ไม่พบผลการค้นหา
'นักวิจัยไทยในออสเตรเลีย' เผยเรื่องชีวิตแสนเข็ญหญิงไทยต่างแดนหลายชีวิตแสนเข็ญ สละสัญชาติไทยแต่งงานกับชาวไต้หวันแต่ทะเลาะกันก่อนกลายเป็นคนต่างด้าวของทุกรัฐมา 27 ปี ขณะที่แม่เฒ่าไทยแต่งงานกับชาวเยอรมันมา 50 ปี แต่ถูกห้ามทำพาสปอร์ตไทยต่อเพียงเพราะไม่ได้ต่อบัตรประชาชนทั้งๆ ที่ไม่เคยมีปัญหา นักวิชาการแนะข้าราชการทำงานเชิงรุก

เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2565 บงกช นภาอัมพร นักศึกษาปริญญาเอก คณะนิติศาสตร์ ม.เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลียซึ่งกำลังศึกษาประเด็นคนไทยไร้สัญชาติในต่างประเทศ เปิดเผยว่าขณะนี้มีคนไทยในต่างประเทศจำนวนไม่น้อยกำลังประสบความยากลำบากเพราะตกอยู่ในสุญญากาศของรัฐ จากคนไทยกลายเป็นคนไร้สัญชาติในขณะอยู่ต่างประเทศ และอีกหลายคนแม้จะยังมีสัญชาติไทยแต่ก็ไม่ได้รับคุ้มครองอย่างที่ควรจะเป็น

อย่างกรณีของสุดารัตน์ ไชยฝาง หญิงชาวมูเซอแดง วัย 45 ปี จากอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นอดีตคนสัญชาติไทยที่ปัจจุบันกลายเป็นคนไร้สัญชาติอยู่ที่ไต้หวัน

หญิงไทยในต่างแดน247183716205_8677833298958500747_n.jpeg

บงกชกล่าวว่าปี 2537 ตอนสุดารัตน์อายุได้ 17 ปีได้ถูกจับแต่งงานกับหนุ่มชาวไต้หวันที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน และต้องเดินทางมาอยู่ตัวคนเดียวในต่างแดนซึ่งต้องเรียนรู้โลกใหม่ที่ไม่รู้จัก แม้กระทั่งสามีตัวเอง ก็เพิ่งได้ทำความรู้จักกันเพียงแค่ 6 เดือนก่อนออกเดินทาง จากวันนั้นถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 27 ปีในไต้หวัน หลายอย่างในชีวิตเธอผิดพลาดไม่ได้เป็นดังที่ตั้งใจ

บงกชกล่าวว่า เมื่อปี 2545 สุดารัตน์ได้ยื่นขอสละสัญชาติไทยเพื่อจะขอสัญชาติไต้หวันตามสามี และรัฐไทยออกประกาศกระทรวงมหาดไทยให้เธอสละสัญชาติไทยได้ เพราะเข้าใจว่าสุดารัตน์ได้ถือสัญชาติไต้หวันแล้ว แต่ในความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ในปีเดียวกันไม่นานหลังจากยื่นขอสละสัญชาติไทย สุดารัตน์ทะเลาะกับสามีอย่างรุนแรงจนต้องหนีออกจากบ้านตัวเปล่าและถูกสามีฟ้องหย่าก่อนที่จะได้เข้าถือสัญชาติไต้หวัน ทุกวันนี้สุดารัตน์จึงไม่มีสัญชาติทั้งไทยหรือไต้หวันและต้องอยู่อย่างยากลำบาก

บงกชกล่าวว่า อีกกรณีคือ ธิพรดา มงคล หรือ เพ็ญ หญิงชาวสระบุรี อายุ 56 ปี ซึ่งพบรักกับสามีชาวไต้หวันตั้งแต่ที่เธอไปทำงานที่ไต้หวันครั้งแรกราวปี 2542 ทั้งคู่แต่งงานและอยู่กินกันอย่างราบรื่น โดยเพ็ญยื่นเรื่องขอสละสัญชาติไทยและขอถือสัญชาติไต้หวันตามสามี ภายหลังจากที่เพ็ญเข้าถือสัญชาติไต้หวันได้เพียงไม่กี่ปี สามีก็ได้เสียชีวิตลงเมื่อปี 2551 จากนั้นโศกนาฏกรรมต่างๆ ก็ถาโถมเข้าหาเธอ

หญิงไทยในต่างแดน_991134234841529_7544722777863178993_n.jpeg

นักศึกษาปริญญาเอกผู้นี้กล่าวว่า ในจังหวัดที่เพ็ญอยู่มีคดีความการแต่งงานปลอมระหว่างหญิงไทยและชายไต้หวัน ซึ่งมีบุคคลไม่หวังดีอ้างว่าเพ็ญคือหนึ่งในเคสแต่งงานปลอม อัยการไต้หวันได้มีคำสั่งว่าการแต่งงานระหว่างเพ็ญและสามีเป็นการแต่งงานปลอม และต่อมาสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(ตม.)ไต้หวันมีคำสั่งยกเลิกการอนุญาตให้เพ็ญถือสัญชาติไต้หวัน เธอเล่าให้ฟังว่าเจ้าหน้าที่อำเภอทำลายบัตรประชาชนชนไต้หวันต่อหน้าทันที แม้ว่าจะยังไม่เคยเห็นว่าศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ถอนสัญชาติเธอแต่อย่างใด เพ็ญพยายามร้องทุกข์และอุทธรณ์แต่ทุกอย่างก็ไม่เป็นผล เธอยังคงใช้นามสกุลสามีและดูแลครอบครัวสามีมาตลอดจนปัจจุบันแม้สามีจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ดูโชคชะตาไม่เข้าข้างเลย

“ความโหดร้ายที่เกิดขึ้น เป็นเวลากว่า 20 ปี ทั้งสุดารัตน์และเพ็ญตกเป็นคนไร้สัญชาติ กลายเป็นคนต่างด้าวในสายตาของทั้งรัฐไทยและรัฐไต้หวัน ซึ่งเอาจริงๆพวกเธอก็กลายเป็นคนต่างด้าวในสายตาของทุกรัฐในโลกไปแล้วเช่นกัน ด้วยความไม่รู้กฎหมายและอาจจะเชื่อคำแนะนำจากคนที่ฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบคนเปราะบางอย่างที่มีในทุกที่ทั่วโลก สุดารัตน์ไม่ได้ไปยื่นขอใบต่างด้าวตามสิทธิที่ควรจะได้ แต่กลับอาศัยอยู่อย่างผิดกฎหมายเรื่อยมา เธอเองก็ไม่เคยเข้าใจว่าเธอมีสิทธิที่จะขอกลับคืนสัญชาติไทย ในกรณีของเพ็ญแม้จะอยู่ในสถานะที่ดีกว่าเพราะได้ไปทำเรื่องอาศัยอยู่ในไต้หวันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่การยื่นมือเข้ามาของภาครัฐก็ยังช้าเกินไป เธอต้องรับกรรมในสิ่งที่เธอไม่ได้ทำ ความยุติธรรมยังไม่เกิดขึ้นสำหรับเพ็ญ” บงกช กล่าว

บงกชกล่าวว่า อีกกรณีจากประเทศเยอรมนีซึ่งได้รับการร้องทุกข์เข้ามาโดยผ่าน ดร.พัทยา เรือนแก้ว นักกฎหมายตีนเปล่าที่ให้ความช่วยเหลือคนไทยในประเทศเยอรมนี คือ กรณี นางนัยนา เมลลิเอส หรือ คุณยายอัญญา วัย 78 ปี หญิงไทยที่ได้สมรสและอยู่กินกับสามีชาวเยอรมันเป็นเวลาเกือบ 50 ปีในประเทศเยอรมนี โดยคุณยายอัญญา ถือสัญชาติไทยเพียงสัญชาติเดียว เพราะไม่เคยร้องขอแปลงสัญชาติเป็นเยอรมัน คุณยายเคยถ่ายบัตรประชาชนตอนอายุ 16 ปี แค่ครั้งเดียว แต่ก็ไม่เคยประสบปัญหาอะไร เพราะยังถือพาสปอร์ตไทยมาโดยตลอด จนกระทั่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 คุณยายไม่สามารถไปต่อพาสปอร์ตได้ แต่เมื่อไปขอต่อภายหลังที่สถานการณ์ดีขึ้นกลับถูกปฏิเสธ เพราะไม่มีบัตรประชาชนไปแสดง และได้หนังสือเดินทางฉุกเฉินมาแทน เพื่อให้เดินทางกลับไปประเทศไทยขอต่อบัตรประชาชนและทำหนังสือเดินทางใหม่ ถึงค่อยเดินทางกลับมาประเทศเยอรมนี

หญิงไทยในต่างแดน9759904325165_3836840415627787076_n.jpeg

“คุณยายอัญญาไม่เคยเสียสัญชาติไทย ไม่ได้เป็นคนไร้สัญชาติ แต่กลับตกอยู่ในสถานการณ์ไม่ต่างจากคนไร้สัญชาติ เพราะไม่ได้รับการคุ้มครองจากทางรัฐไทยตามสมควร มันดูไม่ค่อยจะสมเหตุสมผลเท่าไหร่ที่เราจะให้ผู้สูงอายุวัย 78 ปี เดินทางข้ามทวีปกลับมายังประเทศไทยเพื่อจัดการในสิ่งเหล่านี้ เราน่าจะเข้าใจสถานการณ์คนข้ามชาติได้แล้ว เราอยู่ในยุคที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเต็มไปหมด เราควรจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการดูแลคนของเรามิใช่หรือ” บงกช กล่าว

รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าเมื่อฟังได้ว่า ทั้ง 3 คนเป็นมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดซึ่งหลักกฎหมายระหว่างประเทศไทยนั้น รัฐไทยจึงมีหน้าที่ดูแลแก้ไขปัญหาความไร้สัญชาติให้แก่ทั้ง 3 กรณีที่เกิดขึ้นไม่มีปัญหาในระดับกฎหมายไทยเลย เพียงแต่ในระดับการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น ซึ่งเมื่อไม่มีการทำงานเชิงรุก และเจ้าของปัญหาก็น่าจะไม่สามารถเข้าใจในข้อกฎหมายในเรื่องนี้ อีกทั้งในบางกรณียังไปเชื่อคนที่สนับสนุนให้ทำสิ่งที่ไม่ชอบด้วย ปัญหาจึงดำรงอยู่มาเป็น 10 ปี

รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กล่าวว่า กรณีของเพ็ญธิพรดานั้น มีการยื่นคำขอกลับคืนสัญชาติไทยแล้วที่สถานกงสุลไทยในไต้หวันในราวปลายเดือนกุมภาพันธ์ ก็คาดว่าในราวไม่เกินเดือนพฤษภาคมนี้ เธอก็คงกลับคืนมาถือสัญชาติไทย ส่วนกรณีของสุดารัตน์ ซึ่งเข้าใจปัญหาของตนเองน้อยมาก และแวดล้อมไปด้วยคนที่แนะนำให้จมอยู่กับปัญหาเดิมๆ จึงไม่ยื่นขอกลับคืนสัญชาติไทยในช่วงแรกที่มีการหารือกันเรื่องนี้แต่เมื่อเธอเริ่มเข้าใจ เจ้าหน้าที่ของสถานกงสุลก็แนะนำให้ไปยื่นคำขอในประเทศไทย ดังนั้น ปัญหานี้ ก็คงใช้เวลาอีกพอสมควรขึ้นอยู่กับทัศนคติในการทำงานเชิงรุกของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องว่าดีหรือไม่

รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กล่าวว่า ส่วนกรณีของคุณยายอัญญา ซึ่งถูกปฏิเสธสิทธิโดยระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศ ที่จะไม่ทำหนังสือเดินทางให้ หากไม่มีบัตรประชาชนที่ยังมีผล ซึ่งเป็นการเปลี่ยนวิธีทำงาน ไปจากเดิมที่ปฏิบัติอยู่ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบอันเกิดแก่ผู้สูงวัยที่ไม่เข้าใจเหตุผลทางเทคโนโลยีมากนัก และเริ่มมีปัญหาสุขภาพ อันเนื่องจากความชราแล้ว

“ปัญหาของคนที่สามจึงเกิดจากทั้งการไม่ทำงานเชิงรุกของเจ้าหน้าที่ของสถานกงสุลไทยที่เกี่ยวข้องและทัศนคติของราชการไทยที่มองไม่เห็นคนเปราะบางดังคุณยายอัญญา เมื่อเหล่าคนไทยในเยอรมนีร้องขอความช่วยเหลือมา ก็มีการทำหนังสือแจ้งปัญหาเพื่อคุณยายอัญญาตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2565 ไปยังอธิบดีของกรมที่เกี่ยวข้องแล้ว 3 กรม คือ กรมการปกครอง กรมการกงสุล และกรพัฒนาสังคมและสวัสดิการ แล้ว หากไม่มีการจัดการใดๆ ภายใน 30 วัน สิ่งที่คุณยายอัญญาจะทำได้ ก็คือ การร้องขอให้ศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราว กรณีของคุณเพ็ญธิพรดาและคุณสุดารัตน์แห่งประเทศไต้หวัน ก็เช่นกัน หากมีการยื่นคำขอกลับมาถือสัญชาติไทยแล้ว ก็อาจร้องขอศาลปกครองมาคุ้มครองได้ หากกรมการกงสุลและกรมการปกครองไม่จัดการตามสมควร” รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กล่าว