ไม่พบผลการค้นหา
เบื่อไหม? สีดำ ความเศร้า กระเพาะปลา ลองครีเอทงานศพปราศจากน้ำตากับ ‘อัษฎายุทธ คุณวิเศษพงษ์’ ทายาทธุรกิจหีบศพ ‘มังกรเขียว’ ย่านเยาวราช ที่สืบทอดมานานกว่า 3 ชั่วอายุคน

หลายคนอาจติดภาพ ‘นาตาเลีย เพลียแคม’ เจ้าแม่แดร็กควีน ผู้คว้าแชมป์จากรายการแดร็กเรซไทยแลนด์ซีซั่นแรกไปครอง แต่ภาพอีกด้านเวลาลบเครื่องสำอาง และถอดขนตา เฮียนาตาเลียขวัญใจใครๆ คือ ‘อัษฎายุทธ คุณวิเศษพงษ์’ ผู้บริหารธุรกิจหีบศพย่านเยาวราช ที่สืบทอดมานานกว่า 3 ชั่วอายุคน

ปัจจุบัน อัษฎายุทธก้าวเข้าสู่วัย 37 ปี เป็นลูกคนโตของ 8 พี่น้องตระกูลคุณวิเศษพงษ์ ที่ตัดสินใจสืบทอดธุรกิจหีบศพร้านมังกรเขียวเต็มตัว ด้วยความต้องการสานต่อธุรกิจบริการที่ตรงตามประเพณี และวัฒนธรรมโบราณดั่งเดิม ซึ่งอันแน่นด้วยรายละเอียดที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะ ขณะเดียวกันเขาก็มองเห็นโอกาสการสร้างสรรค์เรื่องราวใหม่ๆ โดยใส่ไอเดียเข้าไปในธุรกิจหีบศพ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของยุคสมัย และกระแสการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม

“ธุรกิจหีบศพของครอบครัวสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ที่เดินทางข้ามทะเลมาจากประเทศจีน และเริ่มต้นวางรากฐานธุรกิจบนถนนเจริญกรุง ย่านเยาวราช สานต่อความตั้งใจมาจากรุ่นอากงสู่รุ่นคุณพ่อ ก่อนคุณพ่อจะแยกตัวออกมาทำแบรนด์มังกรเขียวด้วยตัวเอง” อัษฎายุทธเท้าความที่มาของธุรกิจครอบครัว


สังคมผู้สูงอายุกลายเป็นโจทย์สำคัญ

จากจุดเริ่มต้นจวบจนวันนี้ ตระกูลคุณวิเศษพงษ์ดำเนินธุรกิจหีบศพมานานกว่า 100 ปี ทว่าท่ามกลางสังคมที่เปี่ยมด้วยผู้สูงอายุ และพวกเขายังแข็งแรงขึ้น อายุยืนยาวขึ้น แน่นอนว่า อัษฎายุทธต้องสรรหาหนทางรับมือกับแรงสั่นสะเทือน เพื่อให้ธุรกิจมังกรเขียวในเจเนอเรชั่นของเขาอยู่รอด และรุดหน้ากว่าที่เคย

“ปัจจุบันแบรนด์มังกรเขียวเป็นเจเนอเรชั่นใหม่ ซึ่งรูปแบบการทำงานปรับเปลี่ยนไปตามโลก ตามยุค ตามสมัย ที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคม แต่ก็ต้องไม่ลืมเรื่องวัฒนธรรมเดิมๆ”

ที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่หลายคนพยายามเข้ามาจับธุรกิจเกี่ยวกับความตาย แต่กลับตอบโจทย์ลูกค้าไม่ได้ เพราะปราศจากความเข้าใจในวัฒนธรรม และประเพณี เช่น กรณีเกิดการเสียชีวิตของคนๆ หนึ่งในครอบครัว แล้วช่วงเวลาใกล้เคียงกัน หรือประมาณ 2-3 ปี ก็เกิดการเสียชีวิตของคนที่ 2 ในครอบครัว ทางร้านหีบศพที่ทราบประเพณีต้องรีบนำตุ๊กตากระดาษไปใส่ในโลงศพ เพื่อเป็นตัวแทนความตายของคนที่ 3 ซึ่งเรื่องดังกล่าวหลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน

อัษฎายุทธกล่าวชื่มชมบรรพบุรุษของเขาว่า ท่านเหมือนนอสตราดามุสสมัยก่อนที่ทราบว่า การบริการก่อน-หลังการขาย การซื้อใจ และความซื่อสัตย์ต่อลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญมากกว่ากลยุทธ์ทางการตลาดใดๆ ดังนั้น สิ่งที่เจอเรเรชั่นใหม่ต้องทำคือ ต่อยอดให้ครอบคลุม 360 องศา



อัษฎายุทธ คุณวิเศษพงษ์.jpg

พอมาเป็นมังกรเขียวเจเนอเรชั่นใหม่สิ่งที่เพิ่มความโด่ดเด่น และสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกคือ รูปแบบการบริการครบวงจรมากขึ้น และจิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการที่พร้อมบริการด้วยตัวเอง โดยเชี่ยวชาญพิธีศพทั้งแบบไทย และแบบจีน 

“คือถ้าเป็นที่อื่นๆ เขามักทำพิธีศพแบบจบแล้วจบกัน อยากเผาอยากฝังเลือกเอา แต่ของเราให้สำคัญกับการเก็บฐานข้อมูลลูกค้าเก่าๆ เข้าคลัง พัฒนาบริการหลังการขาย และไม่คิดเอาเปรียบลูกค้า สิ่งที่มังกรเขียนคิดอยู่เสมอคือ คนกำลังโศกเศร้าเสียใจต้องเตรียมจัดพิธีศพ ถ้าเป็นธุรกิจที่ต้องการแค่เงินก็มักไปบีบคอให้ลูกค้าจ่าย 1 จ่าย 2 จ่าย 3 จ่าย 4 หรือบางที่จ่าย 1 แล้วต้องจ่าย 1.1 อีก มันเหมือนเป็นการซ้ำเติมความโศกเศร้าของพวกเขา” อัษฎายุทธอธิบาย

สิ่งที่มังกรเขียวเลือกทำคือ ถามลูกค้าตรงๆ ว่าอะไรเป็นสิ่งจำเป็น โดยทำหน้าที่เหมือนคนขายโลงศพ เหมือนที่ปรึกษา เหมือนแพลนเนอร์ เหมือนออแกไนซ์


ครีเอทงานศพได้ตามใจคุณ

ยามมีชีวิตอยู่หลายคนเลือกใช้ ‘เวดดิ้งแพลนเนอร์’ (Wedding Planner) มาเนรมิตรพิธีแต่งงานให้เป็นดั่งฝัน ด้านอัษฎายุทธจึงตั้งใจทำหน้าที่เป็น ‘ฟูเนอรัลแพลนเนอร์’ (Funeral Planner) คอยเนรมิตรพิธีศพครบวงจร เจ้าแรกของประเทศไทย

คำว่า ‘ครบวงจร’ ของเขาหมายถึง การลงรายละเอียดเรื่องการซื้อ-ขายหีบศพ พิธีกรรมตามศาสนา สถานที่ การครีเอทธีม ของชำร่วย และสุดท้ายต้องเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเหลือศพอนาถาได้อย่างเป็นรูปธรรม



อัษฎายุทธ คุณวิเศษพงษ์ 2.jpg

ส่วนตัวอัษฎายุทธเองก็คิดเสมอว่า อนาคตทุกคนอาจเห็นโลงศพที่เก๋ แปลก หรือเมคทูออเดอร์ของลูกค้า เพราะจริงๆ แล้วบางประเทศสร้างสรรค์โลงศพแปลกๆ น่ารักๆ ออกมาแล้ว แต่ยังเป็นเพียงแค่ความต้องการเฉพาะบุคคลเท่านั้น โดยเขาวาดฝันเอาไว้ว่า ถ้าวันหนึ่งตายไปอยากนอนในโลงศพที่แตกต่างจากคนอื่นๆ ขณะที่หลายคนเลือกโลงศพเป็นลวดลายไทย แต่เขาชอบแบบมินิมอล ดังนั้น ขอเป็นสไตล์โมเดิร์นมินิมอล หรือสไตล์ลักซ์ชัวรีมินิมอล

“บางคนอาจกำลังอยากได้โลงศพอาจจะเป็นสีทองทั้งหมด หรือลูกไม้แบบไม่ลิเก เอาเป็นลูกไม้ฝรั่งเศสแทน หมอนขอเป็นผ้าสักหลาด หรือกำมะหยี่ ติดเพชรให้วิบวับ ดอกไม้เป็นโทนสีแบบตามต้องการ และกำชับให้คนที่มาร่วมงานห้ามโศกเศร้า”

