นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ประสานและบริหารจัดการบึงราชนก ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ จังหวัดพิษณุโลก โดยได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลดำเนินการศึกษาจัดทำแผนแม่บทและฟื้นฟูบึงราชนก
ทั้งนี้ คณะผู้เชี่ยวชาญนักวิชาการด้านต่าง ๆ ได้มีการสำรวจและเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ผลในด้านต่าง ๆ เช่น สภาพภูมิประเทศ ปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำท่า ปริมาณตะกอน ทรัพยากรดิน ระบบนิเวศทางน้ำและบนบก การใช้ประโยชน์พื้นที่ สภาพเศรษฐกิจและสังคม การท่องเที่ยว เพื่อให้ทราบถึงรายละเอียดที่จำเป็นต่อการปรับปรุงและฟื้นฟู รวมถึงสภาพปัญหาและอุปสรรคอื่นๆ เพื่อนำมาผนวกกับการวิเคราะห์ระบบบริหารจัดการน้ำ สภาพปัญหาของบึงราชนกในด้านทรัพยากรน้ำ มลพิษ ระบบนิเวศ การใช้ประโยชน์ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นความโดดเด่นหรือเป็นเอกลักษณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความสําคัญต่อระบบนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม ระบบสังคม กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ค่าใช้จ่ายและการลงทุน และข้อจํากัดของกฎหมาย เป็นต้น เพื่อให้ได้แผนแม่บทที่สามารถฟื้นฟูพัฒนาบึงราชนกได้อย่างยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถคืนสภาพเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่สมบูรณ์ของประเทศอีกแห่งหนึ่ง
เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า การจัดการน้ำที่มีความเหมาะสมมากที่สุดในการพัฒนาและพื้นฟูบึงราชนกคือ การขุดลอกพื้นที่บึงราชนก เฉพาะในส่วนที่เป็นพื้นที่แอ่งน้ำ ซึ่งจะสามารถเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่บึงราชนกในสถานภาพปัจจุบัน (4,865-2-085 ไร่) คิดเป็นพื้นที่เก็บกักน้ำเพิ่มขึ้น 16.85 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) นอกจากนั้นแล้วจะต้องดำเนินการขุดลอกคลองสมอแขด้านเหนือและท้ายน้ำ เป็นระยะทางอย่างน้อยด้านละ 3 กิโลเมตร นับจากจุดรอยต่อกับบึงราชนก และปรับปรุงฝายนํ้าล้นด้านข้างของประตูน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแควน้อยบํารุงแดน ขุดลอกคลองวงพาดด้านเหนือน้ำยาง 3 กิโลเมตร พร้อมก่อสร้างประตูน้ำ ปรับปรุงและเชื่อมต่อคลองระบาย 1 ซ้ายถึงคลองระบายสายซอยฝั่งซ้ายสายที่ 7 และคลองระบายสายซอยฝั่งซ้ายสายที่ 8 เข้าด้วยกัน รวมทั้งขุดคลองใหม่เพื่อเชื่อมต่อกับแม่น้ำวังทอง ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร
สำหรับการปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในพื้นที่บึงราชนก ไม่มีการออกแบบก่อสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้างใดๆ เพิ่มเติม แต่ควรจะปรับปรุงอาคารเดิมที่มีอยู่ให้เหมาะสม และสอดคล้องกับการปรับปรุงภูมิทัศน์ที่มีการออกแบบใหม่เพื่อให้สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพต่อไป อาทิ การก่อสร้างสะพานไม้ที่จะใช้เป็นทางเดิน ควรจะมีความกว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร โดยส่วนแนวสะพานไม้ที่มีการเชื่อมต่อกับกลุ่มต้นไม้และพรรณไม้เดิมที่เติบโตจากการปลูกในโครงการต่างๆ โดยจะต้องมีการตัดต้นไม้ออกเพื่อให้คงรักษาความร่มรื่น
อย่างไรก็ตาม หากจะมีการเคลื่อนย้ายต้นไม้บางจุดออก จะต้องใช้รูปแบบการขุดล้อมเพื่อย้ายไปปลูกยังพื้นที่ใหม่ทดแทน รวมทั้งจะต้องมีการปรับปรุงและยกระดับถนนโดยรอบจากเดิม +42.000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.ร.ท.ก.) เป็น + 43.500 ม.ร.ท.ก. ให้มีพื้นผิว ถนนตามมาตรฐานของกรมทางหลวงหรือกรมทาง หลวงชนบท โดยความกว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร พร้อมเส้นทางจักรยาน กว้าง 2 เมตร ในส่วนของถนนเพื่อการสัญจรภาย ในโครงการเดิม จะต้องดําเนินการปรับปรุง ยกระดับให้มีผิวถนนตามมาตรฐานของกรมทางหลวง หรือกรมทางหลวงชนบท เป็นต้น
ทั้งนี้ บึงราชนก มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 4,865 ไร่ 2 งาน 85 ตารางวา ตั้งอยู่ในเขต ต.สมอแข อ.เมือง และ ต.วังพิกุล ต.วังทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก จัดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความหลากหลายและมีความสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาถูกบุกรุกเพื่อทำการเกษตร ปศุสัตว์ รวมถึงการสร้างที่อยู่อาศัยจากประชาชนในพื้นที่ ขณะที่ส่วนราชการที่มาขอใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ก็มีการปล่อยปละละเลยขาดการดูแลพื้นที่อย่างเป็นเอกภาพ มีการใช้งบประมาณจำนวนมากในพื้นที่ แต่ไม่มีการบูรณาการให้เกิดประโยชน์หลักคือ การใช้เป็นพื้นที่เก็บกักน้ำ
ดังนั้น สทนช. ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทและฟื้นฟูบึงราชนกดังกล่าว
“หน่วยงานที่จะทําหน้าที่กํากับดูแลบึงราชนก ภายหลังการพัฒนาฟื้นฟูแล้วเสร็จนั้น จากข้อเสนอในเวทีรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาสังคมนั้น ได้เสนอให้ดําเนินการในรูปแบบของคณะกรรมการโดยมีหน่วยงานราชการทั้งระดับส่วนกลาง ระดับจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนภาคธุรกิจเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของบึงราชนก เป็นหน่วยงานบริหารจัดการ โดยมี สทนช.เป็นหน่วยงานกํากับและให้การสนับสนุนด้านวิชาการ” นายสมเกียรติ กล่าว
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมภาพรวมในปีนี้ นายสมเกียรติ กล่าวว่า ไม่น่าเป็นห่วงเท่าปีที่แล้ว เพราะฝนที่ตกตั้งแต่ช่วงที่ผ่านมาอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน แต่น้ำตกท้ายเขื่อน จึงจะทำแผนขอทำฝนหลวงเพื่อให้มีน้ำใช้ในปีหน้า ขณะเดียวกันจะเห็นว่าฝนเริ่มตกในพื้นที่ภาคกลางแล้ว ซึ่งปริมาณน้ำจะเยอะ แล้วไหลไป ทำให้เป็นห่วงพื้นที่ภาคตะวันตก เช่น กาญจนบุรี เพชรบุรีมากกว่า
ด้านนายทองปาน ทองเมือง กำนันตำบลสมอแข กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวเดิมมีปัญหาการบุกรุกใช้พื้นที่ไม่เหมาะสม หากทำได้ตามแผนที่วางไว้ชาวบ้านจะได้ประโยชน์อย่างมากทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเกษตร อีกทั้งยังเป็ดปอดแห่งใหม่ให้กับชุมชนอีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: