ไม่พบผลการค้นหา
นักวิเคราะห์ในสำนักข่าว NHK ได้เปิดเผยว่ามีเรือตกปลาหลายลำบริเวณใกล้หมู่เกาะเซนกากุ ซึ่งสถาบันวิจัยของสหรัฐฯ เชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่กองทัพเรือของจีนอยู่บนเรือเหล่านั้นด้วย

ในเดือน มี.ค. 2564 ได้มีการเผยแพร่ภาพที่แสดงให้เห็นว่า มีเรือของจีนกว่า 200 ลำอยู่ในน่านน้ำทะเลจีนใต้ โดยในจำนวนนั้นทอดสมอจอดอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ฟิลิปปินส์อ้างความเป็นเจ้าของ

กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เชื่อว่า มีเจ้าหน้าที่กองทัพเรือของจีนอยู่บนเรือเหล่านั้น ในขณะที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนออกมาตอบโต้ว่า เรือเหล่านั้นเพียงแค่ทำการประมงอย่างถูกกฎหมายเท่านั้น ก่อนตั้งคำถามกลับไปว่า กระทรวงการต่างประเทศจีนไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่า ทำไมชาวประมงจีนจึงถูกระบุว่าเป็นเจ้าหน้าที่กองทัพเรือ

ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์และการต่างประเทศศึกษา (CSIS) สถาบันวิจัยของสหรัฐฯ ได้เผยแพร่รายการของเรือ 122 ลำที่แล่นอยู่ในทะเลจีนใต้ ซึ่งระบุว่าเป็นเรือของกองทัพจีน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยระบุว่า เจ้าหน้าที่กองทัพบนเรือประมงมีการติดอาวุธเล็กน้อย อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนในค่าใช้จ่ายต่างๆ อาทิ ค่าเชื้อเพลิง

ในขณะที่สำนักข่าว NHK ได้วิเคราะห์การเคลื่อนที่ของเรือในปี 2564 โดยใช้เทคโนโลนีตรวจจับอัตโนมัติ และพบว่าเรือจำนวนมากของจีนได้ใช้เวลากว่าครึ่งปีในทะเลจีนใต้ ในบริเวณที่เป็นข้อพิพาทระหว่างจีน ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

ข้อมูลยังเปิดเผยอีกว่า ตั้งแต่สิ้นเดือน ก.ค. 2564 เรือมากกว่าสิบลำได้เข้าไปในเขตทะเลจีนตะวันออกเช่นกัน โดยอยู่ในระยะ 200 กิโลเมตรจากหมู่เกาะเซนกากุ เรือเหล่านี้เข้ามาใกล้เขตเศรษฐกิจพิเศษของญี่ปุ่นและอยู่ในบริเวณดังกล่าวเป็นเวลาพอสมควร มีเรืออย่างน้อย 1 ลำ ที่เคลื่อนที่จากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปยังทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เรือดังกล่าวผ่านน่านน้ำของญี่ปุ่นและบริเวณรอบเกาะเซนกากุก่อนจะกลับเข้าสู่ทะเลจีนใต้

เกรกอรี โพลิง นักวิจัยในโครงการริเริ่มด้านความโปร่งใสในน่านน้ำเอเชียของ CSIS กล่าวว่า เรือที่ถูกค้นพบในทะเลจีนตะวันออกอาจมีส่วนร่วมในการฝึกร่วมซ้อมรบกับกองทัพจีน โพลิงกล่าวอีกว่า จีนกำลังใช้อำนาจบีบบังคับและกดดันในการขยายการครอบครองพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพื้นที่ของญี่ปุ่นในบริเวณหมู่เกาะเซนกากุด้วย

โพลิงกล่าวว่า ยังคงต้องมีการวิเคราะห์ต่อไปถึงจุดประสงค์และกิจกรรมที่แท้จริงของเรือเหล่านี้

สำหรับกรณีพิพาทเกาะเซนกากุที่มีญี่ปุ่นเป็นผู้ปกครองเกาะ เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ซื้อเกาะจำนวนหนึ่งมาจากเอกชนญี่ปุ่นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ในขณะที่จีนและไต้หวันก็อ้างการครอบครองเช่นกัน ทั้งนี้ ญี่ปุ่นใช้เหตุผลในเชิงประวัติศาสตร์และกฎหมายระหว่างประเทศ ในการถือครองความเป็นเจ้าของเกาะดังกล่าว และกล่าวว่าไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ในเรื่องอำนาจอธิปไตยของญี่ปุ่นบนหมู่เกาะเซนกากุ

 

ที่มา:

https://www3.nhk.or.jp/nhkworld/en/news/20220912_02/?fbclid=IwAR0LxGkZZhkRga9yT3O-e6g_GWlZ_kYOyBIUSkcu7ZsJI8qZPb1xNr2qICI