ความตั้งใจในการดำเนินธุรกิจของอัษฎายุทธคือ อยากเห็นงานศพของทุกคนออกมาสวยเหมือนงานแต่งงาน เพราะวันที่ความตายเดินมาถึงทุกคนไม่สามารถพูด หรือสื่อสารความต้องการออกมาได้ แต่สามารถเตรียมพร้อมด้วยการจัดการล่วงหน้า เพื่อช่วยลดภาระ ลดเวลา และเขายังคงเชื่อเสมอว่า ทุกคนต้องการเลือกสิ่งดีที่สุดให้กับตัวเอง ดังนั้น อย่ารอจนความตายเดินทางมาถึง เพราะถ้าคุณออกมายืนดูงานศพของตัวเอง แล้วรู้สึกไม่ชอบดอกพลับพลึงฉีดสีสะท้อนแสงก็เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้

“แล้วทำไมงานศพของคุณจะต้องกินแค่กระเพาะปลา เกี๊ยวน้ำ อาหารว่างเปลี่ยนเป็นมาการองเสิร์ฟพร้อมน้ำชา หรืออาหารค่ำเป็นซูชิ ส่วนของชำร่วยเอะอะก็ยาดมส้มโอมือ หรือสมุดบันทึกประวัติ ลองเปลี่ยนเป็นแฟลชไดรฟ์ใส่เรื่องราว รูปภาพ หรือวิดีโอโชว์ช่วงเวลาดีๆ ไม่ดีกว่าหรอ ผู้รับบางคนที่ไม่อยากเก็บความทรงจำก็แค่ลบทิ้ง แล้วเอาแฟลชไดรฟ์ไปใช้ประโยชน์ได้ด้วย” อัษฎายุทธกล่าว

และถ้าใครกำลังคิดว่า การแต่งงานเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยที่ทำให้หลายคนมีความสุข การจัดงานศพก็เช่นกัน เพราะของบางอย่างความคุ้มค่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคา


โลงศพก็เหมือนเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่ง

ทุกคนล้วนก็อยากอยู่บ้านสวยๆ โลงศพก็เปรียบเสมือนบ้าน อย่างไรก็ตาม พอโลกเปลี่ยนไปทุกๆ ปีก็มีเทรนด์โลงศพออกมาเช่นกัน ไม่ต่างอะไรกับเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน และอีกทางหนึ่งโลงศพยังเป็นสิ่งบ่งบอกบารมีผู้เสียชีวิตด้วย

“บางทีคุณอาจไปเจอโลงศพสวยจังเลย ยิ่งใหญ่อลังการ แล้วพอเห็นการจัดงานของเขาถึงเข้าใจว่าเป็นบุคคลมีชื่อเสียง บ้านมีฐานะ ก็สามารถบูรณาการงานศพครั้งสุดท้ายให้ยิ่งใหญ่ มันก็เป็นตัวบ่งบอกอย่างหนึ่ง และเป็นสิ่งที่คนมีชีวิตอยู่อยากจะทำสิ่งที่สุดๆ ให้กับผู้เสียชีวิตเป็นครั้งสุดท้าย” อัษฎายุทธกล่าว

“โลงศพที่ประดับตกแต่งชัดๆ ส่วนใหญ่เป็นโลงศพแบบไทย จากสมัยก่อนโลงศพทาสีธรรมดาๆ เริ่มมีการบุผ้านวม และนำผ้าป่านมาเย็บ พับ จับพลีส และจากวัสดุที่เป็นไม้เนื้อแข็ง ปรับหันมาใช้ไม้เนื้ออ่อน ไม้หอม มัน เปลี่ยนไปตามยุคสมัย”

นอกจากนั้น หลายคนชอบคิดว่า การพูดเรื่องโลงศพ หรือพิธีศพ เป็นเรื่องลบหลู่ผู้เสียชีวิต แต่ความจริงแล้วผู้บริหารธุรกิจโลงศพบอกว่า “ไม่จริง” และที่ผ่านมาเขาพยายามคิดอยู่เสมอว่า จะทำอย่างไรไม่ให้โลงศพดูเป็นเรื่องน่ากลัว ไม่ใช่เรื่องน่าโศกเศร้า เพราะความจริงแล้วโลงศพก็เหมือนประกัน ไม่มีใครอยากซื้อ ไม่มีใครอยากจ่าย แต่สุดท้ายก็ต้องใช้