ไม่พบผลการค้นหา
พ.ร.บ.คู่ชีวิต (ร่างที่ 3) กำลังจะถูกส่งไปให้ สนช.พิจารณา เพื่อรับรองออกมาบังคับใช้ พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่เป็นความหวังของคู่รักเพศเดียวกันหลายคู่ให้สิทธิอะไรบ้าง และยังขาดสิทธิอะไรบ้าง

ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต (Civil Partnership Bill) ร่างที่ 3 ถูกเผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ของกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา และมีการเปิดทำประชาพิจารณ์ออนไลน์ 15 วัน (เพิ่งสิ้นสุดเมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่ผ่านมา) จากเดิมที่มีกระแสข่าวว่าจะเปิดทำประชาพิจารณ์ตั้งแต่เดือน ก.ย.

ผลการโหวตออนไลน์มาจากประชาชนทั้งหมด 3,055 คน เป็นชายร้อยละ 18.9 เป็นหญิงร้อยละ 20.9 และเป็นคนหลากหลายทางเพศร้อยละ 60.3 และจากผู้ร่วมลงมติทั้งหมด มีคนเห็นด้วยกับพ.ร.บ.คู่ชีวิตร่างที่ 3 ทั้งสิ้นร้อยละ 97.9 และยังมีการคาดการณ์ว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้น่าจะผ่าน สนช. ออกมาบังคับใช้ได้

อย่างไรก็ตาม กรมคุ้มครองสิทธิก็ยังเปิดให้แสดงความเห็นในการประชุมประชาพิจารณ์ได้ต่อถึงสิ้นเดือน ส่วนมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (for-sogi) ก็เปิดให้คนร่วมลงชื่อชะลอการผ่านร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ และจะรวบรวมรายชื่อเพื่อไปยื่นให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในวันที่ 29 พ.ย.นี้


พ.ร.บ. คู่ชีวิต (ร่าง 3) ให้ หรือ ไม่ให้สิทธิอะไรบ้าง ?

info พรบ คู่ชีวิต ร่าง 3


ตารางข้างต้นได้นำสิทธิขั้นพื้นฐานที่คู่ชายหญิงได้รับจากการจดทะเบียนสมรส มาตั้งต้น และสำรวจว่า คู่รักเพศเดียวกันที่จดทะเบียนคู่ชีวิตจะได้รับสิทธิ และไม่ได้รับสิทธิอะไรบ้างจากพ.ร.บ.คู่ชีวิต ร่างที่ 3 นี้

พบว่า คู่ชีวิตจะได้รับ สิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน หลังจดทะเบียน, สิทธิในการให้ / รับมรดกของคู่ชีวิต, สิทธิในการทำนิติกรรมร่วมกัน, สิทธิในการจัดการหนี้สินร่วมกัน, มีหน้าที่ดูแลอุปการะเลี้ยงดูกันและกัน, หน้าที่ในการเป็นผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ หากคู่ชีวิตอีกฝ่ายเป็น คนไร้ความสามารถ เสมือนไร้ความสามารถ หรือวิกลจริต

อย่างไรก็ตาม คู่ชีวิตจะยังขาดสิทธิอีกหลายประการที่กลุ่มหลากหลายทางเพศเรียกร้องกันมาตลอดหลายปี เนื่องจากกฎหมายหลายมาตราให้สิทธิกับคู่สมรส แต่ไม่ได้ให้สิทธิกับคู่ชีีวิต เช่นเดียวกับระเบียบของรัฐและเอกชนที่ยังให้สิทธิกับคู่สมรส จึงทำให้นักเคลื่อนไหวบางส่วนกังวลว่าจะทำให้หลายหน่วยงานตีความไม่ให้สิทธิกับคู่ชีวิต

สิทธิในการได้รับสวัสดิการอื่นทั้งภาครัฐและเอกชนที่มอบให้กับคู่สมรส

  • เนื่องจากกฎหมายหลายมาตราให้สิทธิกับคู่สมรส แต่ไม่ได้ให้สิทธิกับคู่ชีีวิต เช่นเดียวกับระเบียบของรัฐและเอกชนที่ยังให้สิทธิกับคู่สมรส จึงทำให้นักเคลื่อนไหวบางส่วนกังวลว่าจะทำให้หลายหน่วยงานตีความไม่ให้สิทธิกับคู่ชีวิต

