IMF กล่าวว่า แผนการฟื้นฟูด้านการเงิน 4 ปี มุ่งเป้าไปที่การปกป้องความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และความยั่งยืนด้านหนี้ของศรีลังกา หลังจากที่หนี้ภายนอกประเทศของศรีลังกาพุ่งสูงถึงกว่า 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท) ในปีที่ผ่านมา
“การตกลงดังกล่าวเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเส้นทางอันยาวไกล ที่ศรีลังกาจะต้องเดินเพื่อก้าวออกจากวิกฤตเศรษฐกิจ” ปีเตอร์ บรอยเออร์ หัวหน้าคณะผู้แทนของ IMF ในศรีลังกากล่าว “มันเป็นเรื่องที่สำคัญที่ศรีลังกาจะต้องมีความมุ่งมั่นบนทางเดินนี้”
ในขั้นตอนต่อไป ข้อตกลงเงินกู้จะต้องถูกรับรองโดยคณะกรรมการบริหารของ IMF และในขณะเดียวกัน IMF กำลังทำการเจรจาผลักดันให้ศรีลังกาสร้างความเชื่อมั่นต่อเจ้าหนี้ ผ่านแผนการใช้หนี้ในอนาคต รวมถึงการทำข้อตกลงที่มีการร่วมมือกันกับเจ้าหนี้ในภาคเอกชนด้วย
ทั้งนี้ ศรีลังกากำลังพัฒนานโยบายในประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาไปพร้อมๆ กัน โดยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (31 ส.ค.) รานิล วิกรามาสิงเห ประธานาธิบดีศรีลังกา ได้นำเสนอแผนงบประมาณชั่วคราวต่อรัฐสภา ซึ่งมีเป้าหมายในการเพิ่มรายได้ของประเทศและต่อสู้กับเงินเฟ้อ วิกรามาสิงเหยังเสนออีกว่า ศรีลังกาต้องจัดเตรียมนโยบายทางเศรษฐกิจล่วงหน้าอย่างน้อย 25 ปี
ในเดือน เม.ย. ศรีลังกาประกาศหยุดการชำระหนี้นอกประเทศ ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่ลดน้อยลง ส่งผลให้ทั้งประเทศประสบปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง และการขาดตลาดของสินค้าที่จำเป็น เช่น อาหาร เชื้อเพลิง และยารักษาโรค
ที่มา: