดี ซึ่งจริงๆแล้วหากไม่ได้มีการปฏิวัติ และมีการลงทุนเป็นปกติทุกปี ค่าแรงก็จะค่อยๆทยอยปรับเพิ่มขึ้นทุกปี ป่านนี้ก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 400 บาทแล้ว อยากให้รัฐบาลได้พิจารณาแนวคิดของ นายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแห่งประเทศไทย ที่กังวลเช่นเดียวกันว่าการขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดดจะทำให้ การลงทุนหนีไปประเทศเพื่อนบ้านหมด และ จะทำให้ลูกจ้างตกงาน และจะทำให้สินค้าปรับราคาขึ้นตามค่าจ้าง ซึ่งลูกจ้างก็ไม่เห็นด้วย แต่ทั้งนี้ พปชร. ก็ยังยืนยันจะเดินหน้าหาเสียง ซึ่งจะไม่ทำก็อาจผิดคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนได้ นอกจากนี้ ยังอยากเห็นว่า รัฐบาลมีนโยบายจะเพิ่มราคาสินค้าเกษตรได้อย่างไร เพราะก่อนเลือกตั้ง พปชร. หาเสียงไว้ในเรื่องราคาสินค้าเกษตรในระดับราคาที่สูงมากเช่น ปาล์มกิโลละ 5 บาท ยางกิโลละ 65 บาท ข้าวตันละ 12,000 บาท อ้อยตันละ 1,000 บาท เป็นต้น ซึ่งหากทำจริงต้องใช้เงินอีกมหาศาล จะหาเงินมาจากไหน และ รัฐจะต้องใช้จ่ายเสียหายมากกว่าการจำนำข้าวมาก
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าประชาชนส่วนใหญ่เป็นห่วงกระทรวงเกษตรฯ นี้มาก เพราะ รมว. และ รมช. อีก 3 คน ต่างมีภาพลักษณ์ในแนวทางที่จะห้ามเกษตรกรโวยวายหรือประท้วงมากกว่าจะแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรให้เป็นผลอย่างจริงจัง
"อยากให้พลเอกประยุทธ์ได้ให้ความสนใจในนโยบายอย่างละเอียด เพราะจะส่งผลกระทบแก่ประชาชนและอนาคตของประเทศอย่างมาก อีกทั้งอยากให้พลเอกประยุทธ์ แทนที่จะแนะนำให้คนอ่านหนังสือ ตั้งแต่จินดามณีจนถึงแอนนิมอล ฟาร์ม ตัวพลเอกประยุทธ์เองต่างหากที่ควรจะต้องอ่านหนังสือทางด้านเศรษฐกิจมากๆ โดยเฉพาะหนังสือเศรษฐกิจสมัยใหม่จากต่างประเทศ เพื่อที่จะได้ตามโลกทัน และจะได้ไม่เสนอแนวคิดสวนกระแสโลกอีก" นายพิชัย กล่าว