ภายหลังพรรคเพื่อไทยนำเสนอ ‘หวยบำเหน็จ’ ออกมาเป็นนโยบายเด็ดในสัปดาห์ที่แล้ว จนกลายเป็นที่สนใจอย่างกว้างขวาง 'วอยซ์ออนไลน์' ได้ย้อนไปค้นว่า มีงานวิชาการใดที่เคยศึกษาเรื่องนี้บ้าง ก่อนได้พบงานวิจัยของ รศ.ดร.พรเพ็ญ วรสิทธา นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเคยเสนอผลงาน "เปลี่ยนเงินหวยเป็นเงินออม" และเผยแพร่เอาไว้เมื่อปี 2557
เธอให้สัมภาษณว่า ที่ผ่านมารู้สึกผิดหวังกับ ‘คำปฏิเสธ’ จากหลายหน่วยงานที่มีต่อโครงการ "เปลี่ยนเงินหวยเป็นเงินออม" กระทั่งล่าสุดยินดีที่ได้เห็น ‘พรรคเพื่อไทย’ ประกาศเป็นนโยบายในการหาเสียง
“เราต้องการให้ประชาชนหลุดออกจากการเป็นทาสหวยและมีความสุขกับเงินออมหลังเกษียณ” เธอกล่าวถึงความตั้งใจ ก่อนเริ่มต้นอธิบายแนวคิดเบื้องหลัง รวมถึงวิเคราะห์โอกาสความสำเร็จของนโยบาย
รศ.ดร.พรเพ็ญ เป็นอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ จากคณะพัฒนาการเศรษฐกิจและผู้อำนวยการศูนย์วิจัยประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สำนักวิจัย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดทำโครงการศึกษา "ความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนเงินหวยเป็นเงินออมของประชาชนในต่างจังหวัด" เมื่อปี 2555
“คนรายได้ต่ำเห็นหวยเป็นความหวัง ไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ เป็นการลงทุนหรือตราสารชนิดหนึ่งของเขา โดยตลอดชีวิตของแต่ละคนใช้เงินซื้อหวยหลายแสนบาท มันทำให้เราต้องสนใจศึกษาและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้” รศ.ดร.พรเพ็ญกล่าว
ข้อมูลที่ใช้เป็นข้อมูลปฐมภูมิจากกลุ่มตัวอย่างที่มีฐานะยากจนเเละอาศัยอยู่นอกกรุงเทพฯ จำนวน 4,800 ตัวอย่าง โดยทั้งหมดมีการศึกษาในระดับต่ำกว่าปริญญาตรี
ผลการศึกษาพบว่า 76.50 เปอร์เซ็นต์ มีการซื้อหวยใต้ดินเเละ/หรือสลากกินเเบ่งรัฐบาลโดยเหตุที่ประเทศไทยยังไม่มีตราสารทางการเงินที่เหมาะสมสำหรับคนจนนอกจากหวย
ทั้งนี้ ผลการศึกษายืนยันว่า จำนวนกลุ่มเป้าหมายที่มีคุณสมบัติเหมาะจะเข้าร่วม "โครงการเปลี่ยนเงินหวยเป็นเงินออม" มีมากพอที่จะนำเงินหวยมาก่อตั้งกองทุนเพื่อเก็บไว้เป็นเงินออมระยะยาว เเละคืนเงินออมพร้อมผลตอบเเทนให้เเก่ผู้เข้าร่วมโครงการเมื่อเกษียณอายุ
“ถามชาวบ้านว่ามีเงินออมไหม เขาบอกไม่มี เมื่อถามว่าหากมีเงินเหลือจะนำไปทำอะไร มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์บอกว่าเอาไปซื้อหวย เพราะเห็นเป็นความหวัง และคิดว่าตัวเองไม่มีช่องทางการลงทุน”
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เผยว่าจากการศึกษาในต่างประเทศ พบว่าพวกเขามองหวยเป็นการพนันแบบอ่อน ในอดีตรัฐบาลหลายประเทศ ทั้งจีน อังกฤษ อิตาลี ฝรั่งเศส ใช้หวยเป็นวิธีการระดมเงิน เพื่อนำไปพัฒนาประเทศ
“เป็นตราสารที่คนจนกับคนรวยถูกรางวัลแล้วได้เท่ากัน มันเกิดความรู้สึกของความเสมอภาค” เธอระบุ และบอกว่าเมื่อจำนวนผู้เล่นและเม็ดเงินในวงจรหวยทั้งบนดินและใต้ดินนั้นมีมหาศาล ผู้นำประเทศจึงควรยอมรับความจริงและหาช่องทางสร้างประโยชน์ให้พวกเขามากที่สุด
“อย่าซื้อหวยเลย คำเตือนที่ไม่มีใครเชื่อ ขนาดทุกคนรู้ว่ามีโอกาสถูกในเปอร์เซ็นต์ที่ต่ำมาก”
เมื่อเดือน ธ.ค. 2561 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เปิดผลวิจัยในหัวข้อ “หวย...ความฝันที่แลกด้วยเงินล้าน” พบว่า
"1 ใน 4 ของคนไทยซื้อลอตเตอรี่และหวยใต้ดิน รวมเป็นเงินกว่า 250,000 ล้านบาทต่อปี"
พูดง่ายๆ คือคนไทยราว 20 ล้านคน ซื้อลอตเตอรี่และเล่นหวยใต้ดินเทียบเป็นมูลค่าในแต่ละปีเท่ากับ 3 เท่าของมูลค่าซื้อกองทุน LTF และ RMF หรือมองในมุมของเศรษฐกิจเทียบเท่ากับเม็ดเงินลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
