กรมสอบสวนคดีพิเศษนำโดย พ.ต.ท. บรรยวัสต์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษภาคสี่ พร้อมกับเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่บริเวณปากทางเข้าเหมืองหินดงมะไฟเพื่อหารือกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ตามการยื่นหนังสือของกลุ่มฯ และองค์กรโพรเทคชั่นอินเตอร์เนชั่นแนลเพื่อขอให้มีการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนของกลุ่มที่ถูกข่มขู่คุกคามรวมถึงถูกขู่ฆ่า และให้รื้อฟื้นคดีของสมาชิกกลุ่มซึ่งก่อนหน้านี้ได้ถูกสังหารไปแล้วสี่ราย เพื่อหาผู้กระทำผิดมาลงโทษและคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียชีวิตและครอบครัว
สอน คำแจ่ม ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและภรรยาของกำนันทองม้วน คำแจ่ม แกนนำคัดค้านเหมืองหินที่ถูกสังหารพร้อมกับ สม หอมพรมมา เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2542 กล่าวกับเจ้าหน้าที่ดีเอสไอว่า สามีของตนเสียชีวิตมาแล้ว 21 ปี แต่ก็ยังไม่สามารถหาผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ โดยเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ตนและสมาชิกกลุ่มได้ไปยื่นหนังสือถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติผ่านทาง สภ.สุวรรณคูหา เพื่อให้มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ แต่ก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ จากทางสตช. ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ตนได้ยินมาว่า ผู้กำกับตำรวจของสภ.สุวรรณคูหาได้กล่าวในระหว่างการประชุมร่วมกับกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ว่า คดีของสามีตนนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งเรื่องเหมืองหิน หากแต่เกี่ยวข้องกับเรื่องชู้สาวและยาเสพติด ตนในฐานะภรรยาของกำนันทองม้วน ขอยืนยันว่าไม่มีทั้งสองกรณีเกิดขึ้น กับสามีของตน และรู้สึกไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวเช่นนี้ในที่ประชุม แทนที่จะมาแจ้งให้กับตนที่เป็นผู้เสียหายโดยตรง เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นยิ่งทำให้ตนเกิดความแคลงใจต่อการสืบสวนในการค้นหาความจริงกรณีการเสียชีวิตของกำนันทองม้วน และการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอลงพื้นที่ในครั้งนี้ หากว่าต้องการรื้อฟื้นความยุติธรรมให้กับกำนันทองม้วนก็จะเป็นเรื่องดี
นอกจากนี้ ลำดวน หนึ่งในผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ ผาจันไดที่ได้เข้าร่วมการหารือในครั้งนี้ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับทางดีเอสไอว่า พ่อของตนได้เข้าไปให้ปากคำในฐานะพยานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในคดีนี้ด้วย ซึ่งตนจำได้เนื่องจากได้พูดคุยกับพอว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบปากคำในฐานะพยานในเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งพ่อของตนได้เล่าให้ฟังว่า ตำรวจเอาเพียงแค่หนังสือมาให้เซ็น และแค่ถามแค่ข้อมูลส่วนตัวของพ่อว่าเป็นลูกใครเกิดที่ไหนและกำนันทองม้วนมีส่วนเกี่ยวข้อกับยาเสพติด แต่ไม่ได้สอบปากคำในประเด็นอื่น ๆ ซึ่งพ่อของตนก็รู้สึกงงว่าทำไมไม่มีการสอบปากคำในเรื่องอื่น ๆ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องโรงโม่หิน
ขณะที่ คูณ หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจกับดีเอสไอด้วยว่า ก่อนที่กำนันทองม้วนจะถูกลอบสังหารสังหารไม่กี่วันก่อนหน้าได้มีสัญญาณความรุนแรงก่อตัวขึ้น โดยกำนันทองม้วนได้เปิดเวทีในเรื่องของการอนุรักษ์ภูผายา ซึ่งเป็นหนึ่งในภูผาที่จะมีการดำเนินกิจการโรงโม่หิน โดยในเวทีดังกล่าวกำนันทองทองม้วนได้กล่าวต่อชาวบ้านจำนวนกว่าพันคนว่าจะขอยืนยันอุดมการณ์ในการอนุรักษ์ภูผาป่าไม้ ไม่ให้ธุรกิจโรงโม่หินเข้ามาทำกิจการได้ และหากตนจะตาย ก็จะตายเพราะกรณีพิพาทกับโรงโม่หิน และในขณะนั้นได้มีเจ้าหน้าที่ ที่แอบอยู่ตามพุ่มไม้หรือโขดหินอยู่ในบริเวณนั้นที่คอยเฝ้าสังเกตุการณ์อยู่กำนันทองม้วนได้พูดกับจนท.ที่แอบอยู่ว่า ไม่ต้องแอบซุ่มดูอยู่ ให้ขึ้นมาบนเวทีเลย
ตัวแทนของกลุ่มอีกหลายคนที่ให้ข้อมูลต่อดีเอสไอถึงความผิดปกติในคดีนี้ เช่น ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมไปแล้ว ชาวบ้านยังเกิดความแคลงใจว่าทำไมยังไม่สามารถเอาผิดได้ และได้รับการปล่อยตัวและใช้ชีวิตอยู่อย่างปกติจนถึงทุกวันนี้ รวมถึงมีตัวละครอีกหลายตัวที่มีความเกี่ยวเนื่องกับคดีนี้แต่ยังไม่ได้ถูกสอบปากคำ ซึ่งชาวบ้านได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติกกับเจ้าหน้าที่อีกในหลากหลายประเด็น
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2563 สอน คำแจ่ม ภรรยาของกำนันทองม้วน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ สตช. ผ่านทาง สภ.สุวรรณคูหา โดยตั้งข้อสังเกตที่ทางกลุ่มยังแคลงใจในหลายประเด็น อาทิ บันทึกการให้ปากคำของตนทีตำรวจส่งให้ดู ไม่ตรงกับการให้ปากคำในครั้งนั้นต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งหากพนักงานสอบสวนได้บันทึกรายละเอียดตามที่ตนให้ไป อาจจะนำไปสู่การสอบพยานหลักฐานที่สำคัญ เพื่อติดตามผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ แต่บันทึกปากคำของตนไม่ตรงที่ให้ปากคำไป ซึ่งตกหล่นไปจากเอกสารดังกล่าว นอกจากนี้ หลังจากที่ได้บันทึกการให้ปากคำเสร็จ เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการอ่านทวนการให้ปากคำของตน จึงทำให้ตนไม่ทราบรายละเอียดในการบันทึกก่อนที่จะเซ็นชื่อเพื่อรับรองการให้ปากคำดังกล่าว
นอกจากนี้ การลอบสังหารทองม้วน เป็นการตายโดยผิดธรรมชาติ ซึ่งในทางกฎหมาย ต้องมีการชันสูตรพลิกศพเพราะเป็นการทำให้ตาย โดยในรายงานการสอบสวนของสภ.สุวรรณคูหา ระบุว่า มีการใบรายงานการชันสูตรพลิกศพของแพทย์ แต่ในข้อเท็จจริงคือ เราไม่เคยเห็นใบรายงานดังกล่าว จึงทำให้เกิดความกังขาว่า ได้มีการชันสูตรพลิกศพจริงหรือไม่ เพราะมีความสำคัญต่อรูปคดี ที่จะหาคนผิดมาลงโทษ
อีกประเด็นหนึ่ง คือ เมื่อวฤทธิ์ หรืออ่อน วิเป ผู้ต้องหาในคดีการสังหารกำนันทองม้วนได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๒ พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหา “ร่วมกันกับพวกหรือใช้ จ้างวาน หรือสนับสนุน ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐาน ฆ่าผู้อื่นโดยไต่ตรองไว้ก่อน , มีและใช้อาวุธปืนที่นายทะเบียนมิออกใบอนุญาตให้ได้โดยผิดกฎหมาย พาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร” และในวันเดียวกันผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยมีหลักประกัน โดยขณะนั้นในระหว่างการสอบสวน พนักงานสอบสวนได้มีการตรวจพิสูจน์อาวุธปืนของกลาง และเปรียบเทียบวัตถุของกลางเป็นอาวุธปืนชนิดเดียวกันที่อยู่บริเวณศพของ ทองม้วน คำแจ่มตรงสถานที่เกิดเหตุหรือไม่ เพราะเรื่องนี้ก็มีความสำคัญต่อรูปคดีด้วย
นอกจากนี้ ตามสำเนารายงานการสอบสวนของคดีนี้ อยากขอให้ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรสุวรรณคูหาสั่งการให้ผู้ที่รับผิดชอบตรวจดูและรวบรวมบันทึกการสอบปากคำฉบับเต็มจำนวน 57 ปาก เปิดเผยให้กับตนได้รับทราบ ตามสำเนาการรายงานสอบสวนคดีด้วย และตนยังมีความสงสัย ในการสอบพยานจำนวน 57 ปากนั้น มีพยานหมายเลข 46-52 เป็นพยานที่ อวยชัย วะทา นำเข้ามาเป็นพยานในคดีดังกล่าว แต่ทำไมพนักงานสอบสวน ไม่เรียกอวยชัยมาสอบปากคำด้วย ซึ่งประเด็นต่างๆ เหล่านี้ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่อย่างใด
ด้าน พ.ต.ท.บรรยวัสถ์ ไตรสุทธิวงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษเขตพื้นที่ 4 กล่าวภายหลังจากหารือร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์ฯเสร็จสิ้นแล้วว่า สำหรับขั้นตอนการทำงานของดีเอสไอหลังจากนี้ เราจะบันทึกถ้อยคำของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดที่ได้มีการชี้แจงและบอกข้อมูลให้เราได้รับทราบในวันนี้ ซึ่งเป็นการรวบรวมพยานหลักฐานบุคคล และหลังจากนี้ ดีเอสไอจะเข้าไปดูสำนวนของจนท.ตำรวจ ที่ได้ดำเนินการมาทั้งหมดของสี่คนที่ถูกลอบสังหารว่าเป็นอย่างไร ทั้งจากสถานีตำรวจและจากอัยการ และในส่วนที่เกี่ยวเนื่องคือการตรวจพิสูจน์หลักฐาน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานที่รับเรื่องร้องเรียนจากทางจังหวัด ทางอำเภอ หรืออบต. เข้ามาร่วมพิจารณาด้วย แล้วเราก็จะพิจารณาไปตามพยานหลักฐานที่เราได้มา และนำไปเสนอผู้บังคับบัญชาอีกครั้ง ซึ่งกรอบการทำงานในช่วงแรก เราจะใช้เจ้าหน้าที่ของศูนย์ภาคทั้งหมดเข้ามาเป็นคณะทำงาน เพื่อพิสูจน์ทราบในเรื่องนี้ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการทำงานห้าเดือน ซึ่งเราจะทำข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่าง ๆ ให้ถึงที่สุด และจะนำเสนอคณะกรรกมการใหญ่ให้พิจารณาต่อไป ซึ่งหากพยานหลักฐานชัดเจนเราไม่ไว้หน้าไหนทั้งนั้น
ทั้งนี้หลังจากหารือร่วมกับทางดีเอสไอแล้ว กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเหล่าใหญ่-ผาจันไดได้อ่านแถลงการณ์ซึ่งเขียนถึงกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพที่ได้มีหนังสือมาถึงกลุ่มที่ว่า ไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่เพื่อหารือมาตรการในการรักษาความปลอดภัยเนื่องจากกรมคุ้มครองสิทธิฯได้มีหนังสือประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยให้แก่กลุ่มอนุรักษ์ฯตามอำนาจหน้าที่และลงพื้นที่แล้ว แต่ปรากฏว่ากลุ่มอนุรักษ์ฯไม่พร้อมให้ข้อมูลและปฏิเสธการหารือ โดยให้เหตุผลว่ากรมคุ้มครองสิทธิฯติดต่อมาในระยะเวลากระชั้นชิดทำให้ไม่สามารถเตรียมข้อมูลได้ทัน แล้วขอให้กรมคุ้มครองสิทธิฯ มีหนังสือประสานล่วงหน้า นอกจากนี้ ยังระบุว่า กรมคุ้มครองสิทธิฯได้นำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (NAP)ไปผลักดันให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเมืองแร่ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้คำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การเคารพสิทธิมนุษยชน และการเยียวยาความเสียหายจากการละเมิดขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย” ซึ่งทางนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได และโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เห็นว่าข้อความที่ปรากฏในเอกสารของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพดังกล่าว มีข้อความที่บิดเบือนตกหล่นจากข้อเท็จจริง ดังนี้
1.ที่ผ่านมากรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้ข้อมูลเพียงฝ่ายเดียวจากภาครัฐ และยังไม่ได้รับข้อมูลจากนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยตรงซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบแต่อย่างไร และการทำงานดังกล่าว ซึ่งอ้างว่าเป็นไปเพื่อคุ้มครองและคำนึงหลักสิทธิมนุษยชน ยังขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจกับนักปกป้องสิทธิ ซึ่งถือเป็นหลักการและแนวทางปฏิบัติขั้นแรกสุดของการทำงานเพื่อปกป้องและคุ้มครองนักปกครองสิทธิมนุษยชน ที่ผ่านมาทางตัวแทนกลุ่มฯและที่ปรึกษาได้มีโอกาสไปให้ข้อมูล กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เอกอัครราชทูตแคนาดา นอร์เวย์ และสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกต่างๆ ดังนั้นเรามีความพร้อมและยินดีที่จะให้ข้อมูลและร่วมหารือกับหน่วยงานต่างๆ หากการประสานงานไปด้วยความเคารพและรับฟัง โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐ ที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการหามาตรการสนับสนุนและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน การลงพื้นที่ถือเป็นโอกาสที่ดีที่กรมคุ้มครองสิทธิฯ จะได้ฟังเสียงของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และเข้าใจบริบทของพื้นที่ เพื่อกำหนดแนวทางและวางแผนความปลอดภัยร่วมกัน
2.ที่ผ่านมาพวกเราในฐานะนักปกป้องสิทธิฯ ยังไม่ทราบถึงความคืบหน้าของมาตรการในคุ้มครองสิทธิฯจากการหารือที่กรมคุ้มครองสิทธิฯได้ประสานไปยังหน่วยงานต่างฯ ดังนั้นเป็นไปได้ยากที่จะสร้างความมั่นใจให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนว่าการลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิในทรัพยากรนั้นจะมีความปลอดภัย และจะได้รับการคุ้มครองจากรัฐ
3.ในประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในการทำงานเพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เราขอย้ำอีกครั้งว่า เป็นเวลากว่าหนึ่งปีแล้ว แผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าวยังไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากแผนดังกล่าวยังไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย จึงไม่มีน้ำหนักในแง่กระบวนการยุติธรรมหรือไม่สามารถบังคับใช้ได้ การประสานงานกับหน่วยงานรัฐอย่างเดียวจึงมิได้ทำให้เกิดการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ เพราะการทำงานของกรมคุ้มครองสิทธิฯ และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ยังไม่มีการกำหนดขั้นตอนปฏิบัติ หรือข้อบทที่ชัดเจนเกี่ยวกับการสั่งปรับ รวมถึงการลงโทษหน่วยงานธุรกิจที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมหรือทางกายภาพต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เราเรียกร้องให้รัฐยุติการข่มขู่และการคุกคามทุกชนิด และผู้ที่รับผิดชอบต่อการโจมตีทำร้ายนักปกป้องสิทธิ รวมทั้งผู้ที่อยู่เบื้องหลังการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมต้องได้รับโทษ ผู้ที่ถูกตัดสินว่าไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ในการดูแลเพื่อสนับสนุนและคุ้มครองผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ต้องได้รับผลจากการกระทำทั้งในทางการเมือง การเงิน และในระบบยุติธรรม
4.การที่กลุ่มต้องเผชิญกับความรุนแรงและการคุกคามซ้ำแล้วซ้ำเล่านั้น เกิดจากการทำผิดแล้วลอยนวลพ้นผิดของรัฐและทุน บวกกับกลไกที่พิกลพิการของระบบราชการที่เพิกเฉย งดเว้นและมิได้ปฏิบัติการตามนโยบายและแนวทางการปฏิบัติที่ควรมีประสิทธิผล อีกทั้งการต่อสู้ของทางกลุ่มอนุรักษ์ฯ ถึงแม้ว่าล่าสุดจะเก็บเกี่ยวชัยชนะได้บ้าง แต่ทางกลุ่มฯยังคงมุ่งมั่นต่อสู้ต่อไปเพื่อให้ฟื้นฟูภูผาป่าไม้และพัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม จดหมายจากกรมคุ้มครองสิทธิฯ ที่ส่งมานั้นเสมือนว่าการปฏิบัติภารกิจเสร็จแล้ว จึงย้อนแย้งกับสถานการณ์ของกลุ่มฯและที่ปรึกษาของกลุ่มที่ยังประสบกับความรุนแรงและการคุกคามถึงชีวิต ทำให้เราเชื่อว่ากรมคุ้มครองสิทธิฯ กำลังละทิ้งการปฏิบัติหน้าที่ในขณะที่ยังปฏิบัติภารกิจไม่เสร็จสิ้นและสมบูรณ์ เราขอให้กรมคุ้มครองสิทธิฯ ทบทวนว่าจะยังคงเป็นหน่วยงานที่เหมาะสมที่จะปกป้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีความเสี่ยงหรือไม่และได้ทำหน้าที่อย่างครบถ้วนจากภาษีของประชาชนอย่างเราทุกคนหรือไม่
5.ขั้นตอนต่อไปเราจะทำหนังสือเป็นทางการเพื่อจะร้องเรียนการปฏิบัติการงานของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ให้กับผู้บังคับบัญชาของท่าน รวมถึงสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNOHCHR) สหภาพยุโรป สถานทูตแคนาดา สถานทูตนอร์เวย์และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง