ไม่พบผลการค้นหา
ข้าวหอมมะลิ ทวงบัลลังก์ข้าวที่ดีที่สุดในโลก World’s Best Rice 'จุรินทร์' ดันยุทธศาสตร์ภายใต้แนวคิด “ตลาดนำการผลิต” เผยโควิด-19 กระทบยอดส่งออก

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยและกรมการค้าต่างประเทศ กรณี “ข้าวหอมมะลิ” ของประเทศไทยได้รับรางวัล “ข้าวที่ดีที่สุดในโลก” หรือ “World’s Best Rice Award” ประจำปี 2563 จากการประกวดข้าวที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในงานประชุมข้าวโลก หรือ World Rice Conference จัดโดย The Rice Trader สหรัฐอเมริกา

การประกวดข้าวโลก “World’s Best Rice” จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2552 จนถึงปัจจุบันรวม 12 ครั้ง โดยปีนี้ไทยได้รับรางวัลชนะเลิศ ซึ่งเป็นครั้งที่ 6 ที่ไทยได้รับรางวัลดังกล่าว 

สำหรับเกณฑ์การตัดสินการประกวดข้าวโลกจะตัดสินโดยคณะกรรมการและเชฟที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติโดยประเมินจากลักษณะภายนอกของข้าวที่ส่งเข้าประกวดและจากคุณสมบัติทางประสาทสัมผัสทั้งก่อนและหลังการหุง และตัดสินจากข้าวที่ได้คะแนนรวมสูงสุด

จุรินทร์ กล่าวว่า เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยและพี่น้องเกษตรกรชาวนาไทย ซึ่งนอกจากจะทวงแชมป์ข้าวที่ดีที่สุดในโลกได้แล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความพยายามทุ่มเทของเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของข้าวไทย

ตามยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563-2567 ภายใต้แนวคิด “ตลาดนำการผลิต” มียุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านตลาดต่างประเทศ 2.ด้านตลาดในประเทศ 3.ด้านการผลิต และ 4.ด้านผลิตภัณฑ์แปรรูปและนวัตกรรมจากข้าว 

ภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวแบ่งกลุ่มข้าวไทยออกเป็น 3 ตลาดหลัก ได้แก่ 1.ตลาดพรีเมี่ยม ประกอบด้วย ข้าวหอมมะลิไทย และข้าวหอมไทย 

2.ตลาดทั่วไป ประกอบด้วย ข้าวขาวพื้นนุ่ม ข้าวขาวพื้นแข็ง และข้าวนึ่ง

3.ตลาดเฉพาะ ประกอบด้วย ข้าวเหนียว และข้าวสี/ข้าวคุณลักษณะพิเศษ


โควิดทำส่งออกลด

ภาพรวมการส่งออกข้าวไทยตั้งแต่มกราคม – 2 ธันวาคม 2563 ข้อมูลสถิติกรมศุลกากรและใบอนุญาตส่งออก ส่งออกรวม 5.1 ล้านตัน มูลค่า 108,918 ล้านบาท ปริมาณลดลงร้อยละ 28 ส่วนมูลค่าลดลงร้อยละ 11

ข้าวหอมมะลิของไทยยังคงครองตลาดส่งออกหลัก คือ สหรัฐฯ แคนาดา ฮ่องกง และสิงคโปร์ แม้การส่งออกข้าวไปตลาดอื่นจะซบเซา เนื่องจากเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์โควิด-19 ประกอบกับข้าวไทยราคาสูงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง แม้จะต่างกับเวียดนามไม่มาก แต่ราคาสูงกว่าข้าวอินเดียกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ศักยภาพในการแข่งขันของไทยลดลง

สำหรับการเจรจากับ COFCO รัฐบาลจีนภายใต้สัญญาซื้อขายข้าวแบบ G to G ที่เหลืออีก 300,000 ตัน ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา กรมการค้าต่างประเทศได้หารือกับ COFCO ผ่านระบบ Video Conference เจรจาการซื้อข้าวในงวดที่ 8 ปริมาณ 100,000 ตัน ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายจะเร่งพิจารณาราคาเสนอขายเพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว และเพื่อให้สอดคล้องกับความคืบหน้าสัญญารถไฟความเร็วสูงไทย–จีน ที่ได้ลงนามในสัญญา 2.3 มูลค่า 50,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563

สำหรับปัญหากรณีผู้ส่งออกทั้งระบบรองเรียนได้รับผลกระทบจากค่าระวางเรือถูกคิดอัตราสูงและไม่มีตู้ขนส่งสินค้าที่จะส่งสินค้าไทยไปตลาดทั่วโลก เนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ในตลาดสำคัญทั่วโลก ทำให้ไม่มีการเดินเรือขนส่งสินค้าด้วยนั้น ปัญหาดังกล่าวในสัปดาห์หน้าจะประชุมหารือกับทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สถานทีท่าเรือกรุงเทพ เพื่อเร่งหาทางแก้ไขปัญหาให้กับผู้ส่งออกไทยทั้งระบบกันต่อไป

ร.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การที่ประเทศไทยชนะและทวงแชมป์ข้าวหอมไทยปีนี้กลับมาอีกครั้งถือเป็นเรื่องที่ดีต่อทุกฝ่ายจะทำให้ลูกค้าทั่วโลกหันมาสนใจข้าวไทยเพิ่มมากขึ้น แต่ยอมรับว่าจากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ไทยส่งออกข้าวไปตลาดต่างประเทศน้อยลง ซึ่งปีนี้จากเป้าหมายเดิมคาดว่าจะส่งออกไม่ต่ำกว่า 6.5-7 ล้านตัน แต่จากปัญหาโควิดและไม่มีตู้ขนส่งสินค้าไปตลาดต่างประเทศเพียงพอน่าทำให้ไทยส่งออกข้าวไปตลาดโลกได้เพียง 5.5-5.7 ล้านตันเท่านั้น ส่วนปีหน้า หากมีวัคซีนป้องกันโควิดข้าวไทยจะมีโอกาสส่งออกมากขึ้นและน่าจะส่งออกได้ถึง 7 ล้านตันเป็นไปได้แน่นอน


อ่านข่าวอื่นๆ :