ที่ห้องแถลงข่าวรัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศ พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .. และร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิมเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่....) พ.ศ.... หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม
โดยมีการแถลงข่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. 2565 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต และ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ซึ่งตอนนี้ได้เข้าสู้การพิจารณาของคณะ กมธ.วิสามัญ และมีการปรับเปลี่ยนแก้ไข ลงมติให้ความเห็นชอบรายมาตราเพื่อให้ได้ข้อยุติเป็นที่เรียบร้อย ก่อนหมดวาระของสภาฯ ชุดนี้
ชานันท์ กล่าวว่า เพื่อให้พิจารณากันต่อในวาระที่ 3 ในสภาผู้แทนราษฎรว่า จะให้ความเห็นชอบกับร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับหรือไม่ ในกรอบระยะเวลาการทำงาน คณะกมธ.ชุดดังกล่าวได้ประชุมกันทุกวันพุธ และวันพฤหัสบดี แต่เนื่องจาก 1 เดือนที่ผ่านมา ข้อมูลที่ถูกนำเสนอไปดูเหมือนว่า ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตจะถูกพูดถึงมากกว่า พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ตลอด
เนื่องจากที่ผ่านมาอาจมีการส่งสารที่ไม่ครบถ้วน เพราะการนำเสนอข้อมูลของโฆษกกมธ.บางท่าน เป็นความเคลื่อนไหวหลังประชุมทันที และบางเรื่องอาจจะเป็นข้อสังเกตซักถาม ข้อกังวลให้พิจารณาของกรรมธิการบางท่านเท่านั้น แต่ ไม่ใช่มติที่ประชุม จนนำไปสู่ความกังวลใจของประชาชนจำนวนมากเมื่อทราบข่าว และนำไปสู่ความสับสนว่า ทั้ง 2 ร่าง คือสิ่งเดียวกัน
ชานันท์ เสริมว่า อันที่จริงแล้ว ส.ส.ที่เป็นตัวแทนของประชาชน เมื่อผ่านวาระแรกไปแล้ว ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้จึงมีคุณค่าศักดิ์ศรีเสมอกันอย่างเท่าเทียมในชั้นของ กมธ. และเราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เป็นการแก้ไขพัฒนากฎหมายเดิม คือประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ เพื่อให้บุคคลไม่ว่าเพศวิถีเพศสภาพใดก็ตาม สามารถจดทะเบียนสมรสคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย (Lawful Spouses) เพื่อสลายการผูกขาด ยุติการเลือกปฏิบัติ ที่เกิดขึ้นในกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิอย่างเสมอภาค
สำหรับ ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต นั้นเป็นการออกกฎหมายขึ้นมาใหม่ ที่แบ่งแยกจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมีการปฏิบัติที่ต่างกัน เป็นร่างที่พัฒนามาจากสมัย พ.ศ. 2556 ในบริบทสากลขณะนั้น ประเทศต่างๆ ได้ออก Civil Partnership Bill สำหรับการจดทะเบียนคู่รักเพศเดียวกัน มีการใช้คำใหม่ อย่าง “คู่ชีวิต” ขึ้นมาในร่างกฎหมาย ซึ่งจะต้องไปเพิ่มคำว่า คู่ชีวิต เข้าไปกับกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งยังขาดการเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการบางประการ และทางกมธ ก็พยายามปรับปรุงพัฒนาร่างนี้ให้เข้ากับบริบทปัจจุบันสากลที่มีสมรสเท่าเทียม
ในการพิจารณากฎหมาย และร่างกฎหมายต่าง ๆ ปัญหาสำคัญอยู่ที่ ธรรมชาติของกฎหมายไทยตั้งอยู่บนพื้นฐานคิด เพศสรีระหรือเพศกำเนิด และมีลักษณะเป็นคู่ตรงข้าม ชายกับหญิง เท่านั้น เช่นเดียวกับกฎหมายอื่นๆในไทย กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ก็เช่นกัน
ดังนั้นในการพิจารณาแก้ไข ของกมธ. จึงต้องเลือกใช้คำที่จะใช้ในกฎหมายที่รัดกุมรอบคอบ สามารถคุ้มครองเพศสภาพ และเพศวิถีของประชาชนที่หลากหลายได้เพื่อให้ทั้ง 2 ร่าง พยายามอย่างยิ่งที่จะให้คุ้มครองสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน มีการแก้ไขให้ คู่ชีวิต สามารถจดทะเบียนได้ทั้ง คู่รักต่างเพศและเพศเดียวกัน สมรสเท่าเทียม
ชานันท์ กล่าวต่อว่า ทางคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ทุกท่านจะปฏิบัติหน้าที่ภารกิจนี้อย่างดีที่สุด เพื่อให้ทั้งร่างกฎหมาย คู่ชีวิตและสมรสเท่าเทียม ได้ออกมาสำเร็จ โดยคำนึงถึง ความเสมอภาค สิทธิ และประโยชน์สูงสุดของประชาชน และสร้างความสง่างามของประเทศเราให้มีความทัดเทียมกับโลกสากล และหวังใจอย่างยิ่งว่า ในวาระต่อไปของสภาฯ จะรับทั้งสองร่างเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน ทั้งสมรสเท่าเทียมและคู่ชีวิต ซึ่งจะถือว่า เป็นการสร้างวิวัฒนาการของกฎหมายไทย ให้ทันตามวิวัฒนาการเพดานความคิด และชีวิตของประชาชน
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงกรณีกระแสข่าวที่มีการเตะถ่วงเวลาการพิจารณากฎหมายทั้งสองฉบับนี้ ชานันท์ กล่าวว่า ตนก็ได้ยินข่าวลือมาเช่นเดียวกัน ประกอบกับในเรื่องของระยะเวลาของรัฐบาลชุดนี้ที่มีข่าวลือเช่นกันว่าจะยุบสภาฯ ทางกมธ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ และให้ความสำคัญในการตั้งใจผลักดันร่างพ.ร.บ.ทั้งสองฉบับให้สำเร็จแน่นอน