สิทธิการตัดสินใจรักษาพยาบาล หรือ เซ็นอนุญาต เมื่อคู่ชีวิตต้องรับการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน

  • พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้ระบุเกี่ยวกับสิทธิในการตัดสินใจการรักษาพยาบาลแทนคู่ชีวิตไว้อย่างเฉพาะเจาะจง เช่นเดียวกับที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) ไม่ได้ระบุถึงสิทธินี้สำหรับคู่สมรสหญิงชาย ขณะเดียวกันพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติกำหนดให้ “ผู้แทนโดยชอบธรรม” เป็นผู้เซ็นยินยอมในกรณีที่ฉุกเฉินหรือผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว เรื่องนี้จึงขึ้นอยู่กับระเบียบของแต่ละโรงพยาบาล ในการตีความ “ผู้แทนโดยชอบธรรม” ซึ่งมักจำกัดไว้สำหรับญาติและคู่สมรส จึงอาจทำให้มีการตีความว่า คู่ชีวิต ไม่เข้าข่ายผู้แทนโดยชอบธรรม เพราะเกรงว่าญาติอาจฟ้องร้องโรงพยาบาลได้


สิทธิจัดการศพคู่ชีวิต

  • ไม่มีระบุไว้ในพ.ร.บ.คู่ชีวิต ดังนั้น หากผู้ตายไม่ได้ตั้งให้คู่ชีวิตเป็นผู้จัดการศพ หน้าที่นั้นจะตกเป็นของญาติตามที่ระบุไว้ในปพพ.


สิทธิในการรับสวัสดิการรักษาพยาบาลของคู่ชีวิตอีกฝ่ายที่รับราชการ

  • สิทธินี้จำกัดไว้สำหรับคู่สมรสเท่านั้น


สิทธิในการลดหย่อนภาษีเงินได้ เหมือนคู่สมรส

  • สิทธินี้จำกัดไว้สำหรับคู่สมรสเท่านั้น


สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกันของคู่ชีวิตทั้งสองคน

  • ในขณะที่คู่สมรสสามารถจดรับบุตรบุญธรรมได้ตั้งแต่ต้น ลูกที่รับมาจะเป็นลูกของทั้งคู่ แต่คู่รักเพศเดียวกันไม่สามารถรับบุตรร่วมกันได้ จะต้องให้คนใดคนหนึ่งจดรับบุตรบุญธรรม ลูกจะเป็นของคนนั้นเพียงคนเดียว หากคนที่จดรับบุตรบุญธรรมเสียชีวิต คู่ชีวิตจะไม่มีสิทธิทางกฎหมายในตัวลูกเลย


สิทธิในการอุ้มบุญ

  • พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ จำกัดสิทธิไว้เฉพาะคู่สามีภริยาที่จกทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น คู่ชีวิตจึงไม่สามารถมีบุตรจากการอุ้มบุญได้


สิทธิในกองทุนประกันสังคม และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการของคู่ชีวิต

  • สิทธินี้จำกัดไว้สำหรับคู่สมรสเท่านั้น


สิทธิของคู่ชีวิตต่างชาติ ในการขอเปลี่ยนเป็นสัญชาติไทย ตามกฎหมายสัญชาติ หลังจดทะเบียน

  • สิทธินี้จำกัดไว้สำหรับคู่สมรสเท่านั้น


สิทธิในศักดิ์ศรีการเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย

  • หากดูจากตารางด้านบนก็จะพบว่า คู่ชิวิตไม่มีมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับคู่สมรส เพราะคู่รักเพศเดียวไม่ได้ใช้กฎหมายฉบับเดียวกันกับคู่สมรสชายหญิงอย่างปพพ. ก็ทำให้คู่รักเพศเดียวกันไม่ได้รับสิทธิเหมือนกับคู่สมรส และหากคู่สมรสได้รับสิทธิอื่นๆ อีกในภายภาคหน้า คู่ชีวิตก็จะไม่ได้สิทธิ์นั้นตามไปด้วย ทำให้จะต้องมีการเรียกร้องแก้ไขพ.ร.บ.คู่ชีวิตต่อไปเรื่อยๆ 


อ้างอิง : ชวินโรจน์ ธีรพัชรพร (2561), พ.ร.บ. คู่ชีวิต ร่างที่ 3 ความเสมอภาคที่ไม่มีอยู่จริงของ LGBTI ไทย จาก The Standard, กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ, Thai Law, มนธ.เพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (for-sogi)