ไม่พบผลการค้นหา
วงเสวนาบทเรียนการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญปี 60 ชี้ ผู้มีอำนาจออกแบบมาเพื่อเป้าประสงค์ทางการเมือง ทำให้การเลือกตั้งขัดกับหลักสากล และยังมีอีกหลายเครื่องมือที่รอใช้จัดการฝ่ายตรงข้าม

ศูนย์กฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโครงการ “เชิดชูครูกฎหมาย” เนื่องในงานรำลึก ศาสตราจารย์ ไพโรจน์ ชัยนาม ครั้งที่ 9 โดยมีการเสวนาในหัวข้อ “บทเรียนการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญฉบับ 60”

รองศาสตราจารย์ ณรงค์เดช สุรโฆษิต จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญมีปัญหาทางทฤษฎี อย่างน้อย 3 ประเด็น คือ 

1.)​ ระบบเลือกตั้งแบบแบ่งสรรปันส่วนผสม หรือ MMA แต่ใช้บัตรใบเดียว ทั้งที่ควรใช้บัตร 2 ใบหรือใบเดียวต้องมี 2 ช่องกาอย่างในหลายประเทศ, สูตรคำนวน ส.ส.เป็นเบี้ยหัวแตก, การไม่มีคะแนนเสียงขั้นต่ำ ที่พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงไม่ถึงเกณฑ์ต้องถูกตัดออกจากการคำนวณที่นั่ง ส.ส., กับการแก้โอเวอร์แฮงก์ หรือ พรรคที่ได้ ส.ส.เกินจำนวนพึงมีนั้นมีปัญหา

2.)​ การแบ่งเขตเลือกตั้งขัดกับหลักสากล เพราะพื้นที่ไม่ติดต่อกันตามที่ควรจะเป็น และ 3.)​ คือโทษตัดสิทธิทางการเมืองหรือเพิกถอนสิทธินักการเมือง ที่มีโทษตัดสิทธิตลอดชีวิตถือว่าสูงเกินไป

ท่าดีทีเหลว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์อรรถสิทธิ์ พานแก้ว จากคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองผ่าน พ.ร.บ.พรรคการเมืองว่า ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาในอดีตที่บางพรรคมีสมาชิกเยอะแต่เวลาเลือกตั้งได้คะแนนเสียงน้อยมาก ต้องการทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันและเกี่ยวข้องกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากขึ้น แต่ผู้กุมอำนาจรัฐมีการผ่อนผันบางเงื่อนไขในการเลือกตั้งครั้งแรก รวมถึงการกำหนดรูปแบบการหยั่งเสียงหรือไพรมารีโหวต แต่ไม่ได้นำมาใช้ หรือพูดได้ว่า "ท่าดีทีเหลว" และ บทเรียนอีกอย่างที่สำคัญคือ ต้องให้ประชาชนรู้ข้อมูลพื้นฐานอย่างครบถ้วนและชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง รวมถึงที่ไปที่มาและจุดยืนทางการเมืองของ กกต.ไปจนถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจเกี่ยวข้องกับนักการเมืองและการเลือกตั้งด้วย 

ออกแบบกติกาเพื่ออยู่ยาว

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ มองต่างว่า ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องไม่ได้ท่าดีทีเหลว แต่จงใจออกแบบกติกาและจัดวางตัวบุคคลที่จใช้อำนาจมาเพื่อให้ทหาร อยู่ในอำนาจต่อไปและทำลายฝ่ายตรงข้ามหรือให้ฝ่ายตรงข้ามทำงานลำบาก โดยยก 5 เรื่องที่คาดหมายได้ตั้งแต่เห็นร่างรัฐธรรมนูญ, 5 เรื่องที่คาดไม่ถึงและอีก 5 เรื่องที่คาดว่าจะเกิดขึ้นแต่ยังไม่เกิดขึ้นประกอบด้วย

ลำดับแรก 5 เรื่องที่ความหมายได้คือ 1) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อหลังเลือกตั้ง 2) พรรคเพื่อไทยจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3) ส.ว.250 คนจะเลือกพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี 4) พรรคฝ่ายตรงข้าม คสช.จะถูกยุบ 5)​ ฝ่ายตรงข้าม คสช.จะถูกเล่นงานเรื่องคุณสมบัติ ส.ส.

ส่วน 5 เรื่อง ที่ไม่ได้คาดหมายคือ 1) กกต.เเจกบัตรผิดเขตในการเลือกตั้งล่วงหน้า 2) บัตรเสียจำนวนมาก ซึ่งควรเปิดเผยคะแนนรายหน่วยเพื่อหาสาเหตุด้วย 3) การนับคะแนนผิดพลาดและมีพรรคเดียวได้ประโยชน์ ซึ่งอาจเกิดจากการกองรวมบัตรเลือกตั้งนับในระดับเขตกับระดับประเทศ 4) การประกาศผลเลือกตั้งล่าช้าเกินจะยอมรับได้ 5)​ มีการเปลี่ยนสูตรคำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของ กกต.

และสุดท้ายคือ 5 เรื่องที่คาดได้แต่ยังไม่ถูกใช้ ประกอบด้วย 1)​ นายกรัฐมนตรีคนนอก 2)​ ใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง โดยอำนาจ กกต. ซึ่งทดลองใช้ กรณีจังหวัดเชียงใหม่แต่ไม่ได้ผล เพราะพรรคอนาคตใหม่ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับได้ชัยชนะ 3) มาตรฐานจริยธรรมที่ตีความได้กว้างมาก 4)​ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของ คสช.ที่กำหนดทิศทางหรือสกัดการดำเนินนโยบายพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม 5)​ แผนปฏิรูปประเทศ ที่ใช้ในลักษณะเดียวกันกับยุทธศาสตร์ชาติ