ไม่พบผลการค้นหา
ครม.เห็นชอบส่งร่าง พ.ร.บ. กระทรวงอุดมศึกษา ให้กฤษฎีกาพิจารณา รมช. ศึกษาธิการแจง การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม อาศัยกฎหมาย 3 ฉบับ คาดส่งเข้า สนช. ภายในเดือน ก.ย. นี้ เพื่อให้พร้อมใช้ก่อน ก.พ. 2562 ย้ำกระทรวงใหม่ใช้งบประมาณเใกล้เคียง สกอ. ที่ 97,000 ล้าน

นายแพทยท์อุดม คชินทร เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 ส.ค. 2561 มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กระทรวงการอุดมศึกษา พ.ศ. … ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจสอบร่วมไปกับ ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม ซึ่ง ครม.มีมติอนุมัติไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา

โดยการตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นกระทรวงใหม่ในครั้งนี้ นอกจากอาศัยร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แล้ว ยังมี ร่าง พ.ร.บ.อีก 2 ฉบับ คือ 1. ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. … ซึ่งจะกำกับดูแลและวางแผนด้านการอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัยทั้งหมด และ 2.ร่าง พ.ร.บ.การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. … ซึ่งฉบับที่ 2 ขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จ และจะส่งตามไปทีหลัง

สำหรับสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. … จะกำหนดแนวทางการจัดการอุดมศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรมที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคู่กับการพัฒนาคนที่มีคุณภาพ เพิ่มความสามารถการแข่งขันของประเทศ เตรียมความพร้อมเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญที่จะยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และต่อยอดเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ ลดการนำเข้า สามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมถึงยกระดับสังคมให้เป็นสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน หรือ Inclusive Society ที่ไม่มีความเหลื่อมล้ำ 

ดังนั้น จึงต้องมีการเชื่อมโยงกระทรวงอุดมศึกษาฯ กับเป้าหมายของประเทศ โดยจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างของการอุดมศึกษาให้มีความเป็นเอกภาพ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยจำนวนมากและมีการบริหารจัดการหลายรูปแบบ อีกทั้งต้องการยกระดับให้สถาบันอุดมศึกษามีมาตรฐานที่สามารถแข่งขันได้และสามารถยกระดับรายได้ของประเทศให้เพิ่มขึ้น หลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง 

ทั้งนี้ จะให้สถาบันอุดมศึกษามีเสรีภาพทางวิชาการ มีอิสระในการบริหารจัดการที่ต้องมาพร้อมความรับผิดชอบ มีธรรมาภิบาล มีการบริการทางวิชาการแก่สังคม และส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมซึ่งเป็นจุดเน้นที่สำคัญที่สุดที่พระราชบัญญัติเกี่ยวกับการอุดมศึกษาในอดีตไม่เคยระบุถึง

ส่วนร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ขณะนี้อยู่ในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งปกติจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 3-4 เดือน แต่เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายต้องการเร่งรัดให้เกิดกระทรวงนี้ก่อนการเลือกตั้งในปี 2562

โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบงานของคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษเพื่อดูแลทั้ง 3 ฉบับ สำหรับการจัดตั้งกระทรวงใหม่โดยเฉพาะ โดยให้กรอบเวลาว่าต้องแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน ส.ค. นี้ แล้วนำกลับมาให้ครม.ให้ความเห็นชอบ ก่อนส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ในเดือน ก.ย. เท่ากับ สนช. เหลือเวลา 3 เดือน (ก.ย.-พ.ย. 2561) 

อย่างไรก็ตาม ตามปกติ สนช.จะไม่พิจารณา พ.ร.บ.ฉบับสำคัญในช่วงใกล้เลือกตั้ง และหาก สนช.ทำงานแล้วเสร็จเชื่อว่าจะมีเวลาเพียงพอสำหรับการโยกย้ายบุคลากร รวมถึงปรับโครงสร้างและกระบวนการภายในกระทรวงใหม่ ทำให้พร้อมทำงานภายในเดือน ก.พ. 2562 

สำหรับงบประมาณของกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรมในปี 2562 จะไม่แตกต่างจากงบประมาณที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เคยได้รับมากนัก คือได้รับงบประมาณ 97,000 ล้านบาท

ครม.เห็นชอบแก้ไข พ.ร.บ. ป่าใหม่แห่งชาติ เปิดทางตัด โค่น เล่ือย ผ่า ขุด ชัก 'ไม้หวงห้าม' ได้

ด้านนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบในการแก้ไข พ.ร.บ.ป่าใหม่แห่งชาติ มาตรา 7 แก้ไขให้ไม้หวงห้ามสามารถตัด โค่น เลื่อย ผ่า ขุด ชัก ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ แต่ต้องเป็นไม้ในพื้นที่กรรมสิทธิ์ที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน

ทั้งนี้ กรณีการตัดไม่จำนวนมากสามารถดำเนินการให้กรมป่าไม้ตรวจสอบไม้ที่ตัดได้เพื่อป้องกันปัญหา ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกป่าไม้เศรษฐกิจ 

นอกจากนี้ ครม.ยังยังเห็นชอบให้ผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่ต้องชำระค่าบริการโครงการ 30 รักษาทุกโรค ซึ่งมีผู้ถือบัตรขณะนี้จำนวนกว่า 5 แสนคน