จากการสำรวจพบอีกว่า คนที่คาดหวังว่าจะถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 มีอยู่ 44 เปอร์เซ็นต์ แต่โอกาสถูกจริงเน้นว่าเป็นเพียง 1 ในล้านและคาดว่าจะถูก 2-3 ตัวบนล่างมีอยู่ถึง 78 เปอร์เซ็นต์ แต่โอกาสถูกจริงคิดเป็น 0.4-2 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น
รายงานในส่วนของการจัดสรรรายได้นำส่งรัฐ รายได้ทั้งหมดของการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล แบ่งเป็น 3 ส่วน
“28 เปอร์เซ็นต์คือกำไร ซึ่งรัฐบาลควรเอามาบริหารจัดการให้เขามีความสุขในบั้นปลายชีวิต” รศ.ดร.พรเพ็ญบอกและเห็นว่าสามารถบริหารจัดการให้มีกำไรมากกว่าจำนวนดังกล่าว โดยอาจปรับลดสัดส่วนเงินรางวัลลงเล็กน้อย รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในการบริหารลง โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย
(ที่มา สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล)
ขณะเดียวกัน เธอเห็นว่า รายได้ของหวยใต้ดินจำเป็นต้องนำเข้าสู่ระบบในโครงการเช่นกัน เนื่องจากมีเม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาลไม่แตกต่างจากลอตเตอรี่ถูกกฎหมาย
“อย่าให้เงินไปตกอยู่กับมาเฟีย และต้องเสียงบประมาณไปในการมาปราบปราม”
‘กำไร’ ที่ได้จากการขาย ให้นำไปลงทุนในกองทุนรวม หรือตราสารทุนอื่นๆ ลักษณะเดียวกับ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และคืนผลตอบแทนพร้อมเงินต้นให้เเก่ผู้เข้าร่วมโครงการในวัยเกษียณอายุ แทนที่จะปล่อยให้เงินออมของประชาชนที่มีฐานะยากจนต้องสูญเปล่าไปกับการซื้อการขาย
“ในระยะเวลา 10, 20, 30 ปี ผลตอบแทนสามารถทบต้นขึ้นไปหลายแสนล้านได้ ปัจจุบันมีตราสารทุนหลายแห่งที่บริหารได้อย่างยอดเยี่ยม”
ทั้งนี้เธอมีความเห็นว่าเป็นความไม่ยุติธรรมที่นําเงินจากการจําหน่ายลอตเตอรี่มาใช้ในสาธารณะประโยชน์ หากผู้ซื้อส่วนใหญ่คือผู้มีฐานะยากจน เพราะเท่ากับเป็นการจัดเก็บภาษีคนจนไปพัฒนาประเทศ ทําให้คนจนยิ่งจนลง และในที่สุดก็ต้องเป็นภาระของรัฐในการดูแลในวัยเกษียณ
ความสำเร็จของนโยบายดังกล่าวขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของรัฐบาลโดย รศ.ดร.พรเพ็ญ ชี้ว่า กุญแจสำคัญคือการเอื้อประโยชน์ให้กับคนจนหรือผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง มิใช่เป็นช่องทางให้กับคนรวยเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ จนกลายเป็นการซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำมากกว่าผลักดันให้เกิดการออม
นอกจากนั้นยังควรมีรูปแบบที่ไม่แตกต่างไปจากสลากกินแบ่งรัฐบาลปัจจุบัน ทั้งในแง่ราคา การเข้าถึงโดยง่าย และไม่ทำให้ผู้ซื้อมีแรงจูงใจที่ลดลง
“ควรออกเป็นสลากกองใหม่ที่ยึดโยง อิงเลขเดิมของลอตเตอรี่ในปัจจุบัน หากไปออกเลขใหม่จะกลายเป็นการสร้างภาระอื่นๆ ตามมา เนื่องจากมีเลขมากขึ้นก็เท่ากับมีความคาดหวังและรายจ่ายในแต่ละเดือนมากขึ้น ไม่ควรไปจำกัดว่าต้องซื้อทุกงวดทุกเดือน แต่ควรให้โอกาสประชาชนได้เลือกตามใจของตัวเอง”
เธอยังเห็นว่ารูปแบบเงินคืนในวัยเกษียณควรถูกจ่ายในรูปแบบเงินบำนาญมากกว่าบำเหน็จ เพื่อป้องกันการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
“ต้องศึกษาอย่างรอบคอบว่าควรจ่ายเงินคืนในรูปแบบใด ปันผล บำเหน็จหรือบำนาญ โดยดูจากพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้เล่น เพื่อให้นโยบายเกิดผลประโยชน์อย่างยั่งยืน”
นักวิชาการรายนี้เน้นว่า ต้องรอบคอบกับการดำเนินการ ทำให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติและอารมณ์ของผู้ซื้อ ด้วยแรงจูงใจที่มากกว่าซึ่งมาในรูปแบบเงินเกษียณ
“บั้นปลายชีวิต หากเรามีเงินสักก้อนที่ลงทุนไปในหวย แล้วมันเดินทางกลับมาหาเรา มันก็คงเป็นความสุขอย่างยิ่ง” เจ้าของสมการเปลี่ยนชีวิตทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: