เวลานี้ ศรชัยทำงานเป็นพนักงานขาย แผนกห้องอาหาร ณ อิเกีย สาขาบางใหญ่ ซึ่งหลายๆ คนในสโตร์ ต่างพร้อมใจกันเรียกเขาว่า 'ลุงดม'
"พบกับผมได้ที่โชว์รูมชั้น 3 แผนกห้องอาหารนะครับ" คุณลุงวัยเกษียณทักทายเราด้วยความเป็นกันเอง พร้อมเปิดฉากเล่าย้อนความเรื่องการมาร่วมงานกับอิเกียให้ฟังว่า
"ผมเล่นเฟซบุ๊ก เล่นไลน์อยู่เรื่อยๆ ตามประสาคนว่างงาน แล้ววันหนึ่งก็เห็นอิเกียเปิดรับสมัครพนักงาน ซึ่งชีวิตผมไม่เคยเจอหน่วยงานไหนประกาศยกเว้นเรื่องเพศ อายุ และการศึกษามาก่อน จึงตัดสินใจโทรศัพท์ไปสอบถาม แล้วสุภาพสตรีท่านหนึ่งก็บอกให้ลองมาสมัครดู แต่ดันไปผิดที่ (หัวเราะ) ผมไปโผล่เซ็นทรัลรัตนาธิเบศร์ เลยถามวินมอเตอร์ไซค์แถวๆ นั้น แล้วนั่งวินมอเตอร์ไซค์มาเซ็นทรัลเวสต์เกต"
จากนั้น ลุงดมเผยซีนประทับใจให้ฟังว่า น้องผู้หญิงคนหนึ่งเดินยิ้มแป้นมาถามผมว่า "ลุงมาสมัครงานหรอคะ" ความรู้สึกของเขาตอนนั้นเหมือนคนกำลังจมน้ำ แล้วอยู่ๆ ก็มีเรือแล่นเข้ามาให้เกาะ และนั่นเป็นวินาทีสั้นๆ ที่ชายวัยเกษียณตกหลุมรักอิเกียทันที
"ผมเข้าไปสัมภาษณ์รอบแรกกับผู้สมัครหลายๆ คน เขาถามวิสัยทัศน์เรื่องค่านิยม 8 ประการของอิเกีย แล้วก็มีโอกาสเข้าสัมภาษณ์เดี่ยวรอบสองเกี่ยวกับความพร้อมในการทำงาน" ลุงดมเล่ากระบวนการรับสมัครงานของอิเกียให้ฟัง
และเมื่อวอยซ์ออนไลน์ถามว่า ลุงดมคุ้นเคยกับแบรนด์อิเกียมาก่อนไหม สิ่งที่เขาตอบกลับมาคือ เขาไม่เคยรู้จักอิเกียมาก่อน ไม่เคยไปเยือนอิเกียเลยสักครั้ง แค่เห็นข่าวมาบ้างว่า สินค้าของอิเกียต้องเอากลับบ้านมาประกอบเองที่บ้าน
"หลังเห็นใบประกาศรับสมัครก็เสิร์ชข้อมูลเกี่ยวกับอิเกีย และอ่านประวัติของอิงวาร์ คัมพรัด (Ingvar Kamprad) ซึ่งผมเคารพแนวทางการดำเนินธุรกิจของเขา"
ก่อนเกษียณอายุ ลุงดมดำรงตำแหน่งผู้จัดการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จ.สุราษฎร์ธานี โดยเขาทำงานกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มาตั้งแต่ปี 2512 อัตราเงินเดือนก้อนแรกคือ 900 บาท
อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลา 37 ปีที่ทำงานกับ กฟภ. ลุงดมเผยว่า ช่วงปีแรกๆ ไม่มีวี่แววของคำว่า 'แก่ชรา' และคำว่า 'เกษียณอายุ' แทรกเข้ามาในหัว ทำให้เขาไม่ได้สนใจเรื่องการวางแผนชีวิตเลยสักนิด
"ผมรู้แค่ว่าตัวเองมีเงินเก็บอยู่ก้อนหนึ่ง ทั้งที่เป็นเงินสะสม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่ไม่เคยคิดเลยว่าพอเกษียณแล้วจะเอาเงินไปทำอะไร" ลุงดมเล่า
ทว่า ความฝันหลังวัยเกษียณของลุงดมก็ไม่แตกต่างจากข้าราชการคนอื่นๆ สักเท่าไหร่ คือเขาออกแบบชีวิตตัวเองให้ได้พักผ่อนสุขสบาย สนุกกับการเดินทางท่องเที่ยวตามใจต้องการ และสุขภาพแข็งแรง แต่แล้วบนโลกแห่งความจริงทุกอย่างดูเหมือนจะสวนทาง
"ก่อนเกษียณผมดีใจมาก คิดอยู่ว่าสบายแน่ๆ เดี๋ยวได้ไปเที่ยวทุกที่ ตีกอล์ฟทุกวัน แฮปปี้มากๆ ตื่นเช้ามาทำอาหารเช้าเบาๆ คั้นน้ำผลไม้ให้ลูกเมีย กวาดบ้าน ถูบ้าน ซักผ้า แต่พอผ่านไปสักระยะหนึ่งกลับค้นพอว่า มันไม่ใช่สิ่งที่ต้องการจริงๆ"
หลังเกษียณลุงดมหยุดพักผ่อนได้แค่ 6 เดือน แล้วความรู้สึกว่างเปล่าเข้าปกคลุม จึงตัดสินใจเดินหน้าเข้าสู่การทำงานประจำเต็มตัวอีกครั้ง โดยเริ่มต้นจากรับตำแหน่งผู้จัดการศูนย์ของบริษัทเอกชนขนาดเล็กทางภาคใต้ ก่อนย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ แล้วรับงานทำป้ายโฆษณาไวนิล ต่อด้วยงานดูแลอพาร์ตเมนท์ย่านราชปรารภ และขับแท็กซี่
"หลานชวนออกจากงานดูแลอพาร์ตเมนท์ และให้ไปช่วยดูแลสนามฟุตซอลแถวบางใหญ่ แต่เขากลับมีปัญหาเรื่องเช่าพื้นที่ ผมก็รู้สึกเคว้งมาก เลยเลือกไปขับแท็กซี่ เพราะคิดเองว่ามันง่ายสุด แต่พอทำได้สักพักก็พาลูกค้าหลงทางบ่อยมาก จนลูกค้า 2-3 ราย นั่งร้องไห้ และผมก็ขาดทุนทุกวัน เติมแก๊สไม่เคยพอ"
เท่านั้นไม่พอ หลังเลิกจับพวกมาลัยรถแท็กซี่ ลุงดมเดินทางขึ้นเหนือไปช่วยงานโรงแรมของพี่สาวใน จ.เชียงใหม่ และทำอยู่ประมาณ 2 ปี ก่อนเห็นประกาศรับสมัครงานของอิเกีย ซึ่งลุงดมได้แสดงความเห็นจากประสบการณ์ของตัวเองด้วยว่า สังคมไทยต้องเร่งสร้างความเข้าใจในเรื่องการวางแผนการเงิน และการวางแผนการเกษียณอายุ เพราะหลายคนลุยงานหนักจนลืมนึกถึงเรื่องสำคัญ หรือบางคนอาจไม่มีความเข้าใจแจ่มชัด
"เมื่อเกษียณอายุออกมามันก็แบบเบิร์ดๆ (สบายๆ) นะครับ ผมก็พาครอบครัวไปเที่ยวต่างประเทศเรื่อยเปื่อย แต่พอไปๆ มาๆ เหมือนน้ำเริ่มพร่องจากตุ่ม และถ้ายังคงใช้ชีวิตเหมือนเดิม ความจริงมันก็อยู่ต่อได้ แต่อาจไม่มั่นคงเท่าไหร่ บวกกับผมยิ่งนานไปยิ่งเหงาขึ้นทุกวันๆ"
ในชีวิตการทำงาน ลุงดมเล่าว่าเขาไม่เคยป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาลสักครั้งเลย ส่วนกิจวัตรประจำวันคือ ตื่นเช้า 4.30 เคลื่อนไหวร่างกายตลอดเวลา เดินไปขึ้นรถไฟฟ้า ปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ก่อนกลับบ้านพักผ่อนด้วยการดูหนัง และอ่านหนังสือ
"ผมเล่นกีฬา ไม่ใช้ร่างกายเปลือง ทานอาหารมีประโยชน์ อาหารจำพวกเครื่องในจะเลือกทานเมื่ออยากจริงๆ เท่านั้น และต้องทิ้งระยะห่างให้ร่างกายชำระล้างของเสียด้วย หรือการสูบบุหรี่ผมก็ทิ้งห่าง 1 ชั่วโมงแล้วค่อยสูบมวนต่อไป แต่สุดท้ายแล้วผมเลิกบุหรี่แล้ว เพราะเจอบุหรี่ฝรั่งขึ้นรา สูบแล้วไอ เจ็บคอ จนต้องทิ้งหมดเลย เพราะยังไม่อยากฆ่าตัวตาย" ลุงดมบอกวิธีการดูแลสุขภาพของตัวเอง
"ผมมาทำงานเหมือนมาออกกำลังกาย ไม่ต้องไปตีกอล์ฟให้เสียเงิน ร่างกายไม่เสื่อม กล้ามเนื้อแข็งแรง ความทรงจำดี ยิ่งหลายๆ คนให้ความสำคัญกับการก้าวไปสู่สังคมสูงวัย ฉะนั้น หากไม่สร้างวันนี้แล้วจะรอเมื่อไหร่"
ตามความจริงแล้ว ลุมดมเป็นพนักงงานอิเกียเต็มตัวมาตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2560 ผ่านการอบรมเรื่องค่านิยม ความปลอดภัย และฝึกงานจริงที่อิเกียสาขาบางนา ก่อนย้ายมาประจำอิเกียสาขาบางใหญ่ และเมื่อถามความท้าทายที่ต้องเผชิญ ลุงดมตอบว่า
"ตอนแรกๆ ผมก็งง นึกภาพธุรกิจไม่ออก เพราะทำงานราชการมาตลอด 37 ปี ในหัวเลยมีแต่คำว่า เรื่องเรียน ที่ส่งมาด้วย เพื่อโปรดทราบ ด้วยความเคารพ ฯลฯ ทุกอย่างมันเป็นแท่งไปหมด พอมาเจอคำว่า สโตร์ เซลฟ์เสิร์ฟ มันอะไรกันนะ ไม่รู้เรื่องเลย จนมาเข้าใจจริงๆ ก็ตอนเริ่มงานที่บางใหญ่" ลุงดมยอมรับแบบตรงไปตรงมา แต่แม้ดูงุนงงอยู่พักใหญ่ แต่ชายวัยเกษียณยังคงใจสู้ ไม่เคยท้อ เพราะชอบเรียนรู้อะไรใหม่ๆ
"ผมไม่กลัวใครว่า 'โง่' ผมถามหมดแหละครับ ผมถามทุกเรื่องที่อยากรู้ และน้องๆ เด็กๆ ในอิเกียก็ดีกับผมมาก แต่ละคนคอยสอน คอยแนะนำ หรือบอกซ้ำๆ สารพัด แต่พวกเขาก็ยังไม่เคยทำหน้ายุ่งหน้ายับใส่ผมสักคน"
ลุงดมเผยว่า กว่าจะมาเป็นพนักงานอิเกียไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านอะไรมาเยอะแยะ และสิ่งสำคัญที่ผู้สูงอายุทุกคนต้องเรียนรู้คือ
"ต้องทำใจให้ได้ ไม่ว่าจะเคยเก่ง เคยตำแหน่งใหญ่มาจากไหน พอมาเริ่มต้นใหม่ต้องเก็บทุกสิ่งเข้าลิ้นชักแล้วล็อกให้แน่น ถ้ายังสวมหัวโขนต่อไป คิดว่าตัวเองรู้ ตัวเองเก่ง ตัวเองใหญ่ เงินเดือนเป็นแสน ก็กลับบ้านไปนอนเถอะครับ"
สำหรับลุงดมแล้ว การไม่มีงานทำมันทรมานต่อจิตใจ และความรู้สึก เพราะเหมือนตัวเองไร้ค่า ไม่มีอะไรทำ ซึ่งมันต้องเร่งสร้างค่านิยมใหม่ให้กับสังคมไทยด้วย
"สังคมต้องสอนให้เด็กๆ ทราบว่า ค่าขอความเป็นมนุษย์อยู่ที่การทำงาน ดังนั้น ต่อไปเมื่อเด็กๆ โตขึ้นก็อย่าคิดไปเองว่า เกษียณแล้วจะสบาย เพราะคำว่าสบายมันหมายความว่า คุณเกือบจะตายแล้ว การทำงานจริงๆ แล้วถ้าเราทำด้วยความรักมันไม่ได้ลำบากอะไรเลย คำว่าค่าของคนอยู่ที่การทำงาน ไม่ใช่เพียงแค่คำศัพท์ลอยๆ เท่านั้น" ลุงดมให้คำแนะนำ
แม้ลุงดมจะบอกไม่ได้เป๊ะๆ ว่ามนุษย์เงินเดือนต้องเก็บเงินเท่าไหร่ แต่เขาเน้นย้ำว่า หน่วยงานราชการควรทำออกมาเป็นรูปแบบให้ประชาชนเข้าใจว่า วันหนึ่งเมื่อเกษียณต้องมีเงินเท่าไหร่ เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้ชีวิต เพราะจะนั่งรอดอกเบี้ยเงินฝากเหมือนสมัยก่อนเป็นไปไม่ได้แล้ว และเมื่อเราลองให้ลุงดมประเมินจุดแข็งของพนักงานสูงอายุเขาบอกว่า
"งานที่ผมสามารถทำได้ดีคือ สิ่งที่ต้องอาศัยความละเอียด รอบคอบ ใจเย็น อย่างเวลาเช็กสต็อกสินค้าผมพยายามทำให้ดีสุด ไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด เพราะสต็อกสินค้าถือเป็นต้นทุนของธุรกิจ"
ตามความคิดเห็นของลุงดม สังคมไทยควรให้ความสำคัญกับเรื่องการทำงานของผู้สูงอายุมากขึ้น เนื่องจากคนแก่แบบไทยๆ ชอบให้ลูกหลานเลี้ยง ซึ่งเขาบอกว่ามันเป็นวิธีคิดที่ผิด
"เราต้องอยู่ให้ได้ด้วยตัวเอง คอยชื่มชมลูกหลาน และไม่ต้องให้เขามารับภาระเลี้ยงดู เพราะลูกผมเขาก็ต้องสร้างครอบครัว ต้องเลี้ยงดูลูก ต้องดิ้นรนทำมาหากินเหมือนกัน ดังนั้น เราก็ต้องพยายามช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด และมันจะดีต่อสังคมมากขึ้นด้วย"
ลุงดมเสริมอีกด้วยว่า สังคมไทยควรสนับสนุนให้ผู้สูงอายุทำงานต่อไปได้ยาวนานยิ่งขึ้น
"คนเกษียณ 60 ได้บำนาญฟรีๆ และถ้าไปทำงานอื่นๆ ก็ได้รับเงินเพิ่มเป็น 2 ต่อ รัฐบาลทำไมไม่ขยายอายุราชการล่ะ เรื่อยๆ ทีละ 2 ปีก็ได้ มันมีวิธีคิดอยู่เยอะแยะ หรือถ้าต่อไปคนแข็งแรงมากขึ้น อาจจะไม่ต้องกำหนดการเกษียณอายุเลยก็ได้ ถ้ายังมีแรงทำได้ก็ทำไป แต่เป็นการประเมินแบบปีต่อปีหลังอายุ 70 ถ้าทำไม่ได้แล้วก็เลิก" ชายสูงวัยหัวใจไม่เกษียณกล่าวทิ้งท้าย